คุณจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ ประธานมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย (TWCI) และรศ.ดร.ประพัทธ์พงษ์ อุปลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (SCiRA) สจล. ในฐานะผู้อำนวยการโครงการส่งเสริมการใช้จักรยานเพิ่มกิจกรรมทางกาย เชื่อมต่อรถไฟฟ้า (Bike to Public Transport Connection) ได้ดำเนินการเก็บข้อมูล ศึกษาวิจัยจนสามารถออกรูปแบบเส้นทาง จุดจอดจักรยานที่เหมาะสมกับพื้นที่ของสถานีรถไฟฟ้ากระทรวงสาธารณสุข และในวันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม 2562 เวลา 13:00 – 16:00 น. ณ ห้องประชุม 2 สำนักปลัดกระทรวงสาธารณะสุข โครงการฯ ได้จัดการประชุมเพื่อสร้างการรับรู้และรับฟังความคิดเห็นต่อ “การออกแบบที่จอดจักรยานและเส้นทางจักรยาน” เพื่อเพิ่มกิจกรรมทางกายเชื่อมต่อรถไฟฟ้า โดยมีหน่วยงานและองค์กร จากกระทรวงสาธารณสุขเข้าร่วมการประชุม ซึ่งผลจากการประชุมครั้งนี้ ทั้งหมดเห็นชอบต่อการใช้จักรยานเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีม่วง เนื่องจากสามารถส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของกระทรวงฯ
นอกจากนี้กระทรวงฯ มีความยินดีที่จะทำเป็นพื้นที่นำร่อง ก่อนที่จะไปถึงเป้าหมายทั้ง 2 ข้อดังที่กล่าวนี้ คณะทำงานและกระทรวงฯ ต้องมีการศึกษาและเก็บข้อมูลเพิ่มเติม
สำหรับเส้นทางที่จะเชื่อมจากกระทรวงฯ ไปถึงสถานีรถไฟฟ้ากระทรวงสาธารณสุข ในที่ประชุมเสนอแนวทางในการออกแบบ 2 รูปแบบ คือ (1) ทางจักรยานชิดริมถนนทางด้านซ้าย เนื่องจากสามารถเชื่อมต่อเส้นทางจักรยานที่มีอยู่เดิมภายในกระทรวง และ(2) ทางจักรยานชิดริมที่จอดรถทางด้านขวาคือการใช้เส้นทางจักรยานชิดเกาะกลางถนน ซึ่งรูปแบบนี้จะเพิ่มทัศนียภาพของถนนภายในกระทรวงมากขึ้น ทั้ง 2 รูปแบบนี้ ต้องมีการประสานงานและศึกษาถึงความเหมาะสมของการเชื่อมต่อเส้นทางอยู่ 2 จุด คือ (1)ทางเข้ากระทรวงฯ และ (2)โรงพยาบาลศรีธัญญา
สำหรับที่จอดจักรยาน กระทรวงฯ มีที่จอดจักรยานของโครงการจักรยานอัจฉริยะสาธารณะอยู่เดิม เช่น จุดจอดจักรยานในแต่ละกรม กอง ของกระทรวงฯ ข้อเสนอจากที่ประชุมนี้ทำให้โครงการฯ สามารถดำเนินการเรื่องของจุดจอกจักรยานได้ครอบคลุมกับความต้องการของผู้ใช้จักรยานได้มากยิ่งขึ้น ที่แต่เดิมคณะทำงานได้กำหนดจุดจอดเฉพาะที่สถานีรถไฟฟ้ากระทรวงสาธารณสุข
นอกจากนี้ กระทรวงฯ มีกิจกรรมที่เอื้อให้เกิดผู้ใช้จักรยานในการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีม่วง คือ กิจกรรม เดิน วิ่ง จักรยาน ที่กระทรวงฯ ได้จัดกิจกรรมเป็นประจำ แต่ในขณะเดียวกันที่ประชุมมีข้อกังวลในประเด็น (1)เรื่องอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากมีรถจักรยานยนต์ คนเดินเท้า มาใช้พื้นที่ของเส้นทางจักรยาน ข้อกังวลนี้สามารถแก้ไขได้โดยการออกแบบด้านวิศวกรรม และ(2)การสร้างการรับรู้เพื่อให้เกิดการเดินทางเชื่อมต่อรถไฟฟ้า ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักมากพอ โดยกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญประกอบด้วย กระทรวงฯ สำนักงานประกันสังคม สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ผู้มารับบริการของกระทรวงฯ และชุมชนโดยรอบ
ข้อเสนอแนะของที่ประชุมเห็นร่วมกันว่าต้องสื่อสารเรื่อง (1)การออกแบบที่เหมาะสมของพื้นที่ และ (2)การสร้างการรับรู้ต่อสังคมและประชาชน
จักรยานคันเล็กรายงาน