สสส.นำทีมผนึกเทศบาลพะเยา รุก “พะเยาสุขหลากวัย(ปั่น)ไปด้วยกัน”ครั้งที่ 3 สานฝันยุทธศาสตร์พัฒนาเมือง

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เดินหน้าลุยต่อเนื่อง หลังส่งมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทยควงคู่ไปกับกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) จับมือเทศบาลเมืองพะเยา กับโครงการพะเยาสุขหลากวัย(ปั่น)ไปด้วยกัน

นับเป็นครั้งที่ 3 ต่อเนื่องมาจากปี 2563 โดยตัวโครงการเน้นปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัย ใช้กิจกรรมจักรยานเป็นตัวประสานได้ทั้งการเชื่อมความสัมพันธ์คนหลากวัย กิจกรรมเชิงท่องเที่ยวและวัฒนธรรมชุมชน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์พัฒนาเมืองพะเยาทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเล็งเห็นว่า ความสำเร็จของยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้นั้น รากฐานของครอบครัว ชุมชนจะต้องแข็งแกร่งเสียก่อนจึงจะสำเร็จได้ รวมถึงเปิดมุมมองพะเยาในอีก 3 ปีข้างหน้า ที่ต้องแข็งแกร่งเท่าทันความเปลี่ยนไปของโลกในยุคเทคโนโลยีที่ทวีบทบาทในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นยังต้องดำรงไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมอันงดงาม

ครั้งที่ 3 ลงลึกหลากวัยร่วมใจรับ-เรียน-รู้ 4 ประเด็นหลัก
ล่าสุดเมื่อวันที่ 19-20 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ทางทีมข้างต้นได้ลงพื้นที่ที่จังหวัดพะเยาอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 โดยหัวข้อหลักจะต่อเนื่องมาจากกิจกรรมในปี 2563 ที่ทางทีมงานได้นำมาศึกษาบริบทและความต้องการของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่เทศบาลเมืองพะเยา โดยการลงพื้นที่ครั้งที่ 3 นี้ ประเด็นหลักๆจะว่าด้วย การสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (Payao Social Connection 2040) กิจกรรมที่กลั่นกรองมาเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลเชิงลึก ผ่านทางกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและชุดประสบการณ์จากการทดลองผ่านกิจกรรมที่ทางทีมงานได้ศึกษาเตรียมพร้อมไว้ก่อนลงพื้นที่

สำหรับกิจกรรรมหลักในครั้งนี้ อยู่ภายใต้หัวข้อที่ว่า “ชวนติดชวนมองภาพอนาคตแม่ต๋ำในอีก 3 ปีข้างหน้า” โดยได้แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนเทศบาลเมืองพะเยา 2) กลุ่มคณะขับเคลื่อนปฎิสัมพันธ์ระหว่างงวัย และ 3) สภาเด็กและเยาวชนเทศบาลเมืองพะเยา เพื่อรวบรวมความคิดเห็นของแต่ละกลุ่มมาเป็นบทวิเคราะห์เงื่อนไข ปัจจัย โอกาสและอุปสรรคในการพัฒนาเมือง

ทั้งนี้ในแต่ละกลุ่มจะต้องร่วมระดมสมองใน 4 ประเด็น ว่าด้วย 1) ความแปรปรวนและวิกฤติสิ่งแวดล้อม 2)สังคมออนไลน์ซื้อง่ายขายคล่อง 3) อคติระหว่างวัยลดคุณค่าและบทบาทของครอบครัว และ 4) ทุนวัฒนธรรมสร้างเศรษฐกิจและชุมชน

อย่างไรก็ดีจะเห็นได้ว่า กิจกรรมในครั้งนี้จะเน้นการสร้างปฏิสัมพันธ์ของทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในสังคมมากยิ่งขึ้นสอดคล้องกับเทรนด์ผู้สูงอายุในอนาคตอันใกล้ ตามแนวคิดที่ว่า เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

การจัดกิจกรรมในครั้งนี้จบลงด้วยดี ท่ามกลางความพึงพอใจของทุกฝ่าย โดยทางสสส,และทีมหวังเพียงว่า ผลที่ได้รับจากการจัดกิจกรรมครั้งนี้จะเป็นแนวทางที่ดีสำหรับเทศบาลพะเยาที่จะได้ต่อยอดผลักดันยุทธศาสตร์เมืองให้ประสบความสำเร็จต่อไป

ความเป็นมาของพะเยาที่นำมาสู่ความร่วมมือ “โครงการพะเยาสุขหลาก(ปั่น)ไปด้วยกัน”

วัฒนธรรมล้ำค่า พัฒนาสู่สากล
ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี

