หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 14 กันยายน 2560
ประธานมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย เผยเตรียมเสนอให้ประเทศไทยเป็นวันปลอดรถคือปลอดรถปีละวัน ปลอดรถทุกวัน และให้ทุกวันเป็นวันปลอดรถ รับคาร์ฟรีเดย์ 22 ก.ย.นี้
พุธที่ 13 กันยายน 2560 เวลา 08.35 น
ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย เปิดเผยว่า สถาบันฯมีแนวคิดผลักดันให้ประเทศไทยเป็นวันปลอดรถคือปลอดรถปีละวัน ปลอดรถทุกวัน และให้ทุกวันเป็นวันปลอดรถ (CFD car freeday CFED car free everyday with one works) เนื่องจากเมื่อปี 2543 ตนได้นำเรื่องวันปลอดรถหรือคาร์ฟรีเดย์ (Car free day) ซึ่งจัดขึ้นวันที่ 22 ก.ย. ของทุกปี มาใช้ในประเทศไทย หลังได้ร่วมงานวันคาร์ฟรีเดย์ที่ประเทศฝรั่งเศสและมองว่าเป็นเรื่องดี ที่จะช่วยสร้างกระแสให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวในการเดินทางและเป็นวันปลอดรถ โดยให้ประชาชนเลือกเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะต่างๆเช่น รถไฟฟ้า เรือ รถเมล์ รถแท็กซี่ รถจยย.รวมทั้งรถจักรยานและการเดินไปทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันโดยให้เกิดความต่อเนื่อง
ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย
ศ.กิตติคุณ กล่าวต่อว่าจากนั้นมีวันคาร์ฟรีเดย์จัดตลอดทุกปีเดิมมีการจัดงานแบบเชิญชวนชาวบ้านธรรมดามาร่วมงาน แต่กิจกรรมวันคาร์ฟรีเดย์ปัจจุบันเน้นรณรงค์ที่ลงลึกเรื่องออกกำลังกายโดยการปั่นจักรยานมากกว่าซึ่งผู้จัดกิจกรรมวันคาร์ฟรีเดย์สากลเน้นว่าวันคาร์ฟรีเดย์ไม่ใช่วันปั่นจักรยา นแต่ภาพลักษณ์ที่ปรากฏต่อสาธารณะชนกลายเป็นวันจักรยานไปโดย ปริยายทำให้ประชาชนมองงานคาร์ฟรีเดย์เป็นแค่งานอีเว้นต์ประจำวันเท่านั้น และก็กลับสู่ภาวะปกติ ถ้าเป็นแบบนั้นก็ไม่สามารถแก้ปัญหาสังคมบ้านเมือง พลังงาน อากาศเป็นพิษ และโลกร้อนได้ ปัญหาเหล่านั้นจะแก้ไขได้ก็ต่อเมื่อคนส่วนใหญ่หันมาใช้การเดินทางที่ไม่ใช่รถยนต์ส่วนตัวทุกๆวัน ดังนั้นถ้ามีการส่งเสริมให้ปลอดรถทุกวันเป็นเรื่องที่ดีทำให้ประชาชนเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้นและลดการขับรถยนต์เข้าเมือง ซึ่งช่วยลดภาวะโลกร้อนมลพิษน้อยลง เมืองน่าอยู่ และลดปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่เมืองได้นอกจากนี้ผู้บริหารของประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปหากิจกรรมส่งเสริมเพื่อปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมการเดินทางของประชาชนด้วย เริ่มจากการจัดวันปลอดรถปีละหนก่อนและก้าวไปสู่การปลอดรถทุกวันในอนาคตเมื่อระบบรถไฟฟ้าคลอบคลุมมากกว่านี้
ศ.กิตติคุณ กล่าวอีกว่าทั้งนี้ถ้าคนลดใช้รถยนต์ส่วนตัวในการเดินทางหรือใช้รถยนต์ที่น้อยลงผลที่ตามมาทำให้ถนนโล่งขึ้น การเดินทางสะดวก รวดเร็วไม่กระทบการทำงานช้าหรือไม่ทัน กลับถึงบ้านเร็วขึ้นใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวมากขึ้น ค่าใช้จ่ายถูกลง อากาศสะอาด ความเจ็บป่วยโรคปอดค่ารักษาพยาบาล เวลาที่เสียไปกับรพ.น้อยลงรวมทั้งนำเวลาเหล่านั้นมาทำประโยชน์ให้ตนเองและครอบครัวดีกว่า และเมืองน่าอยู่ขึ้น
ทั้งนี้สถาบันฯ เตรียมส่งหนังสือแสดงแนวคิดดังกล่าวถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กระทรวงคมนาคม, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงสาธารณสุข,สำนักนายกรัฐมนตรี, กรุงเทพมหานคร (กทม.)และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อผลักดันวันปลอดรถให้เกิดขึ้นและพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะและสิ่งอำนวยความสะดวกอาทิ ปรับปรุงทางเดินและทางจักรยาน ปลอดภัยทำให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะเดินทาง รวมทั้งการเดินและการปั่นจักรยานด้วย