องค์การอนามัยโลกตีพิมพ์ร่างแผนปฏิบัติการโลกเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกาย หรือ Global Action Plan for the Promotion of Physical Activity (GAPPA) 2018-2030 เผยแพร่ออกมาเมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2560 เรียกร้องให้มีการให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกกับการพัฒนาการเดินและการใช้จักรยาน เพื่อให้เกิดผลกระทบมากที่สุดดีที่สุดในการลดการเสียชีวิตอันเนื่องมาจากการขาดกิจกรรมทางกายหรือมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ
ร่างแผนปฏิบัติการฉบับนี้ใช้ข้อมูลมหาศาลที่องค์การสหประชาชาติมีอยู่และให้คำแนะนำออกมาอย่างกว้างขวาง ครอบคลุมตั้งแต่การกีฬา การศึกษา ไปจนถึงการวางผังเมือง แต่ที่โดดเด่นที่สุดคือความเชื่อมโยงระหว่างการขนส่ง(การเดินทาง)กับสุขภาพ ซึ่งตรงนี้องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ทำให้พฤติกรรมในชีวิตประจำวันของเราเป็นการออกกำลังกาย ก่อนหน้านี้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมขององค์การสหประชาชาติก็ได้เรียกร้องไปแล้วให้รัฐบาลประเทศต่างๆ จัดงบประมาณด้านการขนส่งร้อยละ 20 ไปเพื่อการเดินทางที่ทำให้มีสุขภาพดี (active travel) ดังที่สถาบันการเดินและการจักรยานไทย/ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ได้นำมารายงานเผยแพร่ออกไปแล้ว รวมทั้งทำเป็นข้อเสนอต่อผู้กำหนดนโยบายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย
ร่างแผนปฏิบัติการนี้มีวัตถุประสงค์อยู่ 4 ข้อ ซึ่งแต่ละข้อมีศักยภาพที่จะขับเคลื่อนให้มีการเดินทางที่ทำให้มีสุขภาพดี อันได้แก่การสร้างสังคมที่ทำให้มีสุขภาพดี(active society) การสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้มีสุขภาพดี(active environment) การสร้างชีวิตที่ทำให้มีสุขภาพดี(active lives) และการสร้างระบบต่างๆ ที่ทำให้มีสุขภาพดี(active systems)
องค์การอนามัยโลกได้เคยเรียกร้องมาก่อนหน้านี้แล้วให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ทำให้การเดินทางที่ทำให้มีสุขภาพดีเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตประชาชน เนื่องจากขณะนี้เบาหวานและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases หรือ NCDs) ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขาดกิจกรรมทางกายได้กลายเป็นสาเหตุหลักของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของคนทั่วโลกไปแล้วแทนที่โรคติดต่อดังที่เป็นมาในอดีต มีคนราว 15 ล้านคนที่การเสียชีวิตเกี่ยวข้องกับการขาดกิจกรรมทางกาย ซึ่งสามารถป้องกันได้
แต่ความก้าวหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ในรัฐต่างๆ เป็นไปอย่างเชื่องช้า อย่างเช่น เป้าหมายที่สมัชชาอนามัยโลก (World Health Assembly) ตั้งเอาไว้ด้วยความสมัครใจของสมาชิกในปี พ.ศ. 2556 ว่าจะลดการขาดกิจกรรมทางกายลงร้อยละ 10 ในปี 2568 องค์การอนามัยโลกบอกว่าการทำให้บรรลุเป้าหมายนี้เป็นเรื่องที่ “ท้าทาย” อย่างยิ่ง (อันเป็น “ภาษาการทูต” เพราะๆ ที่หมายความว่า “ยากมาก-ยังไปไม่ถึงไหน”) ทั้งที่การศึกษายืนยันว่า การขับเคลื่อนให้มีการเปลี่ยนพฤติกรรมไปใช้วิธีการเดินทางที่ทำให้มีสุขภาพดีนั้นมีผลรางวัลตอบแทนก้อนใหญ่ สหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป (European Cyclists’ Federation – ECF) ซึ่งได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญในการร่างแผนปฏิบัติการนี้ด้วย ประเมินว่า การส่งเสริมให้คนใช้จักรยานเป็นวิธีการเดินทางในชีวิตประจำวันนั้นสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพประชาชนของรัฐได้มากถึงปีละ 191,270 ล้านยูโร หรือกว่า 7 ล้านล้านบาท การใช้จักรยานในชีวิตประจำวันได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วอย่างแจ่มชัดว่าช่วยลดภาระอันหนักอึ้งของรัฐในการดูแลสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะโรคเบาหวานแบบ 2 (Type 2 Diabetes) และยังลด “ความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากสาเหตุใดๆ” ด้วย
สหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรปแถลงว่า แผนปฏิบัติการนี้จะทำให้การเดินและการใช้จักรยานได้แสดงพลังออกมาอย่างเต็มที่ในฐานะวิธีการเดินทางขนส่ง สหพันธ์ฯ ยินดีที่องค์การอนามัยโลกตระหนักถึงบทบาทและศักยภาพอันใหญ่หลวงที่การเดินกับการใช้จักรยานสามารถช่วยป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้ และจะนำประสบการณ์จากการทำงานกับสหภาพยุโรปในเรื่องนี้ไปสนับสนุนให้องค์การอนามัยโลกบรรลุเป้าหมายและกระบวนการที่เสนอไว้
ขณะนี้องค์การอนามัยโลกได้เปิดให้ทั้งหน่วยงานต่างๆ ขององค์การสหประชาชาติเอง รัฐสมาชิก และผู้ที่ไม่ได้เป็นรัฐสมาชิก ให้แสดงความเห็นกับร่างแผนปฏิบัติการฉบับนี้ได้ทางอีเมลที่ gappa@who.int จนถึงวันที่ 22 กันยายน 2560 และรัฐสมาชิกจะมาพิจารณาร่างสุดท้ายของแผนปฏิบัติการนี้กันในเดือนพฤษภาคม 2561