Home สื่อและสิ่งพิมพ์ออนไลน์ News ชุมชนเหมือดแอ่ จ.กาฬสินธุ์ สังคมปลี่ยนจากเด็กเริ่มปั่น

เรียบเรียงจากวารสาร “เดินไปปั่นไป” โดยมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย

ขอบคุณภาพจากเพจหนูนาอาสาปั่นสุข ชุมชนบ้านเหมือดแอ่ และคุณวรรณภา ศักดิ์ศิริ และขอบคุณหมอป๋อง คุณวรรณภา ศักดิ์ศิริที่ช่วยเขียนคำบรรยายภาพสนุกๆ ให้ครับ

“บ้านเหมือดแอ่” เป็นอีกชุมชนจักรยานที่น่าสนใจ คือเปลี่ยนให้คนในชุมชนหันมาใช้จักรยานได้มากขึ้น ด้วยการเริ่มทำกิจกรรมกับน้องๆ เยาวชน จนเมื่อมีการระบาดของโควิด 19 ชุมชนแห่งนี้ก็พลิกวิกฤติเป็นโอกาส กลับทำให้คนในชุมชนปั่นจักรยานกันมากขึ้นกว่าเดิมเสียอีก เขาทำได้ยังไง…เราไปดูกันครับ

เริ่มต้นที่ชวนเด็กปั่น
การสร้างชุมชนจักรยานของบ้านเหมือดแอ่ ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ เริ่มต้นด้วยการทำงานกับกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ สร้างความเข้าใจกับเครือข่ายภายในชุมชน ชักชวนให้เข้ามาร่วมขับเคลื่อนชุมชนจักรยานตั้งแต่ปี 2561

คุณวรรณภา ศักดิ์ศิริ หรือคุณหมอป๋อง นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอกมลาไสย ผู้รับผิดชอบโครงการอาสาปั่นจักรยานสร้างสุขชุมชนเหมือดแอ่เพื่อสุขภาวะ เล่าถึงที่มาในการจุดประกายให้ชาวบ้านในชุมชนหันกลับมาใช้จักรยานว่า

“สำนักสาธารณสุขอำเภอเราเป็นเครือข่ายตั้งต้น หลังจากนั้นก็ใช้เครือข่ายชุมชนในการขับเคลื่อน ทั้งผู้นำชุมชน ครู เครือข่ายป่าชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนกิจกรรมชุมชนจักรยาน ซึ่งเราจะทำงานเล็งเป้าหมายไปที่เด็กและเยาวชน

แต่ก่อนเข้าถึงเด็กๆ เราต้องทำความเข้าใจกับผู้ปกครองก่อน เพราะผู้ปกครองก็จะห่วงเรื่องความปลอดภัย จึงต้องทำความเข้าใจกับเครือข่ายที่อยู่ในชุมชนว่าเราจะทำยังไง ผู้ปกครองถึงจะยินดีให้เด็กมาร่วม กิจกรรมกับเรา แล้วผู้ปกครองต้องมาด้วย ไม่ใช่ปล่อยเด็กมาอย่างเดียว”
หนูนาอาสาปั่นสร้างสุข
เมื่อทำความเข้าใจกับชุมชนและผู้ปกครองแล้ว จึงเริ่มชักชวนเด็กในชุมชนจำนวน 100 กว่าคนให้มาทำกิจกรรมในวันเสาร์ เป็นกิจกรรมสร้างการเรียนรู้เรื่องต่างๆ ไม่ใช่แค่การมาปั่นจักรยานด้วยกัน รวมถึงได้สร้างกลุ่มเยาวชน “กลุ่มหนูนาอาสาปั่นสร้างสุข” เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมด้านต่างๆ ร่วมกันต่อไป
เมื่อเด็กปั่นสังคมก็เปลี่ยน
คุณหมอป๋องเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงภายในบ้านเหมือดแอ่ ว่าหลังจากที่มีกิจกรรมปั่นจักรยานให้เห็นเป็นประจำทำให้คนในชุมชนเกิดความคิดใหม่เกี่ยวกับจักรยาน คนที่เคยเลิกใช้จักรยานเพราะมองว่าเชย เริ่มเปลี่ยนทัศนคติเห็นว่าการใช้จักรยานเป็นเรื่องทันสมัย

