Home สื่อและสิ่งพิมพ์ออนไลน์ News ถอดบทเรียนชุมชนจักรยาน EP. ใต้


หลังจากดำเนินงานมาได้ประมาณสิบเดือน ใกล้สิ้นสุดโครงการ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย / สถาบันการเดินและการจักรยานไทยได้จัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการรายงานผลและถอดบทเรียนโครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ ปีที่ ๒ ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)สำหรับโครงการย่อยในพื้นที่ภาคใต้ ขึ้นเมื่อวันที่ ๒๕-๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ที่โรงแรมไดอิชิ หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยมีผู้แทนจากองค์กรท้องถิ่นที่เป็นผู้ดำเนินโครงการ ๑๓ พื้นที่ใน ๖ จังหวัด คือ สุราษฎร์ธานี พัทลุง สงขลา นราธิวาส ตรัง และพังงา จำนวน ๔๐ คน เข้าร่วม สำหรับในส่วนของสถาบันฯ นอกจากคณะเจ้าหน้าที่ ๙ คนของสถาบันฯ ที่ทำหน้าที่ติดตามการดำเนินโครงการและเสริมสร้างศักยภาพของคน-องค์กรที่ทำงานในพื้นที่และเป็นผู้จัดเวทีนี้แล้ว ยังมีกรรมการซึ่งเป็นที่ปรึกษาโครงการคือ นายกวิน ชุติมา กรรมการ-เหรัญญิก และ นส.อัจจิมา มีพริ้ง ผู้ช่วยผู้อำนวยการ เข้าร่วมด้วย
กรรมการ-เหรัญญิกสถาบันฯ และที่ปรึกษาโครงการฯ ได้กล่าวในพิธีเปิดว่า การเดินและการใช้จักรยานเป็นวิธีสำหรับการเดินทางระยะสั้นๆ เป็นทิศทางของโลก เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่ทำให้เมือง-สังคมน่าอยู่และยั่งยืน แต่จากการที่เราตกอยู่ในวัฒนธรรมกรใช้รถยนต์มาเป็นเวลานาน การเปลี่ยนความคิดมาเดินมาใช้จักรยานจึงต้องใช้เวลาและความพยายามไม่น้อย โครงการฯได้ทำมาเพียงไม่ถึงปีจึงเป็นเพียงการเริ่มต้น แน่นอนว่ามีความสำเร็จเกิดขึ้นมากบ้างน้อยบ้างตามที่จะได้ฟังในวันนี้ รวมทั้งปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จและอุปสรรคปัญหา เราต้องทำกันต่อไปแม้การสนับสนุนจาก สสส.ในโครงการนี้จะสิ้นสุดลง เรามีเพื่อนมิตรชุมชนทั่วประเทศเกือบสองร้อย และจะเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อย ที่จะได้มาเรียนรู้และสนับสนุนซึ่งกันและกัน ขณะเดียวกันแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๖๐-๒๕๖๔ ได้บรรจุเรื่อง “การเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์” (Non-Motorized Transport) คือการเดินและการใช้จักรยาน เข้าไว้ด้วยเป็นครั้งแรก ดังนั้นการส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานจึงเป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศที่ทุกหน่วยงานรัฐต้องรับไปทำ และทุกภาคส่วนของสังคมควรร่วมมือทำไปด้วยกัน โครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะนี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง และทำให้มีโอกาสที่เราจะได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐเพิ่มมากขึ้น ให้เราทำงานต่อให้สำเร็จผลมากขึ้น ทางสถาบันฯ ก็จะพยายามหาการสนับสนุนมาเพิ่มเติม รวมทั้งจากต่างประเทศ โดยคณะของสถาบันฯ จะไปร่วมการประชุมจักรยานโลกในเดือนหน้า (มิถุนายน) และชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพันธมิตรการจักรยานโลกเมื่อสามปีก่อน


(ซ้าย) ผู้เข้าร่วมแบ่งเป็นกลุ่มตามชุมชน เขียน-วาดภาพแสดงงานที่ได้ทำ (ขวา) คุณอาคเนย์ ปัญจเทพ ผู้ประสานงานเครือข่ายจักรยานหาดใหญ่
มาเยี่ยมเยียน เรียนรู้ สังเกตการณ์ และได้พูดคุยทักทายกับผู้ร่วมประชุมจากชุมชนวัดหาดใหญ่ใน เทศบาลนครหาดใหญ่ ด้วย

