สถาบันฯปักหมุดเดินหน้าโครงการฯเพื่อลดอุปสรรค เพิ่มโอกาส
การใช้จักรยานเชื่อมต่อรถไฟฟ้า
ไม่ใช่ไม่รู้!?!!!!
ว่า การหันมาใช้จักรยานเดินทาง โดยเฉพาะในเขตเมือง เกิดประโยชน์หลายสถาน ทั้งกับตัวเอง(ในด้านเวลา,สุขภาพ) ทั้งกับสังคมโดยรวม(การเดินทางเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม,ลดปัญหาฝุ่นจิ๋วPM2.5 ฯลฯ)แต่พบว่าประชาชนที่ตื่นตัวต่อเรื่องนี้ แม้จะมีเพิ่มมากขึ้นแต่ก็ถือว่ายังน้อยอยู่มาก จากการสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนหลากหลายกลุ่ม พบข้อติดขัดหลายประการ ตัวอย่างการสำรวจความคิดเห็น อ้างอิงจากงานวิจัยแนวทางการส่งเสริมการเดินทางเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าด้วยจักรยาน สำรวจประชาชนที่เดินทางด้วยรถไฟฟ้าสายสีม่วง จำนวน 2 สถานี คือสถานีวงศ์สว่างและสถานีแยกติวานนท์ พบว่า ปัญหาที่ประชาชนผู้ใช้จักรยานพบคือ
70% จุดจอดไม่ปลอดภัย
60% ไม่มีไฟส่องสว่างตอนกลางคืน
60% ปริมาณรถบนถนนมากเกินไป
60% ความไมเรียบร้อยของพื้นผิวถนน ฝาท่อ
55% รถจอดข้างทาง และทางข้ามแยก
โครงการส่งเสริมการใช้จักรยานเพิ่มกิจกรรมทางกาย เชื่อมต่อรถไฟฟ้า โดยสถาบันการเดินและการจักรยานไทย ในฐานะองค์กรนำ พร้อมผลักดันเรื่องนี้เพื่อ
-สนับสนุนให้เกิดระบบการเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ(Feeder) ด้วยจักรยาน
-เพื่อผลักดันให้เกิดนโยบายที่นำไปสู่การปฏิบัติการของภาคียุทธศาตร์ในการจัดการให้เกิดระบบการเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ(Feeder) ด้วยจักรยาน
-เพื่อเพิ่มจำนวนผู้ใช้จักรยานเดินทางเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าสายสีม่วงอย่างน้อยร้อยละ 15 ของจำนวนผู้ใช้จักรยานที่มีอยู่เดิม
-เพื่อส่งเสริมและสร้างความตระหนักในการเดินทางด้วยจักรยานเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะในระดับเมือง ชุมชน
ที่สำคัญยังเป็นการพัฒนากิจกรรมทางกายให้เกิดความยั่งยืนได้ เพราะงานวิจัยนี้จะนำไปสู่การผลักดันรูปธรรมให้เกิดขึ้นจริง และเอื้อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ โครงการส่งเสริมการใช้จักรยานเพิ่มกิจกรรมทางกาย เชื่อมต่อรถไฟฟ้า โดยสถาบันการเดินและการจักรยานไทย เป็นหนึ่งในโครงการที่ต้องการทำให้กิจกรรมทางกายเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน โดยการใช้จักรยานป็นส่วนหนึ่งร่วมกับการใช้การคมนาคมในรูปแบบต่างๆ
ซึ่งสอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคม การกำหนดแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมือง โดยให้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อสนับสนุนการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ในเขตเมือง(Non-Motorized Transport :NMT) และให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางข้าม ทางเท้า และทางจักรยานในพื้นที่ที่สามารถเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมือง เพื่อเพิ่มสัดส่วนของการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ในภาพรวม ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้หลักการออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design)
ช่วยเพิ่มกิจกรรมทางกาย ลดภาวะเนือยนิ่ง ลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ส่งเสริมสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน
โครงการฯอยู่ในช่วงดำเนินงาน ระยะเวลาการดำเนินงาน 1 ปีนี้ ทางทีมงานสถาบันฯจะอัพเดทเพื่อเผยแพร่ความก้าวหน้าของโครงการฯเป็นระยะ เพราะหากเกิดได้เป็นรูปธรรมจริง จะตอบโจทย์คนเมืองที่สามารถออกแบบการเดินทางในแต่ละวันด้วยการใช้จักรยานร่วมกับการใช้การขนส่งสาธารณะ อย่างเช่น รถไฟฟ้าได้อย่างสะดวกมากขี้นอย่างแน่นอนค่ะ