คำปราศรัยของ ดร.เลสเซ็ค เจ สิบิลสกี้ เนื่องในโอกาสที่นำเสนอร่างมติ “วันจักรยาน” ต่อที่ประชุมองค์การสหประชาชาติในนครนิวยอร์ค เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2561
ที่มา:worldbank.org
ฯพณฯ เอกอัครราชทูต อัคโซลตัน อตาเยวา, ฯพณฯ
เอกอัครราชทูตชาติอื่นๆ
ท่านสุภาพสตรี และสุภาพบุรุษ
ประการแรก ผมอยากจะขอกล่าวขอบคุณท่านทูตอตาเยวาที่เชิญผมมางานนี้ แต่ที่สำคัญที่สุด นักศึกษาสังคมวิทยาวิทยาลัยมอนต์โกเมอรีของผมและตัวผมอยากแสดงความขอบคุณ ฯพณฯ อย่างลึกซึ้งที่สุดที่รับภารกิจการตั้งวันจักรยานโลกเพื่อไปเฉลิมฉลองและส่งเสริมเครื่องมือที่พึ่งพาได้มากที่สุด ใช้งานได้ดีที่สุด และซื่อสัตย์มากที่สุดที่มนุษย์เคยประดิษฐ์ขึ้นมาไปทำ ในขณะนี้ จักรยานไม่ได้รับการยอมรับหรือหลักประกันใดๆ สำหรับอนาคตของมันในฐานะที่เป็นเครื่องมือแห่งการพัฒนา
จักรยานมีส่วนช่วยผู้คนในพื้นที่ที่ได้รับบริการน้อยกว่าที่ควรได้รับอย่างไม่มีสิ่งใดทำได้เหมือนและมีคุณสมบัติที่ในที่สุดก็ได้รับความสนใจจากประชาคมโลก เป็นความสนใจที่น่าแปลกใจว่ามันยังไม่เคยได้รับมาก่อน นี่เป็นเรื่องจริงอย่างยิ่งในกรณีของนักการเมืองที่มักประเมินพลังของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งที่คิดถึงอิสรภาพในการขี่จักรยานอย่างจริงจังมากๆ ต่ำเกินไป ผู้ใช้จักรยานในฐานะที่เป็นพลเมืองมีแนวโน้มที่จะเป็นกลุ่มที่แข็งขันและมีการจัดตั้งอย่างสูงที่มีพลังการออกเสียงเป็นกลุ่มก้อนที่สามารถจะเอามาใช้ผลักดันการเปลี่ยนแปลงนโยบายในระดับโลกได้
วันนี้เราอยู่ห่างเพียงสามวันจากวันสตรีสากล และความสำคัญของสตรีอีกเรื่องหนึ่งที่ได้รับการเฉลิมฉลองในระดับโลกเช่นกัน มันเป็นความประจวบเหมาะอย่างวิเศษที่ผู้หญิงเป็นคนที่นำหน้าในความพยายามเสนอร่างมติให้มีการตั้งวันจักรยานโลกนี้ ถ้าจะไม่ให้กล่าวผิดพลาด แม้ว่าการนำจักรยานมาใช้จะได้รับความชื่นชมน้อยเกินไป จักรยานก็เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่สำคัญบนถนนต่อการปลดปล่อยของผู้หญิงในสหรัฐอเมริกา
จักรยานถูกนำมาใช้ในสหรัฐอเมริกาในช่วงปลายทศวรรษ 1860 แต่เมื่อมาถึงทศวรรษ 1890 การออกแบบเฟรมที่ลดท่อกลางลงไปและการมีชิ้นส่วนมาบังโซ่และซี่ล้อหลังทำให้เป็นไปได้ที่ผู้หญิงจะขี่จักรยานได้อย่างสง่างามเช่นกัน เพราะการออกแบบเช่นนี้ทำให้ขี่จักรยานได้อย่างปลอดภัยเมื่อสวมกระโปรง เมื่อการปรับปรุงเช่นนี้เกิดขึ้นก็ทำให้ผู้หญิงมีอิสรภาพส่วนตัวที่จะออกไปขี่จักรยานบนถนน
นักประวัติศาสตร์จักรยานกล่าวว่าไม่ควรประเมินผลกระทบของยานพาหนะสองล้อนี้ต่อการปลดปล่อยของผู้หญิงต่ำเกินไป ซูซาน บี แอนโทนี่ นักสตรีนิยมชาวอเมริกัน ผู้มีบทบาทในขบวนการเคลื่อนไหวให้ผู้หญิงมีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งในศตวรรษที่ 19 เรียกจักรยานว่าเป็น “เครื่องจักรอิสรภาพ”
