เมื่อวันที่ 11-12 ธันวาคม 2561 กลุ่มองค์กรต่างๆ ที่ได้ร่วมกับสถาบันการเดินและการจักรยานไทยดำเนินงานส่งเสริมการใช้จักรยานในพื้นที่ต่างๆ ทุกภาคของประเทศไทยในรอบปี 2561 ได้มาร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ สรุปบทเรียนรู้ ท้องถิ่น ภาคี พื้นที่ดำเนินงาน และทีมปฏิบัติการสื่อ ที่โรงแรมกานต์มณี พาเลซ กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมจาก 10 โครงการ 37 คน ซึ่งเป็นนักวิชาการ 8 คน ผู้บริหาร-บุคลากรองค์การปกครองท้องถิ่น 7 คน ผู้อำนวยการโรงเรียน 2 คน และที่เหลือเป็นประธานและผู้แทนชุมชนในพื้นที่โครงการโดยมีกรรมการกับเจ้าหน้าที่ของสถาบันฯ เข้าร่วมเก็บเกี่ยวประสบการณ์ความรู้ด้วย 10 คน
โครงการดังกล่าวเป็นโครงการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาเมือง-ชุมชนให้เป็นมิตรต่อการเดินและการใช้จักรยาน ที่ทำเป็นกรณีศึกษาใน 7 พื้นที่ ได้แก่ (1) เทศบาลตำบลบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา (2) สำนักงานเขตสาทร กรุงเทพมหานคร (3) เทศบาลตำบลเชียงคำ อ.เชียงคำ จ.พะเยา (4) เทศบาลนครพิษณุโลก จ.พิษณุโลก (5) เทศบาลตำบลนาทวี อ.นาทวี จ.สงขลา (6) เทศบาลนครหาดใหญ่ จ.สงขลา และ (7) เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์, เป็นโครงการสร้างเครือข่าย 2 โครงการคือ โครงการสร้างเครือข่ายผู้ใช้จักรยานและการเดินภาคใต้ตอนบน กับโครงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พิจิตรเมืองจักรยาน พันธกิจร่วมภาคี และท้ายสุดคือ โครงการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งพัฒนาการใช้สื่อสังคมพื่อเผยแพร่ความรู้และประชาสัมพันธ์ข่าวสารของสถาบันฯ
กระบวนการประชุมเริ่มต้นด้วยการทำแผนที่เหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับการเดินและการใช้จักรยานที่เกิดขึ้นในไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อย่างเช่นการที่ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยผลักดันให้สมัชชาสุขภาพแห่งชาติผ่านมติเมื่อปี 2555 สนับสนุนการส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน มาจนถึงการที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้บรรจุเรื่องการเดินและการใช้จักรยานไว้ด้วยเป็นครั้งแรกในฉบับที่ 12 (2560-2564) และการที่องค์การสหประชาชาติที่ไทยเป็นสมาชิกอยู่ด้วย ประกาศในปี 2561 ให้วันที่ 3 มิถุนายน เป็นวันจักรยานโลก จากการขับเคลื่อนของสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรปและพันธมิตรการจักรยานโลกที่ชมรมฯ และสถาบันฯ เป็นสมาชิก
จากนั้นเวลาทั้งหมดในวันแรกใช้สรุปผลสำเร็จของโครงการที่เป็นรูปธรรม ปัจจัยที่ยังให้เกิดความสำเร็จนั้น และข้อจำกัดในการดำเนินงาน ออกมาเป็นบทเรียน โดยทำในกลุ่มย่อยที่แบ่งตามโครงการทั้งสิบ จากนั้นแต่ละกลุ่มส่งตัวแทนมาสรุปเสนอให้ผู้เข้าร่วมทั้งหมดได้รับรู้บทเรียนและซักถามร่วมแสดงความเห็น วันที่สองของการประชุมใช้วิธีการแบ่งกลุ่มย่อยตามโครงการในการพูดคุยแล้วนำมาสรุปเสนอให้ผู้เข้าร่วมทั้งหมดได้ร่วมรับรู้แลกเปลี่ยนเช่นเดียวกับวันแรก โดยวิเคราะห์กิจกรรมที่มีผลกระทบและทำให้โครงการประสบผลสำเร็จ รวมทั้งวิธีการแก้ไขอุปสรรคข้อจำกัดให้โครงการประสบความสำเร็จมากที่สุดด้วย ส่วนในช่วงบ่ายให้กลุ่มผู้ดำเนินงานแต่ละโครงการตั้งเป้าหมายของโครงการที่จะทำให้ได้จริงจากการดำเนินงานต่อในปี 2562 แล้วคัดเลือก 1 เป้าหมายมาเสนอในกลุ่มใหญ่ บอกวัตถุประสงค์ แจกแจงผู้มีส่วนได้เสียและผลประโยชน์ที่ได้รับโดยจัดรูปแบบให้เป็นคล้ายๆ กับการแถลงข่าว ผู้เข้าร่วมอื่นๆ ทำตัวเป็นเหมือนนักข่าวป้อนคำถาม ทำให้ได้ทั้งสาระเนื้อหาและสนุกสนานน่าสนใจน่าฟังอีกด้วย ประเด็นและบทเรียนที่ได้ออกมาในสองวันนี้มีมากมาย บางอย่างมีข้อสรุปชัดเจน บางอย่างก็ยังต้องหาทางทำหาทางแก้ไขปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้นต่อไป เช่น อุปสรรคในด้านความยั่งยืนจากการเปลี่ยนตัวผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่นเป็นระยะ แก้ไขด้วยการทำงานกับข้าราชการประจำ โดยเฉพาะที่รับผิดชอบด้านยุทธศาสตร์การพัฒนา หรือกลวิธีในการสร้างหรือเพิ่มความปลอดภัยให้กับการเดินการใช้จักรยานที่มีหลากหลาย สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ ในเมื่อบริบทของแต่ละพื้นที่แตกต่างกันในหลายด้าน ทำให้ต้องคิดค้นหรือเลือกรับเอาวิธีการที่สอดคล้องมาใช้ บ้างก็เป็นนวัตกรรม
สุดท้ายของการประชุม ศาสตราจารย์กิติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ อดีตประธานและปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาสถาบันฯ ได้มานำเสนอภาพที่ให้แง่คิดต่างๆ ในการส่งเสริมการใช้จักรยาน เช่น ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่คนจะมาใช้จักรยานหรือไม่คือความปลอดภัย ซึ่งทางจักรยานไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูปของการสร้างความปลอดภัย-การส่งเสริมการใช้จักรยาน อาจเป็นได้หลายทาง ต้องมาช่วยกันคิด บางสภาพเงื่อนไขหรือท้องถิ่น ทำทางจักรยานไม่ได้ผล สิ้นเปลืองงบประมาณ หรืออาจก่อผลทางลบได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคนในพื้นที่นั้นไม่ได้ใช้ไม่ได้ต้องการ เช่นเดียวกับการใส่หมวกนิรภัยไม่ได้ทำให้ปลอดภัยเสมอไป, การส่งเสริมจะได้ผลต่อเมื่อผู้ที่มาใช้และประชาชนในพื้นที่ได้ประโยชน์ ซึ่งมีได้หลายทาง ไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพ อาจเป็นเรื่องทางเศรษฐกิจ ประหยัด-ลดค่าใช้จ่าย อาจเป็นเพราะใช้ได้จริง สะดวกกว่าการใช้รถ อาจารย์ฝากท้ายว่า เราควรคิดเอาจักรยานเป็นสื่อในการสร้างสังคม ดังนั้นต้องคิดใหญ่ มองให้เห็นความเชื่อมโยงกับมิติหลายๆ ไม่ใช่แค่ให้ขี่จักรยานได้เท่านั้น ขณะเดียวกันแม้จะคิดใหญ่ ก็ต้องทำไปให้สำเร็จทีละก้าว ทำให้คนเข้าใจการใช้จักรยาน สร้างให้เป็นวัฒนธรรม เป็นหลักคิดเป็นการใช้ชีวิต สามารถเข้าถึงการใช้จักรยานได้ทั้งข้อมูล ความคิด และการปฏิบัติ และท้ายสุดต้องมีการพัฒนา จึงจะสำเร็จต่อเนื่องยั่งยืน
การประชุมเชิงปฏิบัติการสองวันนี้เป็นการประชุมที่คึกคักและได้ผลลัพธ์ออกมาอย่างเป็นชิ้นเป็นอัน เป็นรูปธรรม เห็นแนวทางการดำเนินงานต่อในปี 2562 ค่อนข้างชัดเจนที่สถาบันฯ สามารถนำมาสังเคราะห์จัดเป็นส่วนหนึ่งของโครงการใหญ่เพื่อขอการสนับสนุนต่อไป
รายงานโดย กวิน ชุติมา กรรมการสถาบันการเดินและการจักรยานไทย