มลพิษทางอากาศวัดจากอะไร
เวลาได้ยินเขารายงานคุณภาพของอากาศช่วงนี้ดี ช่วงนี้แย่ เคยสงสัยไหมครับว่าเขาวัดจากอะไร วัดจากฝุ่น PM 2.5 เหรอ? ขอบอกว่านั่นเป็นแค่อย่างเดียวครับ เขามีมลพิษที่ใช้วัดคุณภาพของอากาศอีกถึง 5 ตัวแน่ะ!
กรมควบคุมมลพิษของบ้านเราจะรายงานคุณภาพทางอากาศด้วย “ดัชนีคุณภาพอากาศ” (Air Quality Index : AQI) เป็นการให้ข้อมูลแก่สาธารณชนถึงสถานการณ์มลพิษทางอากาศในแต่ละพื้นที่ ว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยหรือไม่ ซึ่งดัชนีนี้วัดจากค่าความเข้มข้นของสารมลพิษทางอากาศ 6 ชนิด ซึ่งได้แก่
ฝุ่นขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน มลพิษสุดฮ็อตที่เราคุ้นเคยเป็นอย่างดีในไม่กี่ปีมานี้ ฝุ่นชนิดนี้เข้าไปได้ถึงถุงลมในปอด เป็นผลทําให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจและโรคปอดต่างๆ หากได้รับในปริมาณมากจะทําให้การทํางานของปอดแย่ลง ทําให้หลอดลมอักเสบ มีอาการหอบหืด
ฝุ่นขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน เมื่อหายใจฝุ่นที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 10 ไมครอนชนิดนี้ จะเข้าไปสะสมในระบบทางเดินหายใจของเรา
ก๊าซโอโซน จะก่อให้เกิดการระคายเคืองตา ระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจและเยื่อบุต่างๆ ประสิทธิภาพการทำงานของปอดลดลง เหนื่อยเร็ว โดยเฉพาะในเด็ก คนชรา และคนที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง
ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ เมื่อหายใจก๊าซชนิดนี้เข้าไปมันจะไปแย่งจับกับฮีโมโกลบินในเลือด ทำให้การลำเลียงออกซิเจนไปสู่เซลล์ต่างๆ ของร่างกายลดลง เราจึงรู้สึกอ่อนเพลียและหัวใจทำงานหนักขึ้น
ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ก๊าซนี้มีผลต่อระบบการมองเห็น และมีผลต่อผู้ที่มีอาการหอบหืดหรือโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ
ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซนี้ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุตา ผิวหนัง และระบบทางเดินหายใจ หากได้รับเป็นเวลานาน ๆ จะทำให้เป็นโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังได้
ดังนั้นถ้าช่วงไหนมีการเตือนว่าคุณภาพอากาศแย่ลง รายงานตัวเลขของดัชนีมีค่าสูง ขอให้นึกถึงสารมลพิษในอากาศ 6 ตัวนี้ว่ามันจะส่งผลร้ายกับร่างกายเพียงใด เราจะได้รีบหาทางป้องกันและหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้ง จนกว่าค่าของมลพิษจะลดต่ำลงจนปลอดภัยนะครับ