หลังการประชุมสรุปงานและถอดบทเรียนโครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ ปีที่ 2 ในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งจัดขึ้นที่นครหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในระหว่างวันที่ 25-27 พฤษภาคมแล้ว คณะเจ้าหน้าที่ของสถาบันการเดินและการจักรยานไทยที่ดูแลโครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ และนายกวิน ชุติมา กรรมการ ของสถาบันฯ ได้เดินทางต่อทันทีไปยังเกาะลิบง ในตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ซึ่งมีโครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะในปีที่ 2 อยู่โครงการหนึ่ง จากทั้งหมด 4 โครงการในตรัง
ในคืนวันที่ 27 คณะของเราได้พูดคุยกับนายอับดุลรอหีม ขุนรักษา กำนันตำบลเกาะลิบง, นายประชุม เจริญฤทธิ์ ผู้ใหญ่บ้านบาตูปูเต๊ะ หมู่ 4 และนายสุเทพ ขันชัย ประธานกลุ่มอนุรักษ์ดุหยง(พะยูน) ผู้นำท้องถิ่นที่เป็นทางการทั้งสองยืนยันกับเราว่า โครงการฯ ได้เพิ่มจำนวนผู้ใช้จักรยานในชุมชน โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก-เยาวชน ไม่เพียงในบ้านทรายแก้ว หมู่ 7 ซึ่งเป็นพื้นที่โครงการโดยตรงเท่านั้น แต่ยังเพิ่มในหมู่บ้าน/ชุมชนอื่นด้วย (บนเกาะนี้มีหมู่บ้านอยู่ครึ่งหนึ่งหรือ 4 หมู่จากทั้งหมด 8 หมู่ของตำบลเกาะลิบง) โดยเฉพาะหมู่ 4 ซึ่งชุมชนตั้งอยู่ต่อเนื่องติดกัน และการใช้จักรยานแทบทั้งหมดบนเกาะนี้เป็นการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน มีการซื้อจักรยานใหม่ๆ เข้ามาใช้อย่างเห็นได้ชัด แม้ในคืนนั้นจะไม่มีคนจากองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะลิบงมาร่วมวงพูดคุยด้วยก็ตาม ผู้นำท้องถิ่นที่มายืนยันว่า ทาง อบต.สนับสนุนการส่งเสริมการใช้จักรยานบนเกาะนี้ เมื่อคุยกันถึงสิ่งที่จะทำต่อไปจึงมีความเห็นตรงกันว่าจะต้องไปพูดคุยกับทาง อบต. โน้มน้าวให้นำเรื่องการส่งเสริมการใช้จักรยานเข้าไปอยู่ในนโยบายและแผนงาน และจัดงบประมาณมาสนับสนุน, ควรจะมีการศึกษาให้มีข้อมูลพื้นฐานว่า บนเกาะนี้มีการครอบครองจักรยานอย่างไร ใช้จักรยานอย่างไร จะได้บอกได้ว่ามีการใช้จักรยานเพิ่มขึ้นอย่างไรเป็นตัวเลขรูปธรรม วัดผลสำเร็จของโครงการได้, และควรมีการประชาสัมพันธ์มากขึ้น การส่งเสริมการใช้จักรยานสามารถทำเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาให้เกาะลิบงเป็นเกาะคาร์บอนต่ำได้
(ซ้าย) บังบ่าว “ขี่จักรยานช่วยให้อาการกระดูกทับเส้นประสาทดีขึ้น” (ขวา) กลุ่มผู้หญิงผลิตเครื่องแกงบรรจุถุง
“ขี่จักรยานช่วยให้คนในชุมชนรู้จักกันดีขึ้น”
ในช่วงเช้าวันที่ 28 ผู้ใหญ่ประชุมกับคุณสะมะแอ สาระสิทธิ์ ได้พาคณะของสถาบันฯ ออกเดินในชุมชน พบปะพูดคุยกับชาวบ้าน ทำให้มองเห็นว่ามีความเป็นไปได้สูงที่เกาะนี้จะเป็น “เกาะจักรยาน” จากการที่เกาะนี้มีปัจจัยหลายประการที่เอื้อต่อการใช้จักรยานอยู่แล้ว เช่น บริบททางสังคมวัฒนธรรมที่เป็นชุมชนมุสลิม, ขนาดของเกาะที่มีพื้นที่เพียงราว 28,000 ไร่ มีถนนที่ปูด้วยตัวหนอนยาวรวมกันสิบกว่ากิโลเมตร มีรถยนต์เพียงไม่กี่คัน เป็นของคนในท้องถิ่นที่รู้จักกันหมด และจากการสังเกตการณ์ก็เห็นได้ว่ามิได้ขับเร็ว ให้ความระมัดระวังกับผู้ใช้ถนนคนอื่น, มีชาวบ้านหลายคนที่การใช้จักรยานทำให้มีสุขภาพดีขึ้น เช่น “บังบ่าว” ที่เคยป่วยด้วยอาการกระดูกทับเส้นประสาท เมื่อมาขี่จักรยานก็ทำให้อาการดีขึ้น เดินเหินได้สะดวก สามารถเป็น “คนต้นแบบ” ได้ และเกาะลิบงมีศักยภาพในการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยจักรยานสูง มีทั้งทรัพยากรทางธรรมชาติ เช่น พะยูนที่สามารถไปดูได้ไม่ยาก และทางประวัติศาสตร์-วัฒนธรรม เช่น กุโบ(สุสาน)เจ้าเมืองตรังและซากกำแพงโบราณ ที่น่าสนใจ และทางเขตห้ามล่าเกาะลิบงกำลังจะสร้างทางช่วงสุดท้ายราวสองกิโลเมตรให้สามารถขี่จักรยานวนได้รอบเกาะ
ป้ายแจ้งผู้ใช้ถนนว่าเข้าเขตชุมชนจักรยานและเตือนให้ลดความเร็วเพื่อความปลอดภัย ป้ายเหล่านี้ทำจากวัสดุที่เหลือใช้หรือทิ้งแล้ว ประหยัดค่าใช้จ่าย
กรรมการสถาบันฯ ได้ให้กำลังใจผู้นำท้องถิ่นและกระตุ้นให้ดำเนินงานต่อไปแม้โครงการและทุนเบื้องต้นจาก สสส. จะสิ้นสุดลงแล้วก็ตาม ทางสถาบันฯ ยินดีให้การสนับสนุนทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะในทางวิชาการและการประสานงานเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆ
รายงานโดย กวิน ชุติมา กรรมการ มูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย