Bike and Walk’s Foresight มองภาพอนาคตเดิน-จักรยานไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า


มูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทยเพิ่งจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “Thailand Bike and Walk Foresight: ชวนมองภาพและกำหนดอนาคตสถานการณ์การเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันของสังคมใน 10 ปีข้างหน้า” โดยมี สสส. เป็นผู้สนับสนุน เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564

วิจัยเชิงปฏิบัติการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างภาพอนาคตของการเดินและการใช้จักรยาน ในบริบทของสังคมเมืองในประเทศไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า (Walk-Bike 2030) และนำไปสู่การนำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่สอดรับกับภาพอนาคตดังกล่าว โดยมีขอบเขตการวิจัยอยู่ที่การศึกษาลักษณะการเดินทางในชีวิตประจำวันของคนในสังคมเมืองระดับมหานคร เทศบาลนคร และเทศบาลเมือง

ผลสรุปที่ออกมาน่าสนใจ ชวนให้ตื่นเต้นว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า บ้านเมืองและคุณภาพชีวิตของพวกเราจะออกมาเหมือนภาพอนาคตที่งานวิจัยวาดไว้แค่ไหน ซึ่งภาพอนาคตที่งานวิจัยสรุปผลออกมาแบ่งออกเป็น 6 ด้านดังนี้ครับ

1.การบังคับใช้กฎหมายเพื่อจัดการการใช้ทางเท้าและทางถนน

ส่งผลให้เกิดภาพอนาคตเชิงบวก ถ้ามีการบังคับใช้กฎหมายการจราจรทางเท้าและทางถนน และมีบทลงโทษผู้ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุกับคนเดินและใช้จักรยาน จะส่งผลให้คนเคารพกฎมากขึ้น อุบัติเหตุทางถนนลดลง ค่าใช้จ่ายในการรักษาลดลงตามไปด้วย ทัศนคติที่มีต่อคนเดินและใช้จักรยานจะมีภาพลักษณ์ที่ปลอดภัยมากขึ้น ทั้งยังส่งผลให้พื้นที่ถนนใช้ประโยชน์ได้เหมาะสม และเอื้อประโยชน์กันมากขึ้น

2.การเพิ่มโอกาสให้กับธุรกิจขนาดเล็กและการจัดระเบียบของเส้นทาง

ส่งผลให้เกิดภาพอนาคตเชิงบวก เมื่อเกิดการค้าขายละแวกบ้าน มีสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการต่างๆ ที่จำเป็นอยู่ละแวกบ้าน จะทำให้คนเดินทางระยะสั้นมากขึ้น อุบัติเหตุลดน้อยลง เกิดการเพิ่มโอกาสให้กับธุรกิจขนาดเล็กที่อยู่ละแวกบ้าน ทำให้คนเดินและใช้จักรยานมากขึ้น ส่งผลให้ต้องเกิดระเบียบต่างๆ ของการใช้เส้นทางละแวกบ้าน สุขภาพดีขึ้น ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลลดลงตามไปด้วย

3.การจัดตั้งหน่วยงานด้านการเดินและการใช้จักรยาน

ส่งผลให้เกิดภาพอนาคตเชิงบวกเช่นกัน คือจะเกิดการจัดตั้งหน่วยงานหรือผู้รับผิดชอบด้านการเดินและใช้จักรยานอย่างเป็นรูปธรรม อาจจะเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน สื่อสาธารณะ เพื่อให้การดำเนินงานคล่องตัวขึ้น ซึ่งหน่วยงานนี้จะมีบทบาทช่วยดูแลเรื่องระบบการเดินและใช้จักรยานโดยเฉพาะ ทั้งด้านความปลอดภัย โครงการต่างๆ ที่อำนวยความสะดวกกับผู้เดินและใช้จักรยาน และปรับเปลี่ยนมุมมอง ส่งเสริมความรู้ในด้านนี้ให้กับประชาชน

4.การเดินทางลดลงทำให้มลพิษทางอากาศน้อยลง
.
ส่งผลให้เกิดภาพอนาคตเชิงบวกในระยะยาวจากการปรับตัวของคนเมือง เกิดการพัฒนาในระดับย่าน เกิดการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการเดิน-ใช้จักรยาน เริ่มมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ กิจกรรมการเกษตร และเพิ่มการใช้ชีวิตในละแวกบ้าน คุณภาพชีวิตคนเมืองดีขึ้น คนเดินทางออกไปนอกพื้นที่ลดลง มลพิษทางอากาศจากการเดินทางก็จะลดลง

5.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานส่งผลให้วิถีชีวิตเปลี่ยน

ส่งผลให้เกิดภาพอนาคตค่อนข้างบวกในระยะยาว เมื่อมลภาวะในการลดลง คนจะหันมาใช้ Micromobility มากขึ้น (Micromobility คือกลุ่มยานยนต์ขนาดเล็กน้ำหนักเบาที่ทำงานด้วยความเร็วปกติต่ำกว่า 25 กม./ชม.) รายจ่ายในการเดินทางลดลงจะลดลง ราคาที่ดินชานเมืองจะสูงขึ้น วิถีชีวิตและอาชีพของผู้คนจะเปลี่ยนไปจากการที่โครงสร้างพื้นฐานแบบองค์รวมเกิดขึ้น

6.การนำของภาครัฐจะสร้างการเปลี่ยนแปลง

ส่งผลให้เกิดภาพอนาคตเชิงบวกในระยะยาว โดยการเปลี่ยนแปลงจากภาครัฐจะเป็นส่วนหลักในการขับเคลื่อน ซึ่งจะทำให้มีผู้ใช้จักรยานกลุ่มใหม่ที่เป็นเยาวชนและนักท่องเที่ยวมากขึ้น ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้น เกิดกฎหมาย สวัสดิการ และการปรับปรุงทางกายภาพให้เหมาะกับการใช้จักรยาน อีกทั้งเกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนมากขึ้น

ครั้งนี้ขอเสนองานวิจัยชิ้นนี้เป็นภาพรวมให้เห็นความน่าสนใจกันก่อน แล้วโอกาสต่อไปอาจจะหยิบเนื้อหาบางด้านมาคุยกันแบบละเอียดมากขึ้น รอติดตามกันครับ!

Print Friendly, PDF & Email