โจทก์ร่วม-ญาตินักจักรยานที่เสียชีวิตให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลังศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษา
ตรงกลางภาพจากซ้ายไปขวา – นายแก้ว คำแก้ว, นส.ก้องกานต์ ย่องลั่น และนางแก้ว คำแก้ว
ย้อนความกลับไปเมื่อสองปีก่อน เชื่อว่าพวกเราผู้ใช้จักรยานยังคงจำกันได้ดีถึงเหตุการณ์เศร้าสลดที่มีหญิงสาวผู้หนึ่งดื่มสุราจนเมามายและขับรถด้วยความเร็วสูงชนนักจักรยานชมรมจักรยานเสือสันทรายเสียชีวิตทันที ๓ คน คือนายชัยรัตน์ ย่องลั่น, นายสมาน กันธา และนายพงษ์เทพ คำแก้ว และบาดเจ็บอีก ๒ คน คือว่าที่ร้อยตรีสุพล ตาสิงห์ กับว่าที่ร้อยตรีพงษ์ พลสิงห์ ที่อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๘ กลายเป็นข่าวใหญ่ที่สาธารณชนและสื่อมวลชนให้ความสนใจ นำไปสู่การเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ที่นำโดยมูลนิธิเมาไม่ขับและชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย มีการขี่จักรยานรณรงค์จากเชียงใหม่ลงมากรุงเทพฯ สมทบด้วยนักจักรยานจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ นำรายชื่อประชาชนกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คนไปมอบให้นายกรัฐมนตรีและประธานศาลฎีกา เรียกร้องให้ดำเนินการลงโทษผู้กระทำผิดอย่างเฉียบขาด เพื่อให้เป็นมาตรการป้องปรามมิให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก
ในด้านการแสวงหาความยุติธรรม ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการสองด้านไปพร้อมๆกัน ด้านหนึ่งได้ติดต่อหาทนายความที่เชี่ยวชาญทางด้านคดีของประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิ-ไม่ได้รับความเป็นธรรมมาช่วยว่าคดี และเข้าพบผู้บริหารสภาทนายความแห่งประเทศไทยหารือถึงการทำงานร่วมกันให้เกิดความเป็นธรรมในการดำเนินงานทางกฎหมายในคดีที่เกี่ยวกับเหตุทางถนนที่เกี่ยวกับผู้ใช้จักรยาน รวมทั้งการให้รับดูแลคดีนี้ในกรอบคดีที่มีแนวโน้มว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม อีกด้านหนึ่ง ชมรมฯ ได้ติดต่อกับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายให้ทำโครงการศึกษาว่าควรจะต้องมีการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมอย่างไรบ้างเมื่อให้เกิดความปลอดภัยบนท้องถนน ซึ่งจะได้ประโยชน์ไปถึงผู้ใช้ถนนทุกคนไม่เพียงแต่ผู้ใช้จักรยาน มีการจัดสัมมนากับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายครั้ง จนได้ข้อเสนอเป็นรายงานทางวิชาการส่งไปยังสำนักนายกรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
สำหรับการดำเนินคดี พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่เป็นโจทก์ และญาติของผู้เสียชีวิตกับผู้เสียหายคือนักจักรยานที่บาดเจ็บเป็นโจทก์ร่วมคือ นางสาวก้องกานต์ ย่องลั่น โจทก์ร่วมที่ ๑, นางสาวนินนท์ ย่องลั่น โจทก์ร่วมที่ ๒ (โจทก์ร่วมที่ ๑ และ ๒ เป็นธิดาของนายชัยรัตน์ ย่องลั่น), นางปราณี กันธา (ภรรยานายสมานกันธา) โจทก์ร่วมที่ ๓, นายแก้ว คำแก้ว โจทก์ร่วมที่ ๔, นางแก้ว คำแก้ว โจทก์ร่วมที่ ๕ (โจทก์ร่วมที่ ๔ และ ๕ เป็นบิดามารดาของนายพงษ์เทพ คำแก้ว) และ ว่าที่ร้อยตรีสุพล ตาสิงห์ โจทก์ร่วมที่ ๖ กับ นางสาวภัทร์ชุดา จายเรือน จำเลย เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๒๙๕๒/๒๕๕๘ หมายเลขแดงที่ ๑๘๙๕/๒๕๕๙ เรื่องความผิดต่อชีวิต ประมาท ความผิดต่อพระราชบัญญัติจราจร ลหุโทษ ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๙ ให้จำคุกผู้กระทำผิด ๒ ปีโดยไม่รอลงอาญา และให้จำเลยจ่ายค่าสินไหมให้โจทก์ร่วมด้วย แม้จะน้อยกว่าจำนวนที่ฟ้องร้องไปมาก ทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำตัดสินดังกล่าว เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยได้รายงานไว้แล้วอย่างละเอียดและต่อเนื่องในเว็บไซต์และเฟสบุ๊กของชมรมฯ สามารถกลับไปอ่านย้อนหลังได้
ญาตินักจักรยานที่เสียชีวิตก่อนอ่านคำพิพากษาที่ศาลประจำจังหวัดเชียงใหม่
นั่งซ้ายสุด – นายแก้ว คำแก้ว และนางปราณี กันธา, ยืนขวาสุด – นส.ก้องกานต์ ย่องลั่น
ล่าสุดเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๐ เวลาประมาณ ๙.๔๕ นาฬิกา ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๕ โดยโจทก์ร่วมได้ไปรับฟังเกือบครบถ้วน ขาดแต่โจทก์ร่วมที่ ๒ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยได้ส่งนายกวิน ชุติมา กรรมการชมรมฯ ที่เป็นตัวแทนเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้มาตลอด เข้าร่วมสังเกตการณ์ ซึ่งศาลได้สอบถามและบันทึกไว้ด้วย และเนื่องจากคดีนี้เป็นที่สนใจของสาธารณชน ศาลประสงค์ให้สื่อรายงานอย่างถูกต้อง จึงได้ทำสรุปคำพิพากษามาแจกสื่อมวลชนมีข้อความดังนี้
“เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๘ เวลาประมาณ ๖ นาฬิกา จำเลยได้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ขย ๙๔๑๗ เชียงใหม่ ไปตามถนนสายเชียงใหม่-เชียงราย ตำบลตลาดขวัญ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ในช่องทางเดินรถทางฝั่งจากจังหวัดเชียงใหม่ มุ่งไปทางจังหวัดเชียงราย ในขณะที่จำเลยเมาสุรามีปริมาณแอลกอฮอล์วัดได้ ๖๗ มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เกินกว่า ๕๐ มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ (๕๐ มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์เป็นระดับสูงสุดของปริมาณแอลกอฮอล์ที่กฎหมายอนุญาตให้ผู้ขับรถมีได้ – ผู้รายงาน) จำเลยขับรถยนต์คันดังกล่าวมาถึงที่เกิดเหตุระหว่างกิโลเมตรที่ ๘-๙ โดยถนนดังกล่าวแบ่งช่องการจราจรออกเป็นสองช่องทางจราจร รถวิ่งในทิศทางเดียวกัน ด้วยความประมาทน่าหวาดเสียว อาจเกิดอันตรายแก่บุคคลและทรัพย์สินของผู้อื่น และปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นจำเลยจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และจำเลยได้ขับรถชนนายชัยรัตน์ ย่องลั่น ผู้ตายที่ ๑, นายสมาน กันธา ผู้ตายที่ ๒, นายพงษ์เทพ คำแก้ว ผู้ตายที่ ๓, ว่าที่ร้อยตรีสุพล ตาสิงห์ ผู้เสียหายที่ ๑ และ ว่าที่ร้อยตรีพงษ์ พลสิงห์ ผู้เสียหายที่ ๒ ซึ่งขี่จักรยานตามกันไปในเส้นทางดังกล่าว ระยะห่างระหว่างกันประมาณ ๒ เมตร เรียงลำดับจากด้านหลังไปด้านหน้า
ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๑, ๓๐๐, ๓๙๐ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔๓(๒), ๑๕๗, ๑๖๐ ตรี วรรคสี่ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรม เป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส และฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ (๒), ๑๖๐ ตรี วรรคสี่ จำคุก ๔ ปี จำเลยสารภาพให้การเป็นระโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุให้ลดโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๒ ปี
พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี เห็นว่า แม้จำเลยเป็นหญิงและยังเป็นนักศึกษา และติดตามค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยผู้รับประกันภัยให้ญาติผู้ตายทั้งสามแล้ว จำเลยมีส่วนได้รับบาดเจ็บ และยังพยายามขอขมา และได้วางเงินชำระค่าเสียหายอีกส่วนหนึ่งอันเป็นการบรรเทาความเสียหายก็ตาม แต่ญาติผู้ตายทั้งสามยังติดใจทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา และเหตุการณ์ที่จำเลยเมาสุราขับรถยนต์จนเป็นเหตุให้มีผู้อื่นเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก อันเป็นสภาพและการกระทำที่มุ่งถึงประโยชน์สุขส่วนตน ไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนเสียหายโดยเฉพาะของบุคคลอื่นไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่บุคคลอื่น อันเป็นการปกป้องสังคมและประชาชนผู้มีสิทธิใช้ถนนสาธารณะร่วมกัน จึงไม่สมควรรอการลงโทษ และเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ของจำเลย กับให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๑,๗๒๒,๐๙๑.๕๐ บาท นับแต่วันพิพากษา (วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๙) แก่โจทก์ร่วมที่ ๓ และให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๔๓๕,๔๓๓ บาท นับแต่วันพิพากษา (วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๙) แก่โจทก์ร่วมที่ ๔ ที่ ๕ ยกคำร้องโจทก์ร่วมที่ ๑ ที่ ๒
ศาลอุทธรณ์ภาค ๕ พิพากษาแก้เป็น ให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๒,๓๓๔, ๐๙๑.๕๐ บาท แก่โจทก์ร่วมที่ ๓ และชำระเงินจำนวน ๑,๑๘๕,๔๓๓.๐๐ บาท แก่โจทก์ร่วมที่ ๔, ที่ ๕ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนแพ่งทั้งสองศาลให้เป็นพับ”
ในการอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค ๕ ผู้พิพากษาซึ่งเป็นท่านเดียวกับที่นั่งบัลลังก์ในศาลชั้นต้น กล่าวให้เหตุผลส่วนหนึ่งด้วยว่า การที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาเห็นว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นชอบแล้ว ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำพิพากษา(ในส่วนคดีอาญา) การอุทธรณ์(ของจำเลย)ฟังไม่ขึ้น เพราะถือว่าการกระทำของจำเลยเป็นเรื่องรุนแรงและร้ายแรง เป็นไปโดยปราศจากความรับผิดชอบ พฤติกรรมไม่เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย การที่จำเลยเป็นนักศึกษาและบรรลุนิติภาวะแล้ว ยิ่งต้องปฏิบัติดีต้องรับผิดชอบมากขึ้น จึงไม่สมควรรอลงอาญา ศาลกล่าวในตอนท้ายด้วยว่า จะฎีกาได้หรือไม่นั้นต้องไปดูตามข้อกฎหมายอีกที
จากการพูดคุยกับโจทก์ร่วมคือญาติผู้เสียชีวิต ทราบว่า ถ้าทำได้ จะพิจารณาฎีกาอีกโดยต้องการให้เพิ่มโทษและค่าสินไหม ทั้งนี้ต้องหารือกับทนายหลังจากได้ขอคัดลอกคำพิพากษาของศาลฉบับเต็มโดยละเอียดครบถ้วนมาศึกษาแล้ว และคาดว่าทางฝ่ายจำเลยก็จะพยายามฎีกาเช่นกัน
รายงานโดย กวิน ชุติมา กรรมการ สถาบันการเดินและการจักรยานไทย