โครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ ปีที่ ๓ ที่เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๖๑ ได้สิ้นสุดลงและปิดไปแล้วอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ ๑๕ พ.ค. ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา จึงมีการจัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการสรุปผลการทำโครงการขึ้นให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ได้ถอดบทเรียนที่มีค่าออกมา และช่วยกันคิดช่วยกันเสนอว่าจะขยายผลยกระดับต่อยอดต่อไปอย่างไรหลังจากโครงการที่ได้รับการสนับสนุนขั้นต้นจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สิ้นสุดลง โดยจัดเป็นเวทีระดับภาค และเมื่อวันที่ ๒๔-๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๒ เป็นเวทีสำหรับโครงการย่อยในภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคเหนือ จัดที่โรงแรม เดอะรอยัล เจ็มส์ กอล์ฟ รีสอร์ท อำเภอศาลายา จังหวัดนครปฐม มีผู้เข้าร่วม ๕๕ คนจาก ๓๐ โครงการย่อยและทีมงานวิทยากรกระบวนการ ๑๒ คนจากมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย ซึ่งเป็นผู้บริหารจัดการโครงการให้ สสส.
โดยสรุป ผู้เข้าร่วมประชุมได้ถอดบทเรียนจากการทำงานที่ผ่านมาราวหนี่งปีออกมาใน ๓ ประเด็นหลักคือ
๑) กลไกการมีส่วนร่วม
กลไกการมีส่วนร่วมต้องมาจากชุมชน จึงต้องสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง เมื่อชุมชนเข้มแข็ง ทุกส่วนก็พร้อมจะหยิบยื่นความช่วยเหลือ ต้องมีการประชุมอย่างต่อเนื่อง โดยความถี่ของการประชุมขึ้นอยู่กับบริบทของพื้นที่ เมื่อประชุมแล้วต้องได้ข้อตกลงร่วมกัน มีความร่วมมือของเครือข่าย กิจกรรมที่เกิดขึ้นต้องล้อกับตัวชี้วัด มีคณะทำงานที่มีการแบ่งบทบาทชัดเจน กับข้าราชการที่มีตำแหน่งสำคัญ เช่น นายอำเภอ ควรให้เกียรติ โดยมีทีมเลขาฯ เป็น “คนชง” ว่าจะให้เขาทำอะไร มีการพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายที่ร่วมทำงาน เกิดแผนการพัฒนาชุมชนที่มุ่งสร้างเสริมสุขภาพโดยเน้นไปที่ส่งเสริมการเดินใช้จักรยาน ให้มีเกิดการดำเนินงานของชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม
การขยายผลยกระดับต่อยอดต้องมีกิจกรรม “ดีๆ” ต่อเนื่องตลอด และมีการประชาสัมพันธ์ให้ทุกส่วนเห็นและเข้ามาร่วม ชวนชุมชนอื่นใกล้เคียงมาร่วม โดยเฉพาะชุมชนที่เคยร่วมกันทำงาน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีการแสวงหางบประมาณจากส่วนอื่นมาสนับสนุนเพิ่ม มีการตั้งชมรมที่มีแนวทางชัดเจนและมีองค์ประกอบห้าประการ (กรรมการ กติกา กิจกรรม กองทุน และการสร้างเครือข่าย) เพื่อเพิ่มการยอมรับ เพิ่มอำนาจการต่อรอง มีการเก็บทำข้อมูลสร้างสถานะทางวิชาการและทำเป็นศูนย์ข้อมูล และถ้าส่งเสริมการใช้จักรยานด้วยการท่องเที่ยวชุมชนก็ควรตั้งศูนย์บริการนักท่องเที่ยวด้วย
การถอดบทเรียนในกลุ่มย่อยสามกลุ่ม และมาสรุปแลกเปลี่ยนแบ่งปันกันในกลุ่มใหญ่
๒) การสร้างการรับรู้เพื่อเพิ่มจำนวนผู้ใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน
การเพิ่มจำนวนผู้ใช้จักรยานมีฐานอยู่บนการเพิ่มการรับรู้มี ซึ่งมี ๓ ระดับ (๑) รับรู้ว่ามีการสร้างชุมชนจักรยาน (๒) รับรู้และบอกต่อให้คนอื่นปฏิบัติ และ (๓) รับรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ต้องทำให้ได้ถึงระดับที่ ๓ จึงจะเกิดผลลัพธ์จริง ตามตัวชี้วัดของโครงการ เป้าคือคนในชุมชนร้อยละ ๕๐ ใช้จักรยาน โดยเพิ่มจำนวนผู้ใช้จักรยานร้อยละ ๓๐ วิธีการหลักคือ จัดการรณรรงค์ปั่นจักรยาน ซึ่งแตกที่ต่างกันออกไปตาม ๗ รูปแบบการสร้างชุมชนจักรยาน จากนั้นจัดสัมมนาในชุมชน และทำประชาสัมพันธ์ โดยใช้สื่อสังคมเป็นหลัก ซึ่งในยุคนี้คือเฟสบุ๊กกับไลน์ นอกจากนั้นก็ใช้เวทีประชาคมและการประชุมต่างๆ ของกลุ่มเป้าหมายที่มีอยู่ สร้างข้อตกลงร่วมกัน และจัดทำแผนส่งเสริมการใช้จักรยานเสนอเข้าสู่แผนชุมชน
การขยายผลยกระดับต่อยอดต้องเสนอข้อมูลผ่านแผนพัฒนาตำบลห้าปี หลายพื้นที่ทำเวทีประชาคมไปแล้ว บางแห่งยังไม่ได้ แกนนำจึงไปนำเสนอให้เข้าไปอยู่ในแผน มีการทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างหน่วยงานจ่างๆ ในพื้นที่ เชิญนายอำเภอมาเป็นพยานเพื่อให้มีนำหนัก ตั้งชมรมหรือกลุ่มเพื่อให้หนักแน่นทำงานได้ต่อเนื่อง เชื่อมกับกองทุนหลักประกันสุขาพระดับตำบล ต้องเขียนโครงการให้ได้มาตรฐานและมีการประเมินผล ไปเชื่อมกับกิจกรรมที่มีอยู่ เช่น Change for Health การทำสงครามกับขยะ กิจกรรมที่ทำให้เน้นไปที่กิจกรรมที่คนทั่วไปเห็นได้ดี เช่น ป้าย สำคัญมาก ใช้ “โมเดลที่มีชีวิต” คือบุคคลที่เป็นต้นแบบ เช่น ผู้นำชุมชน และจัดกิจกรรมประจำ เช่น จัดปั่นทุกเช้าวันเสาร์ สร้างโอกาสให้คนมาขี่จักรยานมากขึ้นและพบว่าขี่จักรยานไปไหนมาไหนได้
๓) การจัดกายภาพสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมการใช้จักรยานอย่างปลอดภัยร่วมกับยานพาหนะอื่น
กิจกรรมมีได้มากมายหลายอย่าง โดยต้องจัดให้เหมาะกับช่วงวัยและบริบทชุมชน จึงต้องรู้ชัดว่ากลุ่มเป้าหมายหลัก-รองคือใคร ตัวอย่างกิจกรรม เช่น การทำแผนที่เส้นทางจักรยาน, การทำป้าย ซึ่งบางแห่งใช้วัสดุเหลือใช้ แต่เกิดปัญหาสูญหายหรือถูกเก็บเนื่องจากถูกมองว่ารกรุงรัง จึงต้องคิดใหม่เพื่อให้อยู่ยั่งยืนได้ออกมาว่าต้องมีการทำแบบให้ได้มาตรฐานและทำแผนการติดตั้งออกมาให้ชัดเจน เสนอให้องค์การปกครองท้องถิ่นรับรอง, การจัดระเบียบพื้นที่ให้มีที่จอดจักรยานในจุดสำคัญ เช่น วัด ตลาด และประกาศให้คนทั่วไปรู้, การปรับสภาพถนนให้รองรับการใช้จักรยาน ฯลฯ ที่สำคัญต้องทำให้กิจกรรมเหล่านี้บรรจุอยู่ในแผนพัฒนาหลายปีของชุมชน
สำหรับการขยายผลยกระดับต่อยอด ควรมีการตั้งคณะกรรมการระดับตำบลขึ้นมา โดยคณะกรรมการระดับชุมชนมาร่วมกัน คุยกันว่าจะปรับปรุงสิ่งแวดล้อมทางกายภาพอย่างไรให้เอื้อต่อการใช้จักรยาน และจากการที่เมื่อชุมชนเราเป็นต้นแบบเป็นกำลังใจให้ชุมชนใกล้เคียงแล้ว จึงควรเสนอให้สร้างเส้นทางจักรยานให้เชื่อมต่อกันระหว่างหลายชุมชนด้วย มีการประชาสัมพันธ์ทุกช่องทางที่ทำได้ตั้งแต่ปากต่อปากไปจนถึงป้ายต่างๆ และมีจักรยานสาธารณะให้ใช้
ท้ายที่สุดมีข้อเสนอจากหลายชุมชนให้การใช้จักรยานในการทำสงครามกับขยะเป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกันในระดับจังหวัด-ระดับชาติ
รายงานโดย กวิน ชุติมา กรรมการเหรัญญิก มูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย