โครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ ปีที่ ๓ ที่เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๖๑ ได้สิ้นสุดลงและปิดไปแล้วอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ ๑๕ พ.ค. ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา จึงมีการจัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการสรุปผลการทำโครงการขึ้นให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ได้ถอดบทเรียนที่มีค่าออกมา และช่วยกันคิดช่วยกันเสนอว่าจะขยายผลยกระดับต่อยอดต่อไปอย่างไรหลังจากโครงการที่ได้รับการสนับสนุนขั้นต้นจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สิ้นสุดลง สำหรับการจัดเวทีประชุมเชิงปฎิบัติการสรุปผลและถอดบทเรียนโครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ มีทั้งหมด ๓ ครั้งตามโซนภูมิภาค ประกอบด้วย
1.เวทีสรุปผลและถอดบทเรียนโซนภาคใต้ จำนวน ๑๔ พื้นที่/โครงการย่อย ระหว่างวันที่ ๑๖-๑๗ พ.ค.๖๒ ณ ทรายทอง รีสอร์ท อ.สิเกา จ.ตรัง
2.เวทีสรุปผลและถอดบทเรียนโซนภาคกาง และภาคเหนือ จำนวน ๓๑ พื้นที่/โครงการย่อย ระหว่างวันที่ ๒๔-๒๕ พ.ค.๖๒ ณ รอยัลกอล์ฟ เจมส์ รีสอร์ท อ.ศาลายา จ.นครปฐม
3.เวทีสรุปผลและถอดบทเรียนโซนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน ๑๔ พื้นที่/โครงการย่อย ระหว่างวันที่ ๖-๗ มิ.ย.๖๒ ณ โรงแรมเพชรรัชต์การ์เดนท์ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด
โดยเวทีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีผู้เข้าร่วม ๓๐ คนจาก ๑๔ โครงการย่อย (รวมหนึ่งโครงการจากภาคกลางที่มาร่วมด้วย) และทีมงานวิทยากรกระบวนการ ๙ คนจากมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย ซึ่งเป็นผู้บริหารจัดการโครงการให้ สสส. รวมทั้งกรรมการของมูลนิธิฯ ๒ คนคือ นายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ ประธานกรรมการ และนายกวิน ชุติมา กรรมการเหรัญญิก
ผู้เข้าร่วมเริ่มต้นด้วยการบอกเล่าแลกเปลี่ยนสิ่งที่ได้จากการทำโครงการนี้ ทำให้พบว่าการใช้จักรยานเป็นเรื่องพื้นฐานที่เคยมีมาก่อน การทำโครงการนี้จึงทำให้ได้เห็นคุณค่าของจักรยานอีกครั้งหนึ่ง การชวนคนมาใช้จักรยานทำได้ง่ายขึ้น นอกจากที่ทุกคนพูดถึงผลบวกอย่างมากต่อชุมชน เช่น ความตื่นตัว ความสุข ความสามัคคีที่เพิ่มมากขึ้น สมาชิกชุมชนพอใจ ถามไถ่เสมอว่าเมื่อใดจะจัดกิจกรรมอีกแล้ว หลายคนแสดงออกถึงความภาคภูมิใจที่ได้ร่วมโครงการ การทำโครงการนี้ทำให้บางคนได้รับความไว้วางใจจากฝ่ายปกครองให้เป็นผู้จัดกิจกรรมโดยใช้การขี่จักรยานรณรงค์เป็นเครื่องมือ ได้รับการยอมรับและการสนับสนุนเพิ่มเติมจากภาคเอกชน หน่วยงานราชการบางหน่วยเริ่มใช้จักรยานในการออกพื้นที่ กระบวนการทำโครงการทำให้ได้คิดได้รู้จักวิธีการในการดึงคนมาทำงานด้วยกันซึ่งสามารถเอาไปใช้กับงานอื่นได้ อยากให้มีโครงการชุมชนจักรยานชุมชนเพื่อสุขภาวะนี้ต่อไปให้ชุมชนอื่นได้รับผลเหล่านี้เช่นกัน โดยสิ่งที่น่าเสริมคือ ควรมีวิธีการตอบแทน เช่น การเชิดชู “บุคคลต้นแบบ” ที่เป็นกลไกสำคัญในการทำให้โครงการก้าวหน้า-สำเร็จผลด้วย
