ชุมชนแม่ต๋ำใช้จักรยานหรือที่ภาษาเหนือเรียกว่า “รถถีบ” มาเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาชุมชนได้อย่างไร
“แม่น้ำแม่ต๋ำ” เป็นลำน้ำเล็กๆ ที่ไหลลงกว๊านพะเยา บริเวณแม่น้ำสายนี้เป็นที่ตั้งของชุมชนแม่ต๋ำ ซึ่งหากมองจากภายนอกจะรู้สึกว่าชุมชนแห่งนี้มีเสน่ห์ เพราะมีธรรมชาติสวยงามและเงียบสงบ แต่หากเป็นคนในชุมชนจะรู้ว่าในความสงบเงียบนั้นซ่อนความเงียบเหงาเอาไว้
แหว่งกลาง เงียบเหงา ปัญหาของแม่ต๋ำ
จากการศึกษาวิจัยของ “โครงการพะเยาสุขหลากวัย (ปั่น) ไปด้วยกัน” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย กองทุนประชากรแห่งสหประชาติ (UNFPA) และเทศบาลเมืองพะเยา พบว่าชุมชนในตำบลแม่ต๋ำ เทศบาลเมืองพะเยา มีปรากฏการณ์ครอบครัวแหว่งกลาง ชุมชนเงียบเหงา และสังคมสูงอายุ ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์การแยกส่วนกันของคนระหว่างวัย และส่งผลไปยังปรากฏการณ์การถดถอยของการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นจากคนรุ่นเก่าสู่คนรุ่นใหม่ เมื่อไม่เกิดการถ่ายทอดของดีในพื้นที่ จึงเป็นการยากในการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น ทำให้เกิดการอพยพออกนอกพื้นที่ของคนวัยทำงาน และเร่งให้เกิดปรากฏการณ์ที่กล่าวข้างต้นเช่นนี้ไม่สิ้นสุด
ใช่ว่าโครงการฯ นี้จะพบแต่ปัญหา ทว่ายังมองเห็นโอกาสในการพัฒนาชุมชนด้วยการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ด้วย โครงการฯ จึงร่วมมือกับคนในชุมชนต่อยอดทุนวัฒนธรรมและทุนความเป็นชุมชนจักรยานของแม่ต๋ำ นำไปสู่การจัดทำร่างเส้นทางจักรยานท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และกิจกรรมทดลองปั่นภายใต้ชื่อ “สุขหลากวัย ปั่นไปแอ่วแม่ต๋ำ ผ่อกว๊านพะเยา” ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากทั้งคนในชุมชนและบุคคลภายนอก
ดร.สหัทยา วิเศษ หรืออาจารย์กุ้ง นักวิจัยของโครงการฯ เล่าถึงเหตุผลที่ใช้จักรยานเป็นตัวพัฒนาชุมชนว่า “เหตุที่ใช้จักรยานเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน ส่วนหนึ่งเพราะมูลนิธิสถาบันการเดินและจักรยานไทยเป็นคนดำเนินการ อีกส่วนหนึ่งคือคนในชุมชนเองเขาใช้จักรยานในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว คนเฒ่าคนแก่ใช้จักรยานถีบไปมาหาสู่กัน ถีบไปวัด ส่วนของเด็กๆ ก็ใช้จักรยานถีบไปโรงเรียน”
คุณธนาการ เสมอใจ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชนของเทศบาลเมืองพะเยา ช่วยเล่าถึงการตั้งต้นว่า “เลยคิดกันว่างั้นเราก็มาออกแบบกิจกรรมโดยใช้จักรยานเป็นตัวนำ เราไม่ให้คนอื่นออกแบบนะ เราออกแบบกันเอง เรามีสิ่งที่ดีของเราอยู่แล้วเราจะทำให้คนอื่นเห็นได้ยังไง เริ่มคิกออฟกันด้วยการชวนแกนนำของกลุ่มต่างๆ มา ทั้งผู้สูงอายุ เด็ก วัยทำงาน แล้วก็มีทีมของสถาบันฯ เทศบาล ม.พะเยา มาร่วมกันปั่นเพื่อสำรวจเส้นทาง
เส้นทางที่เราไปเป็นเส้นทางรองที่เข้าหมู่บ้าน ปั่นไปก็พบว่า เอ๊ะ ตรงนี้เราไม่เคยมาเลยนะ บ้านของยายคนนี้ เออ ยายคนนี้เขาทำกับข้าวอร่อย เราแวะไปนั่งคุยกับยายสักแป๊บ เพื่อที่จะเรียนรู้ภูมิปัญญาของยาย หรือไปเจอบ้านเก่า เราไม่เคยเห็น ก็ไปนั่งคุยกับอุ๊ยเจ้าของบ้าน แกก็เล่าว่ามาอยู่นี่ตั้งแต่ปีไหน อุ๊ยทำอะไรได้บ้าง เราก็ทำแบบนี้เพื่อเป็นข้อมูลของเส้นทาง เราก็เอาข้อมูลของเขามาเขียนเป็นสตอรี่ ทำเป็นป้าย เรื่องเล่าให้เขา เป็นการต่อยอดให้เขา”
