แปลและเรียบเรียงโดย : สรัสวดี โรจนกุศล และอัจจิมา มีพริ้ง
ที่มาภาพ : https://www.velo-city2021.com/en/blog/15-minutes-cities-is-it-time/#
ตอนนี้ เมืองต่างๆ ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญต่อแนวคิดของเมือง 15 นาที (15-minutes city) หรือ ‘La ville du quart d’heure’ เป็นแนวคิดของ Professor Carlos Moreno แห่งมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ กรุงปารีส ที่จะทำให้คนสามารถเข้าถึงความจำเป็นทุกสิ่งอย่างในชีวิตประจำวันในระยะเวลา 15 นาที ไม่ว่าจะเดินหรือปั่นจักรยาน แนวคิดนี้ถูกนำไปใช้กับเมืองปารีส เพราะว่า Professor Carlos Moreno มีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาให้กับ Anne Hidalgo นายกเทศมนตรีกรุงปารีส ที่ได้รับการเลือกให้กลับมาเป็นนายกเทศมนตรีกรุงปารีสสมัยที่สองเมื่อกลางปี 2020 (สมัยแรกในปี 2014) จากทฤษฎีที่สร้างขึ้นในปี 2014 ของ Professor Moreno ที่นำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตในเมือง ที่สามารถเข้าถึงได้ภายใน 15 นาทีด้วยการเดินหรือปั่นจักรยาน ซึ่งวิธีการการเดินทางดังกล่าวสามารถเปลี่ยนรูปแบบของเมืองและชีวิตในเมืองได้ เมื่อประชาชนมีเวลาให้กับตนเองและผู้อื่นมากขึ้น แต่แนวคิดนี้เมื่อหกปีที่แล้ว หลายคนมองว่าทฤษฎีนี้เป็นอุดมคติ นักวิชาการส่วนใหญ่วิพากษ์วิจารณ์ความยากลำบากในการใช้ชีวิตใกล้ที่ทำงาน แต่การแพร่ระบาดใหญ่ของ Covid 19 ทำให้แนวทางการดำเนินชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานของเรา ทำให้มีการนำแนวคิดเกี่ยวกับเมือง 15 นาที ที่เป็นเพียงทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติ
Professor Moreno ได้ตั้งคำถามว่า “ทำไมคนเมืองต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่กับเมืองที่ถูกออกแบบผิดๆ” เมืองที่ทำให้ประชาชนต้องเสียเวลาในแต่ละวันไปกับการเดินทาง แล้วทำไมเราไม่ออกแบบเมืองเสียใหม่เพื่อให้คนที่อยู่อาศัยในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และ Professor Moreno นำเสนอการพัฒนาเมืองไปในทิศทางตรงกันข้ามกับการพัฒนาเมืองในยุคปัจจุบัน เพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้คนเมืองและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการทำให้ผู้คนสามารถใช้ชีวิตในเมืองและเข้าถึงสถานที่และบริการต่างๆ ที่จำเป็นในชีวิตประจำวันภายในละแวกบ้านตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการไปทำงาน ไปโรงเรียน กลับที่พัก ไปตลาด ออกกำลังกาย การทำกิจกรรมต่างๆ พักผ่อนในสวน หรือแม้แต่บริการด้านสาธารณสุขอื่นๆ Professor Moreno ยังบอกอีกว่าเราต้องออกแบบเมืองให้สอดคล้องกับคนอยู่อาศัย ไม่ใช่วิ่งออกแบบตามคนที่ใช้รถยนต์ และควรปรับเปลี่ยนพื้นที่สาธารณะให้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ เช่น โรงเรียนควรจะถูกใช้เป็นศูนย์รวมชุมชนในเวลาหลังเลิกเรียน
หลัก 4 ประการอยู่ที่ฐานของเมือง 15 นาที ได้แก่
1.ระบบนิเวศวิทยา (ecology) 2.ความสามัคคี (solidarity) 3.ความใกล้ชิด (proximity) และ4.การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม (civil society’s participation)
ในการประชุม Velo-city 2021 เมืองเจ้าภาพอย่างลิสบอน ได้แสดงเจตจำนง และความพยายามที่ทำให้เมืองเป็นเมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเมืองนี้ได้สร้างเส้นจักรยานมากกว่า 150 กิโลเมตร และจะเพิ่มระยะทางรวมให้ถึง 200 กิโลเมตร ภายในสิ้นปี 2564 พร้อมทั้งระบบจักรยานและจักรยานไฟฟ้าปันกันใช้ (A bike and e-bike sharing system) ที่จะมาทำให้ลิสบอนเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับจักรยานอย่างแท้จริงด้วยการเข้ายึดพื้นที่จอดรถยนต์ ซึ่งเป็นโปรแกรม “หนึ่งพลาซ่าในแต่ละย่าน” หรือ “One Plaza in each neighbourhood” โปรแกรมนี้ได้เพิ่มจำนวนพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สาธารณะที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้เมืองนี้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นยังทำให้เมืองนี้ได้รับรางวัล European Green Capital 2020 อีกด้วย
เป้าหมายของเมือง 15 นาที คือ ต้องการให้คนในชุมชน คนในเมืองใช้เวลาในการเดินทางให้น้อยลง ทำให้ประชาชนสามารถเดินทางไปถึงจุดหมายปลายทางได้ภายใน 15 นาที ไม่ว่าจะเป็นการออกไปซื้อของ ไปติดต่อหน่วยงานต่างๆ ไปสวนสาธารณะ ไปทำงาน ไปโรงเรียน โดยให้ประชาชนเลือกใช้การเดินทางด้วยการเดิน การใช้จักรยาน หรือระบบขนส่งสาธารณะ ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล
แนวคิดของเมือง 15 นาทีจะสามารถนำมาประยุกต์กับบ้านเราได้หรือไม่ และยิ่งตอนนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid 19 ทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อแนวทางการดำเนินชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไป เพราะว่าคนส่วนใหญ่อยู่แต่ที่พักอาศัยหรือทำงานกันที่บ้าน เรียนออนไลน์ ดังนั้นการเดินหรือการใช้จักรยานเพื่อการเดินทางในระยะสั้นๆ ทำให้เราสามารถเดินทางได้อย่างคล่องตัวมากขึ้นกว่าเมื่อก่อนอีกทั้งยังช่วยลดการเดินทางที่ต้องใกล้ชิดกับบุลคลอีก ช่วงนี้อาจจะทำให้บ้านเราเกิดเป็นเมือง 15 นาทีก็ได้ ใครจะไปรู้……. แต่ที่เรารู้ คือ ถ้าคุณเดินหรือปั่นจักรยาน สิ่งที่คุณจะได้คือ “สุขภาพดี ฟรี สะอาด”
แหล่งข้อมูลและที่มา:
1.By Adèle Saingenest, May 20, 2021. 15-minutes cities: is it time? สืบคนจาก: https://www.velo-city2021.com/en/blog/15-minutes-cities-is-it-time/# เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2564
2.นริศา สุมะมานนท์, March 10, 2020. ‘ฝรั่งเศสเมือง 15 นาที’ เดินได้ ปั่นดีเข้าถึงทุกความจำเป็นในการใช้ชีวิต. สืบคนจาก: https://urbancreature.co/15-minute-city/ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2564