บ่อยครั้งที่การรณรงค์ขี่จักรยาน ได้สร้างภาพของความไม่เป็นธรรมในสังคมทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ จากการตั้งข้อสังเกตที่ว่า กลุ่มคนที่นิยมขี่จักรยาน มักมีเงินมากพอเพื่อซื้ออุปกรณ์แพงๆ หรือการรณรงค์มุ่งเน้นไปยังพื้นที่ของคนร่ำรวยมากกว่าพื้นที่คนยากไร้ในหลายประเทศ
จนเกิดคำถามที่ว่า จักรยาน เป็นตัวชี้วัดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ด้วยหรือไม่
กระทั่งโครงการที่ชื่อว่า “Citi Bike” ได้ถือกำเนิดขึ้นในอเมริกา ด้วยแนวคิดที่ว่า “จักรยานควรเข้าถึงทุกชุมชนอย่างเท่าเทียมกัน” โดยสนับสนุนจักรยานราวๆ 1 หมื่นคัน และสถานีบริการจักรยานประมาณ 600 สถานี ใน 5 ชุมชนของนิวยอร์ก
จุดเด่นของจักรยานในโครงการนี้คือ มันแข็งแรงมาก เพราะออกแบบมาแบบพิเศษ และทนทาน เพื่อใช้ได้ในทุกสถานที่ทั่วเมือง ไม่ว่าจะในเมืองใหญ่ เมืองเล็ก ที่ธุระกันดาร หรือถนนที่ไม่ได้ดีมากนักก็ยังขี่ได้
แนวคิดจักรยานของ Citi Bike คือการทำให้จักรยานใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ขี่ไปหาเพื่อนได้ ไปเรียน ไปทำงาน ไปซื้อของ เพื่อให้กลายเป็นโปรแกรมแชร์จ้กรยานที่ไม่ต้องมีการแบ่งแยกในเรื่องราคาค่างวดจักรยาน ความทันสมัย หรือความใส่ใจรณรงค์ที่แตกต่าง
ว่ากันว่า ในพื้นที่คนมีรายได้สูงและต่ำ จักรยาน Citi Bike ได้พยายามเข้าถึง ทั้งรณรงค์และศึกษา ในกลุ่มชนผิวขาว ผิวดำ เด็ก คนทำงาน ผู้ชาย ผู้หญิง ในโซนผู้มีรายได้สูง หรือสลัม ค่ายอพยพก็ตาม โครงการนี้มีความหวังว่า จักรยานจะเป็นตัวเชื่อมชุมชนไม่ให้เกิดการแบ่งแยกด้านฐานะความเป็นอยู่
เมื่อไหร่ที่ทุกคนอยู่บนจักรยานของ Citi Bike เป็นการบอกว่าเราทุกคนเท่าเทียมกัน ซึ่งปัจจุบันได้รับการตอบรับ สนับสนุน และบริจาคจักรยานมาเพิ่ม ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการใช้จักรยานมากขึ้น รวมทั้งนักท่องเที่ยวด้วย
เป็นข้อพิสูจน์อย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า “จักรยาน” ไม่ใช่แค่พาหนะอีกต่อไป แต่เป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างความเท่าเทียม เป็นธรรมในสังคมขึ้นมาได้ด้วย