การสร้างชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ หมายถึงแนวทางการส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันของคนในชุมชน เกิดจำนวนผู้ใช้จักรยานในชีวิตประวันเพิ่มขึ้น ภายใต้โครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ มี 4 แนวทางคือ (1) การสร้างการรับรู้ ให้คนในชุมชนสนใจปรับพฤติกรรมมาใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน โดยทำได้หลายวิธี คือ การพูดคุยทำความเข้าใจ การประชาสัมพันธ์ เป็นต้น (2) การปรับสภาพแวดล้อมทางกายภาพในชุมชนให้สามารถใช้จักรยานร่วมกับรถประเภทอื่นๆอย่างปลอดภัย เช่น การปรับสภาพไหล่ทาง การทำป้ายเตือน เป็นต้น (3) การสร้างภาคีในพื้นที่เข้ามาร่วมขับเคลื่อนการสร้างชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะเพื่อความยั่งยืน เช่น การตั้งคณะทำงานการประชุมวางแผน ติดตาม และ(4) การเชื่อมโยงการส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันกับบริบทหรือแนวทางการพัฒนาของพื้นที่ มูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้สนับสนุนให้เกิด ชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ มาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 มีชุมชนปฎิบัติการมากกว่า 200 ชุมชนทั่วประเทศ ซึ่งพบว่า การสร้างชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะสามารถหนุนเสริมการพัฒนาพื้นที่ได้หลายมิติ รวมถึงมิติ การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธุ์ และ 4 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมาคณะทำงานโครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะได้ลงพื้นที่เพื่อร่วมกิจกรรมและติดตามโครงการพื้นที่จังหวัดนครนายก พระนครศรีอยุธยา และชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเป็นทุนเดิม และกระบวนการทำงานโครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะเป็นเครื่องมือหนุนเสริมการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
น.อ.นิสิต อัตตเจริญวงศ์ ผู้รับผิดชอบโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยจักรยาน 4 วิถีชุมชนไทยพวน เทศบาลตำบลเกาะหวาย จังหวัดนครนายก มีเป้าหมายเรื่องการจัดการท่องเที่ยวชุมชนบนฐานวัฒนธรรม “ไทยพวน” กล่าวว่า กระบวนการสร้างชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ มีบทบาทในการหนุนเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน ดังนี้ (1) มีคนในชุมชนใช้จักรยานในชีวิตประจำวันทำให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในชุมชนเลือกใช้จักรยานเดินทางท่องเที่ยวในชุมชน (2) มีคนหรือจุดบริการซ่อมจักรยานให้กับนักท่องเที่ยวและคนในชุมชนสามารถใช้จักรยานในชุมชนได้ และ(3) ทำให้ชุมชนเห็นความสำคัญของการสร้างเครือข่ายเพื่อนบ้านรอบชุมชนให้เกิดผู้ใช้ เส้นทาง และชุมชนที่มีการจัดการท่องเที่ยวโดยการใช้จักรยานเชื่อมโยงกัน
นางธัญยธรณ์ ธัญสิริพิสิฐ ผู้รับผิดชอบโครงการชุมชนจักรยานตำบลคลองจิก เพื่อสุขภาวะ 2018 อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โครงการมีเป้าหมายเรื่องการสร้างมาตรการ แรงจูงใจให้คนในชุมชนสามารถใช้จักรยานในชีวิตประจำวันได้ และตำบลคลองจิกเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว คุณธัญยธรณ์ กล่าวถึง การท่องเที่ยวโดยการใช้จักรยานเรียนรู้ชุมชนของพื้นที่คลองจิกว่า“ ทุกคนในชุมชนต้องสามารถใช้จักรยานบนถนนร่วมกันอย่างปลอดภัย ” นักท่องเที่ยวจะใช้จักรยานเพื่อการเรียนรู้ชุมชนถ้า (1) คนในชุมชนมีผู้ใช้จักรยานเป็นประจำ เช่น นักเรียนสามารถใช้จักรยานไปโรงเรียน พนักงานในนิคมอุตสาหกรรมใช้จักรยานจากที่พักถึงที่ทำงาน (2) ที่พักสถานประกอบการโฮมสเตร์มีจักรยานไว้บริการนักท่องเที่ยว
นายสาโรช โรจน์สกุลพานิช ผู้รับผิดชอบโครงการชุมชนจักรยานเพื่อท่องเที่ยวตามวิถีสร้างสุขภาวะ ตำบลตะเคียนเตี้ย อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี มีเป้าหมายเรื่องการส่งเสริมการใช้จักรยานของคนในชุมชนกลุ่มต่างๆ เช่น ผู้สูงอายุ เด็กและเยาวชน ในพื้นที่ท่องเที่ยวโดยชุมชน กล่าวว่า โครงการดำเนินการเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ใช้จักรยานในพื้นที่ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ 1 ใน 3 ของใช้จักรยานเพื่อการท่องเที่ยวโดยชุมชน ปัจจัยสำคัญของพื้นที่ตะเคียนเตี้ยประกอบด้วย (1) มีวิถีการใช้จักรยานในชุมชน หากคนในพื้นที่ไม่มีการใช้จักรยาน จะเกิดเพียงการบริการให้เช่าจักรยานเท่านั้น (2) มีหน่วยจัดการท่องเที่ยวชุมชนมีการบำรุงรักษาจักรยานให้พร้อมใช้เสมอ (3) มีองค์กรพี่เลี้ยงช่วยคิด ตัวอย่างตำบลตะเคียนเตี้ยที่มี องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) สำนักงานพื้นที่พิเศษที่ 3 สนับสนุนทั้งองค์ความรู้ เครื่องมือ เพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็งสามารถจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนได้อย่างยั่งยืน และรวมถึงการส่งเสริมให้เกิดการใช้จักรยานเพื่อการท่องเที่ยวชุมชนด้วย
จากทรรศนะ มุมมองเรื่องการส่งเสริมการใช้จักรยานในพื้นที่ท่องเที่ยวโดยชุมชนจาก 3 ท่านนี้มี่ประสบการณ์ ผ่านการลงมือทำจริงด้วยตัวเอง คณะทำงานโครงการจักรยานเพื่อสุขภาวะเห็นว่ามีประโยชน์มากในการสกัดเป็นแนวทางการทำงาน เรื่องการส่งเสริมการใช้จักรยานในพื้นที่ท่องเที่ยวชุมชนต่อไปให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และพื้นที่อื่นๆที่มีการทำงานอยู่ในพื้นที่จะสามารถนำไปปรับประยุกต์ในการทำงานต่อไป แต่นี้เป็นตัวอย่าง 1 ใน 60 โครงการที่กำลังดำเนินการอยู่เท่านั้น ยังมีอีกหลากหลายรุปแบบ เช่น การส่งเสริมการบริการสาธารณสุขชุมชน การส่งเสริมเด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุ การรักษาสิ่งแวดล้อมชุมชน และการบูรณาการงานท้องที่ท้องถิ่น เป็นต้น ซึ่งหากสนใจ ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามรายละเอียด ได้ที่สถาบันการเดินและการจักรยานไทย หมายเลขโทรศัพท์ 02 618 4434 หรือ Email : 60cc.info@gmail.com