การประชุมได้จัดให้คนทำงานในแต่ละพื้นที่ทบทวนสรุปประสบการณ์และผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ทั้งความสำเร็จที่เกิดขึ้นจริงในการสร้างชุมชนจักรยาน อุปสรรคปัญหา ปัจจัยที่ทำให้เกิดความสำเร็จ และสิ่งที่จะทำต่อไปในอนาคต โดยใช้การเขียนภาพร่วมกับคำบรรยายมาเล่าออกมาเป็นเรื่องราว ซึ่งผู้เข้าร่วมสามารถทำได้อย่างสวยงามเห็นเป็นรูปธรรม แล้วมานำเสนอแบ่งปันให้ทุกพื้นที่ได้เรียนรู้ร่วมกัน โดยมีความสำเร็จและบทเรียนที่น่าสนใจหลายประการ เช่น แทบทุกพื้นที่ โครงการฯ ทำให้เกิดร้านขาย-ซ่อมจักรยาน มีอาสาสมัครมาซ่อมจักรยานให้โดยไม่คิดค่าแรงและค่าอะไหล่, การรณรงค์กระตุ้นเตือนเรื่องความปลอดภัยทำให้อุบัติเหตุลดลง ฯลฯ สำหรับวิธีการที่โครงการในพื้นที่ใช้ในการส่งเสริมการใช้จักรยานก็มีหลายอย่างที่น่านำไปประยุกต์ได้ในพื้นที่อื่น เช่น การจัดจักรยานให้พนักงานเทศบาลใช้ในการลงพื้นที่ปฏิบัติงาน, การนำวัสดุเหลือใช้หรือทิ้งแล้ว รวมทั้งเศษซากจักรยาน มาทำป้ายแจ้งการเป็นชุมชนจักรยาน, การซื้อจักรยานที่เป็นเศษเหล็กราคาถูกมาซ่อมจนใช้ได้ให้เด็ก, การใช้บริบททางสังคม-วัฒนธรรม (เช่นการเป็นชุมชนมุสลิม) และการยกย่องเชิดชู “คนต้นแบบ” มาสร้างแรงบันดาลใจให้คนหันมาใช้จักรยาน เป็นต้น



ส่วนคุณกวินได้หยิบยกวิธีการหลายอย่างที่ชุมชนคิดค้นมาใช้กระตุ้น ส่งเสริม สนับสนุนการใช้จักรยานมาสรุปย้ำอีกครั้ง พร้อมกับเสนอว่า แม้ชุมชนแต่ละแห่งจะมีบริบทต่างกัน ก็ควรพิจารณาทดลองนำวิธีการที่ชุมชนอื่นใช้ได้ผลมาประยุกต์ใช้กับชุมชนของตนเองบ้าง และได้ย้ำให้ทุกชุมชนใส่ข้อมูลเหล่านี้ไว้อย่างละเอียดในรายงาน รวมทั้งสื่อประชาสัมพันธ์และกลเม็ดทั้งหลายที่ใช้ดึงดูดคนให้หันมาสนใจ เปลี่ยนความคิด มาใช้จักรยานในการเดินทาง วิธีการในการสร้างพันธมิตรมาทำงานด้วยกันและการทำให้ได้รับการสนับสนุน และแผนที่แสดงที่ตั้งชุมชนในจังหวัดนั้นๆ และเส้นทางจักรยานที่ชุมชนทำขึ้นด้วย


นอกจากการมารายงานผลและถอดบทเรียนการดำเนินงานเพื่อสร้างชุมชนที่เป็นมิตรกับการใช้จักรยาน ส่งเสริมการใช้จักรยานให้เป็นวิถีชีวิต เป็นวิธีเดินทางในการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว เนื่องจากโครงการในปีที่ ๒ นี้ยังเป็นรุ่นแรกที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผู้สนับสนุนทุน ให้ใช้ระบบการรายงานแบบออนไลน์ โดยเฉพาะในด้านรายงานการเงิน เพื่อให้มีการรายงานและข้อมูลที่เป็นระบบและสามารถแบ่งปันเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้ และโครงการได้สิ้นสุดลงแล้ว การประชุมจึงได้ใช้เวลาราวหนึ่งสามในการทบทวนการใช้ระบบใหม่ที่ทันสมัยนี้ให้ได้สมบูรณ์แบบมากที่สุดด้วย

รายงานโดย กวิน ชุติมา กรรมการ สถาบันการเดินและการจักรยานไทย

Print Friendly, PDF & Email