ต่อมาผู้เข้าร่วมประชุมได้ถอดบทเรียนจากการทำงานที่ผ่านมาราวหนี่งปีออกมาใน ๓ ประเด็นหลักคือ
๑) ในด้านกลไกการมีส่วนร่วม
กระบวนการต้องมีการประสานภาคีผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ตั้งคณะทำงาน แบ่งบทบาท กำหนดแผนงาน บูรณาการทำร่วมกัน และบรรจุงานการส่งเสริมการใช้จักรยานลงในแผนพัฒนาท้องถิ่น ตั้งกองทุนในชุมชนหรือตำบลเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ผลลัพธ์คือเกิดภาคีความร่วมมือหลายภาคส่วน, มีการบูรณาการแผนงาน กิจกรรม และงบประมาณร่วม, เกิดความต่อเนื่องในการทำกิจกรรม, การสรุปบทเรียนได้แนวทางในการดำเนินงานต่อไป และต้นแบบ สิ่งที่ควรหนุนเสริมคือการประชาสัมพันธ์ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง, ขยายพื้นที่ดำเนินงาน, เชื่อมโยงกับภาคีเครือข่ายและหน่วยงานอื่นให้กว้างและมากขึ้น และการจัดทำแผนแม่บท/แผนยุทธศาสตร์ระยะยาวในการส่งเสริมการใช้จักรยานเชื่อมโยงกับการเป็นสังคมผู้สูงอายุ ที่สำคัญคือต้องทำให้คนในชุมชนต้องรู้สึกเป็นเจ้าของ ลุกมาช่วยกันทำด้วยตัวเองและรับผลประโยชน์ร่วมกัน โดยไม่รอไม่ฝากความหวังกับเฉพาะคน เฉพาะรัฐบาล
การถอดบทเรียนในกลุ่มย่อยสามกลุ่ม และประธานสถาบันฯ มาสรุปปิดท้าย
๒) การเพิ่มจำนวนผู้ใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน
เป้าหมายคือ เพิ่มผู้ใช้จักรยาน ทำให้ชุมชนรับรู้ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้จักรยานมากขึ้น กระบวนการได้แก่จัดการปั่นจักรยานที่ทำให้มีความสุข หนุนเสริมคุณภาพชีวิตคนในชุมชน เกิดจิตอาสา เปลี่ยนสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น ผลสำคัญคือต้องเกิดต้นแบบการใช้ เกิดกลุ่มผู้ใช้ เกิดการมีส่วนร่วม ความสามัคคี สุขภาพดี กลไกจัดการสิ่งแวดล้อม สิ่งที่ควรหนุนเสริมคือ เสริมพลังด้านบวก, เปิดโอกาสสร้างชุมชนจักรยาน, เพิ่มจำนวนจักรยานและผู้ใช้ในชุมชน กิจกรรมต้องเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย เช่น กับเด็กต้องมีกิจกรรมแปลกใหม่เป็นระยะ ในขณะที่กับผู้สูงอายุต้องเป็นกิจกรรมเดิมทำต่อเนื่อง มีการปรับกายภาพเน้นความปลอดภัยตามบริบทของชุมชน การประชาสัมพันธ์ก็ต้องเหมาะสมกับพื้นที่ การใช้สื่อสังคมสำคัญเพราะเข้าถึงคนได้กว้าง รวมทั้งคนที่มีการเคลื่อนไหวเคลื่อนย้าย ต้องเข้าใจวิถีชีวิตชุมชนและปฏิทินชุมชนเพื่อออกแบบกิจกรรมให้เหมาะสม การยกย่องชมเชยผู้ที่เป็นต้นแบบทุกกลุ่มวัยกลุ่มคนสำคัญ สิ่งสำคัญที่ควรเกิดขึ้นมีสองอย่างคือ บุคคลต้นแบบการเปลี่ยนแปลง และกลไกที่ไปสนับสนุนให้เกิดบุคคลต้นแบบ โดยเฉพาะบุคคลที่ทำงานด้านสุขภาพในพื้นที่
๓) การจัดกายภาพสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมการใช้จักรยาน
เป้าหมายคือสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ที่เอื้อแก่การใช้จักรยานร่วมกับพาหนะอื่น ผลคือเส้นทางจักรยานระยะใกล้ที่ปลอดภัย, ป้ายสัญลักษณ์ และมาตรการต่างๆ กระบวนการคือมีการประชุมวางแผน, การปรับปรุงเส้นทางผ่านการหารือประชาคม, ทำป้าย, สร้างข้อตกลงร่วมกันกับภาคี, มีศูนย์ซ่อมหรือคลินิก ผลคือเส้นทางที่เอื้อต่อการใช้จักรยานร่วมกันอย่างปลอดภัยอย่างน้อย ๑-๓ กิโลเมตร, ป้ายต่างๆ, ข้อตกลงร่วมกันกับคนในชุมชน ตำรวจ รพ.สต. โรงเรียน ฯลฯ ข้อตกลง/ธรรมนูญตำบลในการใช้ถนน เช่น การจำกัดความเร็ว โดยสมาชิกชุมชนช่วยกันตรวจตรา และมีการปรับคนที่ไม่ปฏิบัติตาม เช่น ๕๐ บาท/ครั้ง เอาเงินเข้าชุมชนจักรยาน, มีช่างอาสา, มีที่จอดจักรยานตามสถานที่สาธารณะที่ชาวบ้านไปใช้ เช่น วัด ตลาด ฯลฯ, เกิดอาชีพในชุมชน สิ่งที่ควรหนุนเสริมคือการสร้างแรงจูงใจ การให้รางวัลบุคคลที่เป็นแบบอย่าง
ท้ายที่สุด เมื่อพูดคุยกันถึงการทำงานต่อไป มีข้อเสนอให้เกี่ยวร้อยโครงการย่อยทั้งหมดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตั้งแต่ปีแรกเข้าด้วยกันเป็นเครือข่ายภาคีระดับภาค (บางคนเสนอว่าควรเป็นระดับประเทศมากกว่า) ซึ่งทำให้มีเรื่องให้คิดต่อไปว่าจะทำอย่างไร มีกิจกรรมอะไรเป็นกิจกรรมร่วม เช่น มหกรรม และหาทุนมาสนับสนุนอย่างไร เป็นต้น หลายคนเน้นความสำคัญของข้อมูล-ฐานข้อมูลที่ชัดเจนของทุกพื้นที่ ทางสถาบันฯ คาดหวังว่าต่อไปจะไม่ต้องลงมาหาพื้นที่ใหม่เองหรือลงมาน้อยลง ภาคีในพื้นที่จะช่วยกันหา-เสนอขึ้นมาด้วยข้อมูลความรู้และเครือข่ายความสัมพันธ์ที่มี โดยเฉพาะในอำเภอในจังหวัดที่ยังไม่เคยมีโครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะมาก่อน
เยี่ยมชุมชนจักรยานเหมือดแอ่ อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์
อนึ่งก่อนการประชุม ในวันที่ ๕ มิถุนายน ทีมงานโครงการได้เดินทางไปเยี่ยมเยือนโครงการอาสาปั่นจักรยานสร้างสุขชุมชนเหมือดแอ่เพื่อสุขภาวะ ที่ครอบคลุมบ้านสองหมู่ในตำบลเจ้าท่า อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งมีนางวรรณภา ศักดิ์ศิริ นักวิชาการสาธารณสุขอำเภอกมลาไสย เป็นผู้รับผิดชอบ โดยที่กำลังมีการประชุมแกนนำสรุปโครงการมานำเสนออยู่พอดี และได้ไปดูศูนย์ซ่อมจักรยานที่เกิดขึ้นและเส้นทางที่โครงการจัดการขี่จักรยานเป็นประจำทุกวันเสาร์ด้วย
รายงานโดย กวิน ชุติมา กรรมการเหรัญญิก มูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย