Home สื่อและสิ่งพิมพ์ออนไลน์ News ให้รัดเข็มขัดแล้ว ‘ต้องลอกฟิล์มดำด้วย’

ดร.อมร วาณิชวิวัฒน์
คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ “ธรรมรัฐวิจารณ์”

 

 

 

 

กรุงเทพธุรกิจ
30 มีนาคม 2560
ขอสนับสนุนมาตรการหลายเรื่อง เกี่ยวกับการดูแลความปลอดภัยทางถนน ของรัฐบาลที่มีคำสั่งออกมา โดยใช้กลไกมาตรา 44
แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ทั้งกรณีการกำหนดให้มีการรัดเข็มขัด ของผู้ขับขี่และผู้โดยสารในรถรับจ้างสาธารณะ และรถยนต์ส่วนบุคคล เพราะจะเป็นทางหนึ่งที่จะบังคับทางอ้อม นอกเหนือมิติด้านความปลอดภัย ยังเป็นการฝึกให้มีจิตสำนึก และสร้างวินัยในการให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยของตนเองและเพื่อนร่วมทาง แต่เชื่อหรือไม่ว่าสิ่งที่กำหนดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ไปถึงการเรียนการทดสอบเพื่อรับใบขับขี่ ดูเหมือนจะมากมายหยุมหยิมแต่อาจลืมไปว่า อีกมาตรการสำคัญที่สมควรบังคับใช้ (มานานแล้ว) คือ เรื่องของฟิมล์ทึบแสง (Tint film) หรือฟิมล์สีเข้ม ฟิมล์สะท้อนแสงที่ไม่สามารถมองเห็นผู้ขับขี่ หรือสิ่งที่เกิดภายในยานพาหนะได้อย่างชัดเจน
แม้ว่าคนส่วนหนึ่งจะอ้าง “ความเป็นส่วนตัว” “ความเป็นสตรี บุรุษเพศในแง่การอาจถูกคุกคาม” “ความเห็นใจผู้นำเข้าสินค้า” กระทั่งเรื่องของ “อากาศที่ร้อนอบอ้าว” แต่เชื่อเถิดครับว่าสิ่งที่บ่นกันมาทั้งหลายนี้ หากรถทุกคันต่างร่วมมือกันไม่ติดฟิล์มทึบแสงแล้ว จะเพิ่มความมีประสิทธิภาพในการป้องกันอาชญากรรมเพราะต่างคนต่างเห็นซึ่งกันและกัน ต่างคนต่างระมัดระวังมีความ “สำรวม” ไม่ทำตัวเป็นอันธพาลบนท้องถนนเพราะนอกจากกลัวกล้องแล้ว ยังกลัวคนเห็นด้วยตากันสดๆ สำหรับเรื่องความร้อนวันนี้เรามีทั้งม่านบังแดดแบบพกพา หรือกระทั่งม่านที่ติดมากับรถสมัยใหม่ก็มีให้เลือกใช้ อย่าหาข้ออ้างกันเลยครับถ้าจะเห็นแก้ส่วนรวมกันจริงๆ หลายแห่งกำหนดพื้นที่ให้ติดได้เฉพาะขอบกระจกกันลม ในขอบเขตพื้นที่ที่ต้องเอาไม้บรรทัดมาวัด ไม่ให้เกินพื้นที่ที่จะบดบังทัศนวิสัยของคนขับหรือการมองเห็นด้วยซ้ำไป
สิ่งที่กล่าวหรือยกมาเป็นประเด็นนี้ ผมยืนยันได้ว่ามาจากประสบการณ์และการศึกษาวิจัย กระทั่งกระทรวงคมนาคมในยุคที่คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการฯ ร่วมๆ ยี่สิบปีมาแล้ว ทางกระทรวงฯ ได้เคยเชิญให้ไปเป็นคณะกรรมการศึกษาปัญหาการใช้ฟิมล์กรองแสงรถยนต์ ไม่ใช่ในเรื่องทางเทคนิค แต่เป็นการนำเอากรณีศึกษาที่มีผลงานวิจัยในต่างประเทศ มาสำทับรับรองว่า การอนุญาตให้รถไม่ติดฟิลม์กรองแสงแบบทึบแสงหรือให้แสงผ่านได้น้อยมาก มีผลอย่างยิ่งต่อการเกิดอาชญากรรมประเภทต่างๆ แน่นอนว่ามีหลายประเทศยังลังเล บางประเทศห้ามมากห้ามน้อยในแง่การอัตราส่วน หรือเปอร์เซ็นต์ที่ยอมให้แสงผ่านได้ แต่หลายประเทศที่ทำแล้วมีสถิติตัวเลข ทั้งจำนวนอุบัติภัยทางถนนและอาชญากรรม ที่เกี่ยวเนื่องลดลงมีให้เห็นอยู่เป็นจำนวนมาก ในบางรัฐเช่น นอร์ทคาโลไรนา ของสหรัฐอเมริกา ถือว่าการไม่ปฎิบัติตามกฎหมายดังกล่าวเป็นความผิดทางอาญาเลยก็มี
