Home สื่อและสิ่งพิมพ์ออนไลน์ News ถอดบทเรียนชุมชนจักรยาน EP.เหนือ

หลังจากดำเนินงานมาได้ประมาณสิบเดือน ใกล้สิ้นสุดโครงการ สถาบันการเดินและการจักรยานไทยได้จัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการรายงานผลและถอดบทเรียนโครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ ปีที่ ๒ ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)สำหรับโครงการย่อยในพื้นที่ภาคเหนือ ขึ้นเมื่อวันที่ ๑๑-๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ที่โรงแรมฮอลิเดย์การ์เดน ในตัวเมืองเชียงใหม่ โดยมีผู้แทนจากองค์กรท้องถิ่นที่เป็นผู้ดำเนินโครงการ ๓๕ พื้นที่ใน ๑๒ จังหวัด จำนวน ๙๙ คน เข้าร่วม สำหรับในส่วนของสถาบันฯ นอกจากคณะเจ้าหน้าที่ของสถาบันฯ ที่ทำหน้าที่ติดตามการดำเนินโครงการและเสริมสร้างศักยภาพของคน-องค์กรที่ทำงานในพื้นที่และเป็นผู้จัดเวทีนี้แล้ว ยังมีกรรมการสองคนซึ่งเป็นที่ปรึกษาโครงการเข้าร่วมด้วยคือ ศาสตราจารย์กิติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานกรรมการ และนายกวิน ชุติมา กรรมการ-เหรัญญิก เข้าร่วมด้วย


ประธานกรรมการสถาบันฯ ได้กล่าวในพิธีเปิดชี้ให้เห็นถึงโอกาสที่เกิดขึ้นจากการที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๖๐-๒๕๖๔ ได้บรรจุเรื่อง “การเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์” (Non-Motorized Transport) เข้าไว้ด้วยเป็นครั้งแรก ดังนั้นการส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานจึงเป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศที่ทุกหน่วยงานรัฐต้องรับไปทำ และทุกภาคส่วนของสังคมควรร่วมมือทำไปด้วยกัน โครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะนี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่การพัฒนาเช่นนี้ต้องใช้เวลา การประชุมครั้งนี้จึงเป็นการมาปิดเฉพาะโครงการนี้ เราจะทำงานกันต่อ ทางสถาบันฯ ก็จะพยายามหาการสนับสนุนมาเพิ่มเติม รวมทั้งจากต่างประเทศ ซึ่งองค์กรเราก่อนตั้งสถาบันฯ คือชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ได้ไปร่วมก่อตั้งพันธมิตรการจักรยานโลกแล้ว

การประชุมได้จัดให้คนทำงานในแต่ละพื้นที่ทบทวนสรุปประสบการณ์และผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ทั้งความสำเร็จที่เกิดขึ้นจริงในการสร้างชุมชนจักรยาน อุปสรรคปัญหา ปัจจัยที่ทำให้เกิดความสำเร็จ และสิ่งที่จะทำต่อไปในอนาคต โดยใช้การเขียนภาพร่วมกับคำบรรยายมาเล่าออกมาเป็นเรื่องราว ซึ่งผู้เข้าร่วมสามารถทำได้อย่างสวยงามเห็นเป็นรูปธรรม แล้วมานำเสนอแบ่งปันให้ทุกพื้นที่ได้เรียนรู้ร่วมกัน โดยมีความสำเร็จและบทเรียนที่น่าสนใจหลายประการ เช่น ชุมชนที่ตั้งอยู่บนชานแดนไทย-เมียนมาร์ ได้อาศัยความสัมพันธ์เชิญชวนเพื่อนบ้านข้ามพรมแดนประเทศมาร่วมกิจกรรมจักรยานและได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารท้องถิ่นทางฝั่งเมียนมาร์ด้วย, มีชุมชนที่สามารถเชิญชวนให้ธุรกิจหลายแห่งมาสนับสนุนการทำงาน, มีการตั้ง “ธนาคารจักรยาน” และ “กองทุนจักรยาน”, การทำทะเบียนจักรยาน, การมีคนเป็นแบบอย่างหรือเป็นผู้นำในการขี่จักรยาน-การทำกิจกรรมช่วยให้ประสบความสำเร็จ, การจัดขี่จักรยานเป็นประจำ(เช่นสัปดาห์ละวัน) ความสำคัญของการมีที่จอดจักรยานโดยเฉพาะที่สถานที่สาธารณะ หรือผู้ดำเนินโครงการแห่งหนึ่งพบว่าการทำงานจะให้ชาวบ้านมาร่วมกิจกรรมได้ผลต้องไม่เป็นทำตัวเป็นนักจักรยาน ใช้จักรยานราคาแพง แต่งตัวต่างจากชาวบ้าน ที่ทำให้เกิดความรู้สึกแปลกแยก-แบ่งแยก ฯลฯ ทุกชุมชนบอกว่าจะทำต่อไป บ้างประกาศว่าจะขยายพื้นที่ดำเนินงานออกไปด้วย และ/หรือเพิ่มถี่ในการจัดกิจกรรมเป็นประจำ เช่น ขยายไปทุกหมู่บ้านในตำบลเดียวกัน เพิ่มการจัดขี่จักรยานจากสัปดาห์ละวันเป็นสองวัน โดยหาการสนับสนุนจากจากแหล่งอื่นทั้งในภาครัฐและเอกชน
อาจารย์ธงชัยได้ให้ความเห็นเสริมว่า การจะเป็นชุมชนหรือเมืองจักรยานต้องส่งเสริมให้สมาชิกชุมชนขี่จักรยานตั้งแต่เด็ก การทำกิจกรรมกับเด็กและเยาวชนจึงสำคัญมาก อย่างการส่งเสริมการขี่จักรยานไปโรงเรียน ถ้าโรงเรียนติดถนนหลักที่มีรถใหญ่-การจราจรพลุกพล่าน อาจเพิ่มความปลอดภัยด้วยการทำทางให้เข้าโรงเรียนทางด้านข้างหรือด้านหลัง, ในการทำกิจกรรมส่งเสริมการใช้จักรยานนั้น คนทั่วไปมักทำกิจกรรม “รณรงค์” ซึ่งมักจะเป็นกิจกรรมโดด ทำวันเดียว-ครั้งเดียวจบ ตัวอาจารย์เองก็ทำเช่นนั้น เมื่อทำมานานจึงพบว่ากิจกรรมประเภทนี้มีผลจำกัด ไม่ยั่งยืน
ส่วนคุณกวินได้หยิบยกวิธีการหลายอย่างที่ชุมชนคิดค้นมาใช้กระตุ้น ส่งเสริม สนับสนุนการใช้จักรยานมาสรุปย้ำอีกครั้ง พร้อมกับเสนอว่า แม้ชุมชนแต่ละแห่งจะมีบริบทต่างกัน ก็ควรพิจารณาทดลองนำวิธีการที่ชุมชนอื่นใช้ได้ผลมาประยุกต์ใช้กับชุมชนของตนเองบ้าง และได้ย้ำให้ทุกชุมชนใส่ข้อมูลเหล่านี้ไว้อย่างละเอียดในรายงาน รวมทั้งสื่อประชาสัมพันธ์และกลเม็ดทั้งหลายที่ใช้ดึงดูดคนให้หันมาสนใจ เปลี่ยนความคิดมาใช้จักรยาน วิธีการในการสร้างพันธมิตรมาทำงานด้วยกันและการทำให้ได้รับการสนับสนุน หลักสูตรหรือเนื้อหาการสอนการขี่จักรยานในโรงเรียน และแผนที่แสดงเส้นทางจักรยานที่ชุมชนทำขึ้นด้วย
นอกจากการมารายงานผลและถอดบทเรียนการดำเนินงานเพื่อสร้างชุมชนที่เป็นมิตรกับการใช้จักรยาน ส่งเสริมการใช้จักรยานให้เป็นวิถีชีวิต เป็นวิธีเดินทางในการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว เนื่องจากโครงการในปีที่ ๒ นี้ยังเป็นรุ่นแรกที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผู้สนับสนุนทุน ให้ใช้ระบบการรายงานแบบออนไลน์ โดยเฉพาะในด้านรายงานการเงิน เพื่อให้มีการรายงานและข้อมูลที่เป็นระบบและสามารถแบ่งปันเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้ และโครงการได้สิ้นสุดลงแล้ว การประชุมจึงได้ใช้เวลาราวหนึ่งสามในการทบทวนการใช้ระบบใหม่ที่ทันสมัยนี้ให้ได้สมบูรณ์แบบมากที่สุดด้วย

รายงานโดย กวิน ชุติมา กรรมการ-เหรัญญิก สถาบันการเดินและการจักรยานไทย

Print Friendly, PDF & Email