นี่คือคำขวัญประจำจังหวัด และเพื่อให้ได้ตามคำขวัญนั้น ทางผู้บริหารจังหวัดพะเยาจึงต้องเร่งสร้างพันธกิจ ได้แก่ พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน บริหารทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนและบริหารการจัดการท่องเที่ยว ทั้งนี้ทั้งนั้นการพัฒนาที่แน่นอนว่า จะต้องเร่งวางมาตรการในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานและการดำรงชีวิตของประชาชนซึ่งนับเป็นกลไกหลักที่จะขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จ ดังนั้น ทางเทศบาลพะเยาจึงวางแผนพัฒนาการดำรงชีวิตของประชาชน ส่งเสริมอาชีพในชุมชน ยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงาน บริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น เห็นได้ว่า ก่อนที่ไปสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่นั้น การสร้างความแข็งแกร่งในแต่ละชุมชนให้ครอบคลุมในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นสถาบันครอบครัว การตระหนักถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นและทรัพยากรแหล่งท่องเที่ยว เมื่อทุกชุมชนมีความแข็งแกร่งแล้ว ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จะนำมาซึ่งเศรษฐกิจที่ดี และแน่นอนที่ว่าจะเป็นพลังผลักดันให้พะเยาก้าวสู่ความสำเร็จตามยุทธศาสตร์ที่วางแผนไว้ได้ในที่สุด

ปฎิบัติการ “แม่ต๋ำ” สร้างโมเดลต้นแบบ
ทั้งนี้ทางมูลนิธิฯและUNFPA นำเสนอเทศบาลเมืองพะเยา โดยเลือกพื้นที่ “แม่ต๋ำ” เพื่อปฎิบัติการภายใต้โครงการ “พะเยาสุขหลากวัย(ปั่น)ไปด้วยกัน” เป็นพื้นที่ต้นแบบด้านปฎิสัมพันธ์ระหว่างวัย (Intergeneration Interactive Model) ส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัวให้แน่นแฟ้น ต่อเนื่องมาถึงการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในชุมชน รวมถึงการวางเป้าหมายพร้อมรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ไม่ให้เกิดความโดดเดี่ยวอันเนื่องมาจากช่องว่างระหว่างวัย

กล่าวคือตลอดปี 2563 โครงการฯ ได้ดำเนินการศึกษาบริบทและความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่เทศบาลเมืองพะเยา ทำให้ได้มาซึ่งข้อมูลเชิงประจักษ์จากงานวิจัย การลงพื้นที่จัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็น และชุดประสบการณ์จากการทดลองจัดกิจกรรมเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัย และกิจกรรมจักรยานท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โครงการฯ ตั้งสมมติฐาน ‘วงจรทางสังคมและประชากร’ ของพื้นที่แม่ต๋ำ

เจาะลึกค้นพบ 5 ปรากฎการณ์ตัวแปรหลัก
นำวิถี “จักรยาน” เชื่อมอุดรอยเว้าแหว่ง

ผลการวิจัยวิเคราะห์ได้ว่า มี 5 ปรากฎการณ์ที่เปีนลักษณะเฉพาะที่ ได้แก่ ปรากฏการณ์ครอบครัวแหว่งกลาง ชุมชนเงียบเหงา และสังคมสูงอายุ เป็นตัวเร่งให้เกิดช่องว่างระหว่างวัย และอคติระหว่างวัยในพื้นที่ ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์การแยกส่วนกันของคนระหว่างวัย ทั้งในเชิงสถาบันและวัฒนธรรม และส่งผลไปยังปรากฏการณ์การถดถอยของการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นจากคนรุ่นเก่าสู่คนรุ่นใหม่ เมื่อไม่เกิดการถ่ายทอดของดีในพื้นที่ จึงเป็นการยากในการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น ซึ่งผลให้เกิดการอพยพออกนอกพื้นที่ของคนวัยทำงาน และเร่งให้เกิดปรากฏการณ์ครอบครัวแหว่งกลาง ชุมชนเงียบเหงา และสังคมสูงอายุ เช่นนี้ไม่สิ้นสุด

ทางมูลนิธิฯซึ่งมีความเชี่ยวชาญทางด้านข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานและขนส่งสาธารณะ รวมถึงเป็นองค์กรหลักที่สนับสนุนการใช้การเดินและจักรยานในชชีวิตประจำวันเป็นวิถีหลัก และเมื่อพิจารณาแล้ว เห็นว่า แม่ต๋ำ สามารถใช้ยุทธการจักรยานหรือชุมชนจักรยาน เข้ามาอุดช่องโหว่ข้างต้นได้ เพราะพื้นฐานชาวแม่ต๋ำนั้นเป็นคนในพื้นที่ที่มีความคุ้นเคยกับการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ดังนั้นการนำสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันมาขยายผล ย่อมน่าจะเกิดประสิทธิผลได้อย่างรวดเร็วและชัดเจน

อย่างไรก็ดีจักรยานยังเป็นอีกหนึ่งโอกาสคือการที่ประชาชนแม่ต๋ำสามารถทำกิจกรรมในชุมชนหรือสร้างสรรค์กิจกรรมในเชิงการท่องเที่ยวที่นำเสนอถึงวิถีชีวิตชุมชน ความสวยงามของสถานที่ท่องเที่ยวท้องถิ่น มีผลต่อสุขภาพจิตที่ดี ทั้งยังเป็นการออกกำลังกาย ที่สำคัญกิจกรรมทั้งหลายทั้งปวงยังช่วยให้ประชากรแม่ต๋ำเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างทั่วถึงทุกเพศทุกวัย