ความเปลี่ยนแปลงในชุมชน
จากกระบวนการทำงานอันเข้มข้น ลงพื้นที่หลายครั้ง ในที่สุดก็ได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นแผนที่การปั่นในชุมชนแม่ต๋ำ 4 เส้นทาง แต่นั่นเป็นเพียงการเริ่มต้นของการพัฒนาชุมชนด้วยจักรยานเท่านั้น เพราะในทีมที่ทำงานด้วยกันยังมองเห็นการผลประโยชน์ของการขับเคลื่อนชุมชนในครั้งนี้อีกมาก คุณธนาการ พัฒนาชุมชนเล่าให้ฟังด้วยความกระตือรือร้นว่า
“ผมมองว่าเกิดการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่มากขึ้น ระหว่างวัยก็มากขึ้น เดิมทีเราทำกิจกรรมก็เจาะไปเฉพาะกลุ่ม แต่ครั้งนี้หรือต่อไปเราจะมีมากกว่าหนึ่งกลุ่มเป้าหมาย มีกลุ่มผู้สูงอายุก็ต้องมีเด็ก มีวัยทำงานด้วย
ผลดีอีกอย่างผมว่ามีแกนนำเกิดขึ้น แต่ก่อนนี่มีอะไรก็เทศบาลหรือหน่วยงานของรัฐเข้าไปทำ แต่ตอนนี้เราแค่คุยให้เขาฟังว่าจะมีโครงการแบบนี้ ให้ลองคิดกิจกรรมกันดู เขาก็คิดได้ อย่างล่าสุดจะทำกิจกรรมสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ลูกหลานลืมไปแล้ว พวกสะเดาะเคราะห์ บายศรีสู่ขวัญ เด็กก็จะได้เรียนรู้พิธีพวกนี้จากคนเฒ่าคนแก่
ล่าสุดเราจะทำกิจกรรมย่านถนนวัฒนธรรม ขายสินค้าวัฒนธรรมอย่างเดียวเลย สินค้าตลาดนัดไม่เอานะ แล้วก็ไปดึงคนที่มีภูมิปัญญาที่เราค้นพบให้เอาสินค้ามาขาย มันก็จะเริ่มขยับจากทำกินในบ้าน ไม่กล้าออกมาขาย ให้ออกมาขาย ตอนนี้เรามองข้ามไปอีกจุดนึงว่าต่อไปยายไม่ต้องมานั่งขายในตลาดที่เราจัดแล้ว เราจะให้ยายขายที่หน้าบ้านของยาย แล้วให้นักท่องเที่ยวเดินไปซื้อที่หน้าบ้านยายเลย อนาคตเราจะทำแบบนั้น”
ต่อยอดสู่ความสำเร็จ
อาจารย์กุ้งมองว่าโครงการฯ นี้เป็นตัวอย่างที่ดีของการใช้ทุนด้านต่างๆ ที่ชุมชนมีมาต่อยอด และอาจารย์กุ้งยังบอกว่าศักยภาพของชุมชนยังไปได้อีกไกล
“ถ้ามองผลดีในช่วงเวลาที่มีกิจกรรมก็เกิดเรื่องความตระหนัก เรื่องจิตสำนึก เรื่องสุขภาพด้วย รวมทั้งเป็นกิจกรรมที่คนทุกวัยเข้าไปมีส่วนร่วม ทำให้เห็นว่าชุมชนแม่ต๋ำเองก็มีกิจกรรมแบบนี้เป็นครั้งแรก ปั่นไปดูนั่นนี่ ปั่นไปซื้อนั่นนี่
ความสำเร็จครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากโครงการอย่างเดียว มันมาจากทุนเดิมของชุมชนที่มีอยู่แล้ว แล้วเราหยิบเอาทุนเดิมตรงนั้นมาทำให้ชัดเจนขึ้น ถ้าเทศบาลต่อยอดขยายผลจากตรงนี้ก็จะมีผลดีต่อชุมชน เพราะในช่วงที่เราจัดกิจกรรมปั่น ถึงแม้มันจะมีเวลาสั้น ประชาสัมพันธ์ก็น้อย แต่ก็มีคนสนใจมาร่วมปั่น รวมทั้งคนในชุมชนเองที่เราปั่นผ่าน เขาก็สนใจ อยากให้มีกิจกรรมแบบนี้อีก เพราะเขาจะได้ขายของ มีรายได้ พี่มองว่านี่เป็นครั้งแรก เป็นการเริ่มต้นที่ดีค่ะ”
เรื่องของชุมชนแม่ต๋ำเป็นตัวอย่างที่บอกเราว่า “จักรยาน” ไม่ได้เป็นเพียงพาหนะใช้สัญจรเท่านั้น แต่ยังใช้เป็นเครื่องมือในการลดช่องว่างระหว่างวัย เพิ่มความสามัคคีในชุมชน พัฒนาเศรษฐกิจให้ดีขึ้น หรือใช้เป็นจุดตั้งต้นของการส่งต่อภูมิปัญญาอันเป็นรากเหง้าของชุมชนได้ด้วย
ดูผลลัพธ์ที่น่าชื่นใจของโครงการฯ นี้ได้ในเพจ https://www.facebook.com/phayaosooklakwai/ และชมสินค้าของชาวแม่ต๋ำได้ที่ https://www.facebook.com/groups/213310960154724/