การส่งเสริมให้มีการใช้งานศึกษาวิจัยเป็นเครื่องมือในการทำงานส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในไทยเป็นแนวทางการทำงานของเรามาตั้งแต่ต้น จากชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยมาสู่สถาบันการเดินและการใช้จักรยานไทย จากที่เริ่มด้วยการศึกษาค้นคว้าสร้างองค์ความรู้ของเราเองขึ้นมาในไทย มาสู่การวิจัยเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนการสร้างเมืองและชุมชนเดิน-จักรยาน โดยมีนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศเข้ามาร่วมกันทำงาน จากการศึกษาเป็นชิ้นๆ มาสู่การทำงานเกาะติดต่อเนื่อง โดยเฉพาะการทำงานใน 9 พื้นที่ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2560 ในจังหวัดน่าน พะเยา พิจิตร พิษณุโลก กาฬสินธุ์ ระนอง สงขลา ฉะเชิงเทรา และกรุงเทพมหานคร
ในการเดินหน้างานส่วนนี้ต่อให้เข้มข้นยิ่งขึ้น สถาบันฯ ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการกับนักวิจัยที่เข้าร่วม เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2562 ที่ห้องประชุมของสถาบัน เริ่มต้นด้วยการชี้แจงถึงแนวการทำงานล่าสุดของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยเฉพาะยุทธศาสตร์การส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันของ สสส. ที่ให้เน้นผลของการดำเนินโครงการส่วนหนึ่งไปที่การเพิ่มกิจกรรมทางกาย (Physical Activity – PA) ลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง (Sedentary Behaviors) อย่างชัดเจน จากนั้นทางสถาบันก็ได้เสนอวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และความคาดหวังของโครงการในปีนี้ และให้นักวิจัยร่วมออกแบบเครื่องมือในการวัดผลที่เกิดขึ้นและพัฒนาตัวชี้วัดชุมชน-เมืองสุขภาวะด้วยการเดินการใช้จักรยาน โดยหากทำได้อยากให้วัดผลการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และวัดความคุ้มค่าคุ้มทุนทางเศรษฐกิจของการมีสุขภาพดี โดยใช้เครื่องมือประเมินผลทางเศรษฐกิจของสุขภาพ (Health Economic Assessment Tool – HEAT) ด้วย รวมเป็นสามประเด็น ในการนี้ทางสถาบันได้เสนอให้ใช้แบบสอบถามเก็บข้อมูลเพื่อประเมินผลสามประการที่เกิดขึ้นจากการเดินการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน โดยได้ทำร่างแบบสอบถามมาเป็นตุ๊กตาในการพูดคุยด้วย นักวิจัยที่เข้าร่วมประชุมได้หารือถึงความเป็นไปได้ ข้อจำกัด และแนวทางในการเก็บข้อมูลเพิ่มเข้าไปให้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินโครงการในปีนี้ จนได้ข้อสรุปร่วมกันกว้างๆ เพื่อให้ไปปรับให้เหมาะสมกับสภาพของแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกันในการนำไปใช้ต่อไป จากนั้นก็ได้มีการลงนามในสัญญาการทำงานร่วมกันเป็นการปิดท้าย
รายงานโดย กวิน ชุติมา กรรมการ-เหรัญญิก สถาบันการเดินและการจักรยานไทย