และเทคโนโลยีนี้เองที่สามารถทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างวัยได้ ถึงตรงนี้แล้วจะเห็นว่า จากแนวทางข้างต้นได้สอดคล้องกับเทศบาลพะเยาที่ต้องการปั้นแม่ต๋ำเป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาสู่ความเป็นเมืองสร้างสรรค์ ซึ่งโอกาสดังกล่าวช่วยดึงดูดให้องค์กรจากหลากหลายภาคส่วนเข้ามาในพื้นที่เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกัน อันจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นบนฐานทุนวัฒนธรรมของพื้นที่ได้

จุดประกายเทคโนโลยีล้ำนำชุมชนเจริญ
การมองภาพอนาคตของแม่ต๋ำในเบื้องต้น ยังพบว่าแม่ต๋ำสามารถนำนวัตกรรมและเทคโนโลยี เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมได้ รวมทั้งมีศักยภาพในการใช้เทคโนโลยี 3D-Printed เป็นตัวช่วยในงานด้านหัตถกรรมท้องถิ่น และมีโอกาสในการพัฒนาการใช้ประโยชน์พื้นที่สาธารณะสำหรับคนในชุมชน ตรงนี้เองที่จะช่วยลดปัญหาช่องว่างระหว่างวัย ขจัดรอยโหว่ ถือเป็นมาตรการที่เปิดทางให้ผู้สูงอายุได้ร่วมกิจกรรมกับคนหลากหลายวัย นับเป็นการรองรับนโยบายสังคมผู้สูงวัยไปในตัว

ทั้งนี้ ในปี 2563 ที่ผ่านมา โครงการฯ ได้ทดลองดำเนินการ 2 ทางออก ที่จะช่วยสร้างแม่ต๋ำให้เป็นชุมชนสร้างสรรค์ เพื่อสุขหลากวัย ประกอบด้วย การจัดกิจกรรมระหว่างวัยด้วยรูปแบบของการมีปฏิสัมพันธ์โดยตรง ผ่านการพบหน้า พูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์และทำภารกิจร่วมกัน ภายใต้รูปแบบ กิจกรรมพัฒนาทักษะเพื่อสุขหลากวัย ซึ่งมีหัวข้อการพัฒนาทักษะที่สามารถสร้างการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัยได้ เช่น การทำความเข้าใจคนหลากวัยโดยใช้โทรศัพท์มือถือเป็นสื่อกลาง และการอบรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นเพื่อให้เข้าถึงช่องทางขายสินค้าออนไลน์ เป็นต้น อีกทั้งยังได้ดำเนินการพัฒนาท้องถิ่นด้วยการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากคนหลากวัย ซึ่งได้ต่อยอดทุนวัฒนธรรมและทุนความเป็นชุมชนจักรยานของแม่ต๋ำ นำไปสู่การจัดทำร่างเส้นทางจักรยานท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และกิจกรรมทดลองปั่น ภายใต้ชื่อ “สุขหลากวัย ปั่นไปแอ่วแม่ต๋ำ ผ่อกว๊านพะเยา” ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากทั้งคนในชุมชนและบุคคลภายนอก

ดังนั้น เพื่อให้การพัฒนาในประเด็นเหล่านี้มีความยั่งยืน และเห็นผลในระยะยาวในระดับ Outcome นั่นคือ การสร้างชุมชนหลากวัยไปด้วยกันที่สร้างสรรค์ สู่สังคมสูงอายุ โครงการฯ จึงได้จัดกิจกรรมอีกครั้งในปีนี้ (2564) โดยเห็นว่า โครงการมีการตอบรับและเริ่มแสดงผลในทิศทางที่ดี ยกทั้งระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชน เศรษฐกิจชุมชน และที่สำคัญคือ ปฎิสัมพันธ์ในเชิงสังคมที่คนหลากวัยได้มีกิจกรรมร่วมกันมากยิ่งขึ้น ทั้งหลายทั้งปวงนั้นล้วนตอบโจทย์ของเทศบาลพะเยา รวมถึงทางมูลนิธิฯที่ได้เผยแพร่องค์ความรู้เรื่องการใช้จักรยานสร้างความยั่งยืนและ UNFCA ที่ได้เห็นคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น “แม่ต๋ำโมเดล” จึงนับเป็นความสำเร็จอีกก้าวที่ในอนาคตจะเป็นชุมชนสร้างสรรค์เป็นแบบอย่างให้ชุมชนอื่นๆในพะเยาได้พัฒนาต่อๆไป และที่สุดแล้วพะเยาก็จะกลายเป็นเมืองที่แข็งแกร่งขึ้นในทุกๆด้านอีกด้วย

Print Friendly, PDF & Email