ในบทสรุปงานวิจัย “โครงการศึกษา และสำรวจข้อมูลพื้นฐานการเดินและการขี่จักรยาน” ยืนยันว่ากลุ่มคนที่มีกิจกรรมทางกายมากกว่า (Physically Active) หรือกลุ่มคนที่มีการเคลื่อนไหวออกแรงอย่างสม่ำเสมอในวิถีชีวิตประจำวัน จะมีระดับไขมันโคเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ในเลือดต่ำกว่ากลุ่มที่มีกิจกรรมทางกายน้อยกว่า (Physically Inactive)
งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการสำรวจข้อมูลพื้นฐานพฤติกรรมและทัศนคติต่อการเดินและการใช้จักรยาน ของกลุ่มตัวอย่างจากจังหวัดขนาดใหญ่ใน 5 ภูมิภาค คือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ชลบุรี นครราชสีมา และภูเก็ต ซึ่งดำเนินการโดยชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย (มูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นอกจากการบ่งชี้ว่าระดับของไขมันทั้งสองชนิดลดลงซึ่งได้จากการตรวจเลือดแล้ว การทดสอบสมรรถภาพทางกายในงานวิจัยยังพบว่า ร่างกายของกลุ่มคนที่มีกิจกรรมทางกายมากกว่า (Physically Active) จะมีสภาพร่างกายที่แข็งแรงกว่ากลุ่มคนที่มีกิจกรรมทางกายน้อย (Physically Inactive) อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะการทดสอบความอดทนกล้ามเนื้อท้องและหน้าขา (Muscular Endurance) และรายการทดสอบก้าวขึ้น-ลง 3 นาที (Aerobic and Anaerobic Endurance) สะท้อนให้เห็นว่าเป็นผลที่เกิดจากการมีกิจกรรมทางกายเป็นประจำนั่นเอง
ในงานวิจัยยังมีข้อเสนอแนะสำหรับผู้ที่มีอาชีพหรือวิถีชีวิตที่ไม่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย แล้วยังมีพฤติกรรมอยู่นิ่งเฉย (Sedentary Behavior) เป็นเวลานานๆ ในแต่ละวัน อย่างเช่นผู้บริหารระดับสูงที่ต้องนั่งโต๊ะหรือคนที่ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ ว่าจำเป็นต้องหาโอกาสทำกิจกรรมทางกายทดแทน (Compensate Physical Activity) เมื่อมีเวลาว่างจากภาระงาน เพื่อให้ได้เคลื่อนไหวร่างกายอย่างเพียงพอต่อการรักษาดุลยภาพของร่างกาย และป้องกันการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
นอกจากนั้นยังควรมีกระบวนการขับเคลื่อนผลักดันให้เกิดนโยบายระดับท้องถิ่น โดยจัดเวที Policy Advocacy เพื่อให้ผู้บริหารท้องถิ่นหรือองค์กรเอกชนเห็น และยอมรับว่าสามารถกำหนดให้เรื่องนี้เป็นนโยบายท้องถิ่นหรือหรือนโยบายขององค์กรได้ โดยไม่ต้องรอการสั่งการจากผู้บริหารระดับสูงของประเทศ