พวกเราจำนวนมากประเมินความพิเศษ ระยะใช้งานอันยาวนาน และการใช้งานได้เอนกประสงค์ของจักรยานต่ำเกินไป เครื่องอุปกรณ์สองล้อที่เรียบง่ายนี้ได้รับใช้มนุษย์อย่างพึ่งพาได้มาสองศตวรรษแล้ว และมันเป็นอุปกรณ์ง่ายๆ ที่พึ่งพาได้และดีต่อสภาพแวดล้อมในการขนส่ง การดูแลสภาพแวดล้อม และสุขภาพ นอกจากนั้นยังมีบางสิ่งบางอย่างที่มีลักษณะเฉพาะมากๆ เกี่ยวกับจักรยาน การทำงานร่วมกันระหว่างจักรยานกับผู้ใช้ก่อให้เกิดความสร้างสรรค์ การเข้าร่วมทางสังคม และทำให้คนขี่ตระหนักได้ทันทีถึงสภาพแวดล้อมรอบข้างในท้องถิ่น ในฐานะเป็นเครื่องมือสำหรับการพัฒนา จักรยานเรียบง่ายคันหนึ่งมีความหมายไม่เพียงแค่เป็นการขนส่ง แต่ยังเป็นการจ้างงาน และเป็นกระทั่งการเข้าถึงการศึกษาและการดูแลสุขภาพ
คุณเคยพิศวงไหมว่าอะไรเกิดขึ้นกับสิ่งต่างๆ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นของสามัญธรรมดา อย่างเช่นลูกคิด สไลด์รูล นาฬิกาทราย หรือปากกาขนนก ไม่ต้องพูดถึงเครื่องบันทึกและเล่นเทป เครื่องเล่นแผ่นซีดี และเร็วๆนี้ สมุดจดที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ สิ่งของทั้งหมดนี้พบกับชะตากรรมเดียวกัน พวกมันถูกแทนที่ด้วยนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น เครื่องคิดเลข นาฬิกาอิเล็คโทรนิก ปากกาลูกลื่น และคอมพิวเตอร์ และอะไรเกิดขึ้นกับจักรยานเล่า? มันอยู่กับเรามากว่า 200 ปีแล้ว และมีการประเมินกันว่า ทุกวันนี้มีจักรยานกว่าสองพันล้านคันใช้กันอยู่ทั่วโลก และในปี 2593 จำนวนจักรยานอาจมากถึงห้าพันล้านคัน จักรยานเป็นมือเก่าและหลักสำคัญของการเคลื่อนที่ของมนุษย์ มากกว่าร้อยละห้าสิบของประชากรมนุษย์สามารถขี่จักรยานได้
ชีวิตใหม่ที่ชัดเจนของจักรยานสร้างโมเมนตัมที่ทรงพลังที่ควรจะยึดกุมและเก็บผนึกไว้ในรูปแบบของวันจักรยานโลกประจำปีที่องค์การสหประชาชาติอนุมัติรับรอง บางทีเป้าหมายเบื้องต้นของวันจักรยานโลกควรจะเป็นการทำให้คนทั้งโลกมีความรู้และทักษะเรื่องการใช้จักรยาน
จักรยานมีศักยภาพที่จะกอบกู้โลกได้ จักรยานสามารถทำอะไรได้มากมายจากจุดยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม จุดยืนด้านสุขภาพ โดยไม่ต้องเอ่ยถึงผลกระทบทางสังคม
จักรยานที่อ่อนน้อมถ่อมตนนี้เล่นบทบาทเป็นรองรถยนต์มานานเกินไปแล้ว การวิจัยแสดงให้เห็นว่าการใช้จักรยานไม่เพียงแต่สามารถตัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของภาคขนส่งลงไปร้อยละสิบ แต่เมื่อคนใช้จักรยานกันมากขึ้นก็จะช่วยเมืองต่างๆ ทั่วโลกประหยัดรวมๆ กันได้ถึง 25 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในระหว่างปี 2558 ถึง 2573 ด้วยการลดความจำเป็นที่จะต้องมีถนนราคาแพงและขนส่งสาธารณะ
วันที่ไม่มีรถยนต์ (Day Without a Car) หรือวันปลอดรถ (Car Free Day) มีความหมายแฝงทางด้านลบและไม่บรรลุความคาดหวังเสมอไป แน่นอนว่า วันจักรยานโลกจะนำมาซึ่งการส่งเสริมทางจิตวิทยาอย่างสร้างสรรค์ในทางบวกแก่ทุกคนที่เกี่ยวข้องในการเคลื่อนที่อย่างแข็งขัน
การใช้จักรยานต่อตรงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 12 เป้าหมาย และเชื่อมโยงทางอ้อมกับเป้าหมายดังกล่าวอีก 4 เป้าหมายจากเป้าหมายในระดับโลกทั้งหมดขององค์การสหประชาชาตินี้ 17 เป้าหมาย และได้ยังผลต่อเป้าหมายระดับโลกนี้ไปทั่วโลกแล้วด้วย ไม่ต้องสงสัยเลยว่า วันจักรยานโลกจะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายระดับโลกนี้ยิ่งขึ้น
การตั้งวันจักรยานโลกจะอนุญาตให้ชุมชนจักรยานโลกยกระดับความตื่นตัวเกี่ยวกับความสำคัญของการใช้จักรยานต่อทุกคนและในทุกทางทั่วโลก มีการใช้จักรยานในชาติร่ำรวยที่สุดเช่นเดียวกับในประเทศที่กำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุด บ่อยครั้งที่การใช้จักรยานเป็นวิธีที่เร็วที่สุด ยืดหยุ่นที่สุด และพึ่งพาได้ในการไปไหนมาไหนรอบเมืองและเดินทางระหว่างสถานที่ในชนบท จักรยานถูกใช้ในการเคลื่อนย้ายไม่เพียงแต่มนุษย์ แต่ใช้เคลื่อนย้ายสินค้าต่างๆ ด้วย และการใช้จักรยานสาธารณะได้กลายมาเป็นวิธีที่ทันสมัยที่สุดวิธีหนึ่งในการเคลื่อนที่จากจุด ก ไปยังจุด ข ในนครขนาดใหญ่
การใช้จักรยานให้ผลประโยชน์หลายอย่าง แก่สภาพแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ (ประหยัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดมลพิษทางอากาศ ลดมลพิษทางเสียง) แก่พลังงานและทรัพยากร (ประหยัดเชื้อเพลิง) แก่สุขภาพ (การเสียชีวิตลดลง ชีวิตที่มีสุขภาพดีขึ้น ผลประโยชน์ต่อสุขภาพจิต) แก่เศรษฐกิจจุลภาค (อุตสาหกรรมการผลิตจักรยาน การท่องเที่ยวด้วยจักรยาน) แก่เทคโนโลยีและการออกแบบ (การออกแบบเมือง) แก่เวลาและพื้นที่ (คุณภาพของเวลาที่ใช้ขี่จักรยาน สวัสดิการเด็ก คุณภาพของพื้นที่สาธารณะ) แก่กิจการทางสังคม (ความเท่าเทียมกันทางสังคม ความเท่าเทียมกันทางเพศ สวัสดิการเด็ก ความปลอดภัยทางสังคม) แก่การเคลื่อนที่ (การติดขัดคล่องตัวขึ้น การก่อสร้างและบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานถนน การอุดหนุนการขนส่งสาธารณะ การเชื่อมโยงระหว่างวิธีเคลื่อนที่ต่างๆ และด้วยหลายวิธีการเคลื่อนที่ ภาษีการขนส่ง และการอุดหนุนภาษี) และแก่การนำคนมาอยู่ด้วยกัน (ความหลากหลายของวัฒนธรรมการใช้จักรยาน ความยืดหยุ่นและความแข็งแรงทนทาน ความเชื่อมโยงระหว่างคน การเข้าถึง)
ผมหวังอย่างแท้จริงว่าการตั้งวันจักรยานโลกจะชี้เราไปสู่การค้นพบคำตอบที่ทรงพลังและแน่ชัดที่สามารถช่วยขับเคลื่อนมนุษยชาติจากความยากจนและความทุกข์ไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองและสันติภาพ… บางทีอาจจะด้วยการเคลื่อนไปบนสองล้อก็เป็นได้?
จักรยานสมควรได้รับวันๆ หนึ่งที่เราทุกคนชื่นชมและเฉลิมฉลองรูปแบบการเคลื่อนที่ที่เรียบง่าย สะอาด และทนทานนี้
ขอให้เราหวังว่าในไม่ช้าเราจะมีเหตุผลให้เฉลิมฉลองจักรยานของเราและได้ทำเช่นนั้นอีกทุกวันที่ 3 มิถุนายน ขอให้หวังว่า hashtag #WorldBicycleDay จะรวมผู้กระตือรือร้นในการใช้จักรยานและสื่อสังคมทั่วโลกในทุกภาษาเข้าเป็นหนึ่งเดียวทุกปีในวันที่ 3 มิถุนายน
วันจักรยานโลกจะทำให้เรามั่นใจว่า อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของจักรยานจะได้รับการดูแลเก็บรักษาเป็นอย่างดีไว้ให้คนรุ่นต่อไป เหนืออื่นใด การใช้จักรยานเป็นกิจของเราทุกคน ไม่ใช่เฉพาะนักจักรยาน
ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจ และขอบคุณอีกครั้งหนึ่งที่ได้รับเชิญให้มาอยู่ร่วมกับพวกท่านในบ่ายวันนี้
————————————————————————————————————————————————