Home สิ่งที่เราทำ ผลักดันระดับประเทศ เมืองจะทำอย่างไรเพื่อสนับสนุนการเดินและการใช้จักรยาน: วิสัยทัศน์ของผู้บริหารเมือง

ในการขับเคลื่อนให้มีการส่งเสริมสนับสนุนการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน สถาบันการเดินและการจักรยานไทย ตั้งแต่ครั้งยังทำงานในชื่อชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ได้ทำงานกับองค์การปกครองและชุมชนในท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ ด้วยการสนับสนุนสถาบันการศึกษา อย่างต่อเนื่องมาแล้วกว่าหกปีตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๔ การจัดประชุมให้หน่วยงาน ชุมชน และบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือสนใจจะทำเรื่องนี้กันต่อไป มาสนทนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเรียนรู้ซึ่งกันและกันในระดับภาค ย่อมได้ประโยชน์อย่างยิ่ง ผู้เข้าร่วมไม่เพียงแต่ได้มาบอกเล่าความสำเร็จที่อาจเป็นแนวทางหรือแบบอย่างให้พื้นที่อื่น แต่ยังได้มาสะท้อนให้เห็นอุปสรรคปัญหาที่จะต้องหาทางแก้ไขและช่องทางวิธีการใหม่ๆ ในการทำให้งานเดินก้าวหน้าไปด้วย

การประชุมสนทนาแลกเปลี่ยนการเดินการใช้จักรยานระดับภาคครั้งแรกจัดขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอิสาน ที่หอประชุมธรรมาภิบาลของเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อวันศุกร์ที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๑ โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด ๙๖ คน เป็นผู้แทนองค์กรปกครองท้องถิ่น ๑๗ องค์กร (เทศบาล ๑๐, องค์การบริหารส่วนจังหวัด ๖ และอำเภอ ๑), หน่วยงานรัฐอื่น ๕ หน่วย, สถาบันการศึกษา ๕ แห่ง, ชมรมจักรยาน ๓ ชมรม และธุรกิจเอกชน ๓ ราย ที่เหลือเป็นนักเรียนนักศึกษาและประชาชนที่สนใจทั่วไป โดยมาจาก ๑๐ ใน ๑๙ จังหวัดของภาค คือ มหาสารคาม กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี หนองบัวลำภู มุกดาหาร สุรินทร์ บุรีรัมย์ ขอนแก่น อุดรธานี และร้อยเอ็ด

จากการที่เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ให้ความอนุเคราะห์สถานที่จัดประชุม จึงไม่มีสิ่งใดที่จะเหมาะสมในการเริ่มการประชุมมากไปกว่าการที่นายกเทศมนตรีเมืองกาฬสินธุ์ มาบอกเล่าสิ่งที่คิด ที่ทำ ในการส่งเสริมการเดินการใช้จักรยานของเมืองนี้ด้วยตนเอง สิ่งที่นายกฯ จารุวัฒน์ บุญเพิ่ม บอกเล่าให้เราฟังในวันนั้นมีคุณค่าอย่างยิ่งในฐานะที่เป็นประสบการณ์จริงของผู้บริหารเมืองคนหนึ่งที่เป็นบทเรียนให้ผู้บริหารเมืองคนอื่น จึงได้เก็บนำส่วนหนึ่งมาบอกเล่าต่อให้ผู้ที่ไม่ได้ไปร่วมการประชุมในวันนั้นได้เรียนรู้ด้วยกันดังต่อไปนี้


คุณจารุวัฒน์เริ่มต้นด้วยการเล่าย้อนหลังกลับไปถึงปี ๒๕๔๕ ว่า เมื่อเข้ามาเป็นนายกเทศมนตรีเมืองกาฬสินธุ์ ได้หวนคิดกลับไปถึงครั้งเป็นเด็ก สมัยนั้นขี่จักรยานไปโรงเรียนทุกวันตั้งแต่อยู่ชั้นประถมจนถึงชั้นมัธยม คนทั่วไปก็ยังใช้จักรยานกันอยู่มาก แต่เมื่อเวลาผ่านไปคนหันมาใช้รถมากขึ้นๆ ใช้จักรยานน้อยลง เมื่อเริ่มเทศบาลปรับปรุงทางเท้าเมื่อปี ๒๕๔๘ จึงได้ทำให้มีทางจักรยานอยู่บนทางเท้า มีทางลาดให้ขึ้น-ลง เมื่อทางเท้าถูกตัดเป็นทางเข้าซอยหรืออาคาร อย่างเช่นถนนถีนานนท์ที่ปัจจุบันเป็นทางไปมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ทำทางจักรยานบนทางเท้าไว้ทั้งสองฟาก โดยหวังให้ทางจักรยานช่วยกันไม่ให้ร้านค้ารุกล้ำทางเท้าด้วย แต่ปรากฏว่าไม่สำเร็จ ไม่มีคนมาใช้ทางจักรยาน เมื่ออาจารย์พลเดช เชาวรัตน์ จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มาคุยด้วยในปี ๒๕๕๔ ถามถึงแนวคิดและประสบการณ์ในการส่งเสริมการใช้จักรยาน คุณจารุวัฒน์จึงได้บอกไปว่า “ถอดใจ” แล้วเพราะทำไม่สำเร็จ ทำทางจักรยานแล้วไม่มีคนใช้ แต่อีกด้านหนึ่งก็ยังอยากทำทางจักรยานให้ชาวเมืองใช้ไปตลาด คราวนี้อยู่บนถนน แต่ก็เกรงว่ารถยนต์จะไปแย่งจอดทับ อาจารย์พลเดชจึงได้แนะนำว่าหากจะทำให้สำเร็จก็ต้องทำให้ผู้ใช้ถนนทุกประเภทใช้ถนนร่วมกันและใช้ได้อย่างปลอดภัย จากนั้นก็มาลงพื้นที่ทำวิจัย
พื้นที่เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์เดิมมี ๔ ตารางกิโลเมตร ต่อมาเมื่อปี ๒๕๒๔ ได้ขยายออกไปเป็น ๑๖.๙ ตารางกิโลเมตร รวมพื้นที่ชนบทที่ติดกับเมืองเข้ามาด้วย ซึ่งมีเส้นทางเชื่อมโยงชุมชนเหล่านี้เข้ามาในเมือง จึงทำให้คุณจารุวัฒน์คิดว่า ทำไมไม่ส่งเสริมให้คนในชุมชนใช้จักรยานล่ะ เริ่มต้นจากการใช้จักรยานเพื่อดูแลสุขภาพตนเองก่อน และทำให้แต่ละชุมชน ชาวบ้านสามารถใช้จักรยานเดินทางไปไหนมาไหนได้ในระยะใกล้ๆ แล้วค่อยเชื่อมโยงระหว่างชุมชน จากนั้นจึงค่อยทำต่อเนื่องเข้ามาในเมือง ได้เริ่มต้นที่ชุมชนสุขสบายใจเป็นชุมชนแรก มีอาจารย์พลเดชมาช่วย ให้ใช้จักรยานในวิถีชีวิตประจำวัน เป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่นๆ ได้ ตั้งเป้าว่าให้ทั้ง ๓๖ ชุมชนในเขตเทศบาลและชุมชนชานเมืองออกไปอีก ๑๐ ชุมชน พัฒนาเป็นชุมชนที่เป็นแบบอย่างให้ชุมชนอื่นในเรื่องการเดินการใช้จักรยานได้

สำหรับทางจักรยานก็ยังทำอยู่ในบริเวณที่ทำได้ เมื่อปี ๒๕๔๖ มีการฟื้นฟูแก่งดอนกลาง ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำธรรมชาติขนาด ๖๐๐ ไร่ทางเหนือของเมือง เมื่อมีการขุดลอกก็นำดินขึ้นมาถมรอบอ่างทำเป็นทางเดินทางจักรยาน ปลูกต้นไม้ ปี ๒๕๕๖-๕๗ ได้งบประมาณสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มาราดยางทางเดินทางจักรยานกว้าง ๖ เมตร ยาว ๔,๒๐๐ เมตร แยกออกมาจากถนนมีคูกั้นประชาชนให้การตอบรับเป็นอย่างดี ไปเดิน ขี่จักรยาน และออกกำลังกายกันมาก (ทางทิศใต้ของอ่างมีสวนสาธารณะที่มีรูปปั้นขนาดเท่าตัวจริงของไดโนเสาร์ที่พบครั้งแรกในโลกที่กาฬสินธุ์และขอนแก่น ส่วนทางเหนือมีพุทธมณฑลกาฬสินธุ์ด้วย – ผู้เขียน) ขณะนี้ได้ทำเรื่องของบประมาณสนับสนุนเพิ่มเติมมาติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างให้ดี ประชาชนจะได้ใช้บริการได้สะดวกและปลอดภัยมากขึ้น

ช่วงท้ายของการบอกเล่า คุณจารุวัฒน์ย้ำว่า การส่งเสริมการใช้จักรยานนี้ เทศบาลไม่สามารถขับเคลื่อนทุกอย่างได้ตามลำพังหน่วยงานเดียว จึงได้พยายามสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน และชักชวนทุกภาคส่วนที่สนใจให้มาช่วยกัน ซึ่งเป็นแนวทางที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นจริงจากการที่ชมรมฯ และสถาบันฯ ทำงานมาในพื้นที่ต่างๆ ทั่วไทย และในต่างประเทศทั่วโลกจากที่เราไปเรียนรู้มีและมีวิทยากรมาบอกเล่าโดยตรงถึงเมืองไทย ในกรณีของกาฬสินธุ์ คุณจารุวัฒน์เล่าว่ามีหลายกลุ่มองค์กรหน่วยงานในจังหวัดมาช่วย อย่างในส่วนราชการก็มีสาธารณะสุขจังหวัด ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ฯลฯ ทางผู้ใช้จักรยานก็มีชมรมจักรยาน Dino Speed Bike อาสาช่วยดูแลรักษาความสะอาดเก็บขยะขี้ควายตามทางจักรยานรอบแก่งดอนกลาง ชมรมนี้ตั้งมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ และเป็นหลักในการจัดงานชักชวนให้ชาวกาฬสินธุ์ขี่จักรยาน อย่างงาน Car Free Day ที่จัดทุกปี มีคนมาร่วมกว่า ๑,๐๐๐ คน และกิจกรรม Night Cycling ขี่จักรยานกลางคืนในคืนวันพุธไปตามถนนต่างๆ รอบเมือง ทางด้านชุมชน ประธานชุมชนก็ให้ความร่วมมือมาช่วย จนเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ได้รับรางวัลพระปกเกล้าทองคำติดต่อกันมา ๗ ปี
คุณจารุวัฒน์ปิดท้ายด้วยการประกาศว่า เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ขอชูคำขวัญ “กาฬสินธุ์จะเป็นเมืองที่คนเดิน ขี่จักรยาน และใช้รถ ร่วมกันได้อย่างมีความสุข”

เป็นไงครับ ประสบการณ์และคำขวัญของนายกเทศมนตรีคนนี้… เมืองของท่าน ชุมชนของท่านล่ะ มีวิสัยทัศน์ แนวทาง และการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยาน โดยเฉพาะในชีวิตประจำวันอย่างไร เอามาแบ่งปันกันบ้างนะครับ

กวิน ชุติมา
กรรมการสถาบันการเดินและการจักรยานไทย

Print Friendly, PDF & Email