“การเปลี่ยนแปลงชัดเจน แต่ก่อนพอเด็กขึ้น ป.5 ป.6 หรือเริ่มเข้ามัธยม เขาจะให้เด็กขี่มอเตอร์ไซค์เลย เพราะจักรยานของเด็กเริ่มชำรุด แต่ตอนนี้ผู้ปกครองเห็นความสำคัญ จักรยานคันเก่าก็เอามาซ่อม เด็กก็เริ่มใช้จักรยานมากขึ้น ผู้ปกครองเห็นว่าเด็กเริ่มใช้จักรยาน เขาก็เริ่มหันมาใช้ด้วย เขารู้สึกว่าการปั่นจักรยานเป็นแบบอย่างที่ดีให้เด็กได้ ชาวบ้านเห็นคนปั่นจักรยานกันมากๆ มีกิจกรรมปั่นกัน ก็มีความสุข มีความเฮฮาเขาก็อยากมาร่วมด้วยเพิ่มขึ้น”

ประกอบกับระยะทางจากหมู่บ้านไปถึงถนนสายหลักยาวแค่ 2 กิโลเมตร ชาวบ้านที่นอกจากจะหันมาใช้จักรยานสัญจรภายในชุมชนแล้ว ก็เริ่มปั่นจากหมู่บ้านออกไปต่อรถประจำทางที่ถนนใหญ่เพื่อเข้าสู่ตัวเมืองร้อยเอ็ดหรือกาฬสินธุ์
สร้างตัวช่วยภายในชุมชนอย่างเป็นระบบ
อีกเรื่องหนึ่งที่ช่วยให้การขับเคลื่อนชุมชนจักรยานของบ้านเหมือดแอ่แข็งแรง คือเมื่อเห็นว่าภายในชุมชนไม่มีบริการซ่อมจักรยาน ผู้นำชุมชนได้ชักชวนให้คนที่มีจิตอาสา คนที่ยังไม่มีอาชีพอื่น และพอจะมีความรู้เรื่องการซ่อมจักรยาน ให้เปิดบ้านเป็นคลินิกซ่อมจักรยาน ชุมชนสนับสนุนด้วยการให้ยืมเงินลงทุนในขั้นเริ่มต้นโดยไม่คิดดอกเบี้ย เพื่อให้เกิดคลินิกจักรยานสนับสนุนการใช้จักรยานของคนในชุมชนอย่างเป็นระบบ
ปั่นรู้สู้โควิด
จนมาถึงช่วงที่เชื้อไวรัสโควิด 19 แพร่ระบาด พื้นที่อื่นอาจจะเงียบเหงา แต่บ้านเหมือดแอ่กลับมีคนปั่นจักรยานกันมากขึ้น เพราะการเดินทางจักรยานรักษาระยะห่างได้ แถมยังได้ออกกำลังด้วย คุณหมอป๋องเล่าถึงเรื่องนี้ว่า

“ในช่วงโควิดการใช้จักรยานในชุมชนยังใช้กันเกือบเหมือนปกติ แต่กิจกรรมรวมกลุ่มปั่นเราจะไม่มีเลย เด็กๆ ก็จะอยู่บ้านมากขึ้น ออกมาทำกิจกรรมนอกบ้านน้อยลง เขายังปั่นในชีวิตประจำวันกันปกติ ปั่นไปซื้อของ ปั่นในหมู่บ้านมากขึ้นด้วย เพราะอยู่บ้านกักตัว ไม่ต้องเร่งรีบไปไหน และที่เพิ่มขึ้นมากจริงๆ คือปั่นออกกำลังกาย แต่จะปั่นใครปั่นมัน เด็กๆ ก็ออกมาปั่นออกกำลังกายกันมากขึ้น ส่วนใหญ่จะปั่นกันคนเดียวหรือกลุ่มเล็กๆ 3-4 คน ไม่รวมกลุ่มใหญ่”

เห็นไหมครับว่าจักรยานนั้นดีแค่ไหน มาขับเคลื่อนให้ชุมชนของเราเป็นชุมชนวิถีจักรยานกันเถอะครับ


Print Friendly, PDF & Email