เรื่องความเห็นอกเห็นใจผู้ผลิตก็เอามาพูดกันได้ แต่เรากำลังจะทำประโยชน์ให้คนส่วนใหญ่ มาตรการต่างๆ ก็ต้องพิจารณาว่าจะช่วยเหลือเยียวยากันอย่างไร แต่ไม่อยากให้อะไรๆ ก็จะ “อุ้ม” กันท่าเดียว เพราะเวลาต้องลอกฟิมล์คนทั่วๆ ไป คงไม่ทำเองต้องไปที่ร้านขายฟิมล์เหล่านี้ เขาย่อมมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ของที่สั่งเข้ามาเท่าที่ทราบส่วนใหญ่ไม่สต๊อกกันไว้มาก หรือบางทีอาศัยมีคนมาขอติดฟิมล์ก็เที่ยวไปไล่หาในย่านเดียวกันเรียกว่าฝากสต๊อกไว้กับร้านข้างเคียงที่เป็นพันธมิตรก็มีให้เห็นทั่วไปอย่างย่าน “เชียงกง” แถวสามย่านใครๆ ก็ทราบดี
อยากให้รัฐพิจารณามาตรการนี้เสริมแรงเข้าไปอีก คนไทยจะได้เป็นคนรู้สึก “ละอายและเกรงกลัวต่อบาป” มีหิริโอตัปปะดังพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์กันมากขึ้น ที่เห็นขับแซงกัน ขับปาดหน้ากัน ไม่เปิดไฟสัญญาณ หรือ บีบแตรไล่รถคันอื่นอย่างสนุกมือ จะเห็นน้อยลงและสังคมแห่งความถ้อยทีถ้อยอาศัยจะเป็นจริงมากขึ้น การติดกล้องหน้ารถ ไม่ว่ากันครับ จะบังคับหรือไม่บังคับก็สุดแต่จะพิจารณา ปัญหาอยู่ตรงที่ความเป็นมนุษย์ตามแนวคิดของนักวิชาการอย่าง Douglas McGregor ผู้นำเสนอทฤษฎี X และ Y ที่นักบริหารต่างรู้จักดี น่าจะจำได้ว่า ในแง่มุมของความเป็นมนุษย์แบบทฤษฎี X คือ จะยึดอัตตาตัวตนและทำอะไรตามอำเภอใจ วิธีการคือการควบคุมดูแลและใช้มาตรการเข้มข้นกับคนพวกนี้จึงจะเอาอยู่ หลักการนี้น่าจะเป็นเหตุหนึ่งที่สังคมของเรายังคงมีโทษประหารแม้จะถูกบีบหลายๆ ทางเข้ามาให้เรายกเลิกมานานนมแล้วก็ตาม แต่คนไทยส่วนใหญ่ยังเห็นคนไทยด้วยกันแบบทฤษฎี X ที่ว่านี้ และยังประยุกต์เข้ากับกรรมวิธีในการแก้ปัญหาภัยพิบัติทางการจราจรทางบกได้อย่างแน่นอน ดังจะเห็นว่าเมื่อใกล้เทศกาลสำคัญขึ้นมาเมื่อใดรัฐบาลต้องออกแรงโหมแคมเปญรณรงค์มาตรการต่างๆ กันทุกครั้งแต่ตัวเลขสถิติความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินกลับไม่ลดลงเลย
ผมหวังที่จะให้บทความนี้ทราบไปถึงผู้เกี่ยวข้อง จะได้ลองคิดทบทวนเอาสิ่งที่เราเกือบจะทำสำเร็จมาแล้ว ถ้ากระแสการเมืองในบางยุคจะไม่กังวลต่อคะแนนนิยมมากเกินไป เราจะได้เห็นรถราที่ขับขี่สวนกัน สามารถให้เรามองเห็นว่าเป็นเด็ก ผู้หญิง วัยรุ่น คนชราพระภิกษุ นักบวช อลัชชี กระทั่งเป็นกากเดนสังคมจำพวกใดกันบ้างที่มาใช้รถใช้ถนนร่วมกับคนปกติทั่วไป ด้วยเหตุที่ในทางจิตวิทยาการให้คนมีพื้นที่จะมากน้อยอย่างไร ก็จะเป็นการกระตุ้นสันดานดิบหรือสัญชาตญาณความเป็นสิ่งมีชีวิตที่เห็นแก่ตัวออกมาได้ทุกเมื่อ ยิ่งอยู่ใน “กล่อง (รถยนต์)” ที่มีฟิมล์ทึบแสงขนาดไฟฉายแรงสูงยังส่องไฟไม่เห็นคนข้างในก็จะยิ่งสันนิษฐานได้ว่า นั่นคือการสร้างอาณาเขตให้คนที่อยู่ในกล่องนึกจะทำอะไรก็ได้ตามใจชอบอย่างไม่ละอายและไม่เกรงกลัว ของแบบนี้ไม่ลองไม่รู้ แต่สิ่งที่นำเสนอไม่ใช่การลองผิดลองถูก แต่เป็นสิ่งที่มีประจักษ์พยานความสำเร็จมามากแล้ว อย่ารีรอครับ ทั้งกรมการขนส่งทางบก ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เชื่อมั่นว่าถ้าทำสำเร็จเสริมไปกับมาตรการอื่นๆ ภัยอันตรายบนท้องถนนจะหายไป กระทั่งทำให้บรรยากาศสังคมที่เอื้ออาทรต่อกันกลับคืนมาหาพวกเราอีกครั้งหนึ่ง

Print Friendly, PDF & Email