สถาบันเดิน-จักรยานไทยร่วมกับ อพท. เข้าพบนายกเมืองพัทยา
ตามที่สำนักงานพื้นที่พิเศษ ๓ ขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ซึ่งดูแลการดำเนินงานของ อพท. ในพื้นที่ภาคตะวันออก ได้ติดต่อให้สถาบันการเดินและการจักรยานไทยดำเนิน “โครงการส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันและการท่องเที่ยวชุมชนนาเกลือ เมืองพัทยา” มาตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๖๑ นั้น เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ที่ผ่านมา อพท.เขต ๓ ได้นำคณะผู้เกี่ยวข้องกับโครงการเข้าแจ้งและหารือการดำเนินงานในโครงการนี้กับ พล.ต.ต.อนันต์ เจริญชาศรี ปฎิบัติหน้าที่นายกเมืองพัทยา ที่สำนักงานเทศบาลเมืองพัทยา
คณะที่เข้าพบนายกเมืองพัทยาประกอบด้วย นายธิติ จันทร์แต่งผล ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ ๓ กับเจ้าหน้าที่ อพท.สองคน, นางรัตนา อ่องสมบัติและนางอรุณี หอทองคำ แกนนำกลุ่มส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนนาเกลือ และคณะของสถาบันฯ คือ นายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ รองประธานและผู้อำนวยการ, นส.อัจจิมา มีพริ้ง รองผู้อำนวยการ, นายอารดิน รัตนภู ผู้ประสานงานโครงการ และนายกวิน ชุติมา กรรมการ-เหรัญญิกของมูลนิธิสถาบันฯ
ผู้อำนวยการสถาบันฯ ได้เล่าถึงความเป็นมาและแนวทางการทำงานของโครงการนี้อย่างกว้างๆ ว่าเน้นไปที่การส่งเสริมให้ชาวบ้านในพื้นที่ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันและเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวใช้จักรยาน จากนั้นได้รายงานว่าในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สถาบันฯ ได้ลงศึกษาพื้นที่ คุยกับแกนนำกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ เห็นความเป็นได้ในการส่งเสริมการใช้จักรยานและพัฒนาระบบการขนส่งของชุมชน โดยให้เชื่อมโยงกับการพัฒนาพื้นที่ที่ดำเนินการอยู่ รวมทั้งอุปสรรคและข้อจำกัดต่างๆ ด้วย
นายกเมืองพัทยากล่าวชื่นชมความพยายามที่จะช่วยให้การใช้จักรยานเป็นรูปธรรม ยินดีร่วมกิจกรรมของโครงการ ทางกายภาพตรงไหนควรปรับปรุง ให้ส่งรายละเอียดมา ไม่ว่าจะเสนอโดยตรงต่อตัวนายกเองหรือเสนอผ่านสมาชิกสภาเทศบาลก็ได้ สามารถจัดสรรงบประมาณสนับสนุนได้ไม่มีปัญหา มีระเบียบกฎหมายรองรับ อย่างไรก็ตาม นายกเมืองพัทยาแสดงความกังวลว่า มีข้อจำกัดในการทำช่องทางเฉพาะให้จักรยาน (bike lane) เนื่องจากผังเมือง ตรงนี้ผู้อำนวยการสถาบันฯ ได้ทำความเข้าใจว่า การส่งเสริมการใช้จักรยานต้องพิจารณาบริบทของแต่ละพื้นที่ จะไปลอกที่ทำได้ในอีกเมืองอีกจังหวัดมาใช้ไม่ได้ มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้คนออกมาใช้จักรยานกัน ไม่จำเป็นต้องทำทางจักรยานเสมอไป แนวทางของสถาบันฯ เป็นการใช้ถนนร่วมกันอย่างปลอดภัยมากกว่า ซึ่งมีเงื่อนไขปัจจัยให้ทำได้หลายทาง เช่น การจำกัดความเร็วยานยนตร์ การทำผิวถนนให้ราบเรียบไม่มีอุปสรรคสะดวกสบายในการขี่จักรยาน และการมีที่จอดจักรยานที่ปลอดภัย-จักรยานไม่หาย เป็นต้น ซึ่งนายกเมืองพัทยากล่าวว่า ยินดีที่จะช่วยทำให้ถนนเรียบ จัดที่จอดรถจักรยานให้ แต่เป็นห่วงเรื่องการควบคุมพฤติกรรมคนในการใช้ถนน คนไทยไม่เคารพกติกา การบังคับใช้กฎหมายก็ไม่เข้มงวด ต้องควบคุมต้องแก้ให้เป็นระบบเป็นนโยบายรัฐบาลเหมือนอย่างในยุโรป
ในช่วงท้ายของการพูดคุย ผู้อำนวยการสถาบันฯ ได้แจ้งให้นายกเมืองพัทยาทราบว่า องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้วันที่ 3 มิถุนายนเป็น “วันจักรยานโลก” ให้มีการจัดกิจกรรมและเฉลิมฉลองกัน ทางสถาบันฯ พยายามแจ้งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในไทย รวมทั้งส่วนราชการ ร่วมจัดกิจกรรมเฉลิมฉลอง ซึ่งพลตำรวจตรีอนันต์กล่าวว่ายินดีร่วมกิจกรรมเต็มที่ในฐานะนายกเมืองพัทยา
ส่วนผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ ๓ อพท. แจ้งให้นายกเมืองพัทยาทราบว่า ขั้นต่อไปจะมีการจัดประชาคมสอบถามความเห็นคนในพื้นที่ถึงการเข้าร่วมในโครงการ ได้ผลอย่างไร รวมทั้งกิจกรรมส่งเสริมการใช้จักรยานที่หารือตกลงกันว่าจะทำ จะนำมารายงานให้นายกเมืองพัทยาทราบต่อไป
รายงานโดย กวิน ชุติมา สถาบันการเดินและการจักรยานไทย
๓๐ เมษายน ๒๕๖๑