หลังจากดำเนินงานมาได้ประมาณสิบเดือน ใกล้สิ้นสุดโครงการ สถาบันการเดินและการจักรยานไทยได้จัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการรายงานผลและถอดบทเรียนโครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ ปีที่ ๒ ของสสส. สำหรับโครงการย่อยในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ขึ้นเมื่อวันที่ ๔-๖ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ที่โรงแรมริเวอร์วิวเพลส พระนครศรีอยุธยา
มีผู้แทนจากผู้ดำเนินโครงการเข้าร่วมเวทีฯ สำหรับในส่วนของสถาบันฯ นอกจากคณะเจ้าหน้าที่ของสถาบันฯ ที่ทำหน้าที่ติดตามการดำเนินโครงการและเสริมสร้างศักยภาพของคน-องค์กรที่ทำงานในพื้นที่และเป็นผู้จัดเวทีนี้แล้ว ยังมีกรรมการสองคนซึ่งเป็นที่ปรึกษาโครงการเข้าร่วมด้วยคือ ศาสตราจารย์กิติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานกรรมการ และนายกวิน ชุติมา กรรมการ-เหรัญญิก เข้าร่วมด้วย
ในพิธีเปิด อาจารย์ธงชัยได้ชี้ให้เห็นถึงโอกาสที่เกิดขึ้นจากการที่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๒ ได้บรรจุเรื่อง “การเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์” (Non-Motorized Transport) ซึ่งก็คือ การเดินและการใช้จักรยาน เข้าไว้ด้วย เป็นครั้งแรก โดยจะเพิ่มสัดส่วนของการเดินทางแบบนี้ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกมาสนับสนุน โดยเฉพาะทางข้าม ทางเท้า และทางจักรยาน ให้มีการสร้างมาตรฐานและคุ้มครองความปลอดภัยของผู้สัญจรทางเดินเท้าและผู้ใช้จักรยาน ดังนั้นหน่วยงานใดที่เสนอแผนและโครงการที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาฯ ฉบับนี้ ก็มีโอกาสสูงในการขอและได้รับงบประมาณมาดำเนินงาน อาจารย์ธงชัยตั้งข้อสังเกตว่า กรมทางหลวงได้งบประมาณไปมากหน่วยงานใด เพราะมีแผนพร้อมอยู่แล้ว ดังนั้นในการส่งเสริมการใช้จักรยาน ชุมชนไหนพร้อม มีแผนทำก่อน ก็มีโอกาสได้งบประมาณไปมาก
การประชุมจัดให้คนทำงานในแต่ละพื้นที่ทบทวนสรุปประสบการณ์และผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ทั้งความสำเร็จที่เกิดขึ้นจริงในการสร้างชุมชนจักรยาน อุปสรรคปัญหา ปัจจัยที่ทำให้เกิดความสำเร็จ และสิ่งที่จะทำต่อไปในอนาคต โดยใช้การเขียนภาพร่วมกับคำบรรยายมาเล่าออกมาเป็นเรื่องราว ซึ่งผู้เข้าร่วมสามารถทำได้อย่างสวยงามเห็นเป็นรูปธรรม แล้วมานำเสนอแบ่งปันให้ทุกพื้นที่ได้เรียนรู้ร่วมกัน พบว่าพวกเขาทำกิจกรรมและได้รับบทเรียนหลายอย่างคล้ายๆกัน เช่น การติดป้าย การมีศูนย์ซ่อมจักรยาน การทำตัวเป็นแบบอย่างของผู้นำชุมชน ความสำคัญของการมีส่วนร่วมของชุมชน การดึงเอาบุคคลและหน่วยงานหลายภาคส่วนมาช่วยกันทำงาน ฯลฯ บางพื้นที่มีการใช้วิธีการที่เป็นของใหม่ในพื้นที่มาดึงดูดให้คนใช้จักรยาน เช่น การขอความร่วมมือจากร้านค้า-ผู้ประกอบการในการให้ส่วนลดกับผู้ที่ขี่จักรยานมาซื้อสินค้าหรือใช้บริการ หรือการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้การใช้จักรยานขึ้นมาในโรงเรียน ซึ่งคุณกวินได้หยิบยกหลายเรื่องมาย้ำเน้นอีกครั้งว่า “นวัตกรรม” เหล่านี้สามารถเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมการใช้จักรยานได้ดี และพื้นที่อื่นๆ สามารถนำไปพิจารณาประยุกต์ใช้ในบริบทที่เป็นจริงได้ จึงได้ย้ำให้ทุกชุมชนให้ข้อมูลเหล่านี้ เช่น รายละเอียดของหลักสูตร ข้อความและภาพของป้ายขอความร่วมมือจากผู้ใช้ถนนให้เกิดความปลอดภัย ฯลฯ รวมทั้งแผนที่แสดงเส้นทางและสถานที่ในชุมชนที่ส่งเสริมให้ขี่จักรยานไป เช่น วัด โรงเรียน ตลาด ด้วย
หลายพื้นที่เปิดเผยในการประชุมครั้งนี้ว่าจะดำเนินการส่งเสริมการใช้จักรยานต่อไปหลังจากโครงการนี้สิ้นสุดลง เช่น ชุมชนหนองไม้แก่น จ.กาญจนบุรี มีแผนจะขยายงานออกไปยังสองชุมชน(หมู่บ้าน)ที่อยู่ติดกัน และเชื่อมโยงเข้ากับโครงการชุมชนสะอาดของจังหวัด มีการสร้างศูนย์การเรียนรู้เพิ่มอีกหนึ่งแห่ง ขยายฐานการเรียนรู้ออกไป และพัฒนาเส้นทางเลียบคลองชลประทานยาว 2 กิโลเมตรเป็นเส้นทางจักรยานใหม่ด้วย, ชุมชนจำคานคร จ.นครสวรรค์ มีแผนจะขยายพื้นที่ดำเนินงานออกไป เช่นเดียวกับชุมชนจากสุพรรณบุรีและชุมชนบุกเข้ จ.นครนายก ที่จะขยายจากที่ทำอยู่ขณะนี้ 4 หมู่บ้านไปจนครบ 9 หมู่บ้านในตำบล มีการจัดทำเส้นทางจักรยานเพื่อการท่องเที่ยวออกไปเชื่อมกับเครือข่ายเส้นทางจักรยานที่มีอยู่แล้วในนครนายก, ชุมชนในอุทัยธานีที่ทำโครงการ “3 วัย ปั่นสร้างสุข” จะดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จในการทำงานกับคนสามวัยต่อ โดยคาดว่าจะได้งบประมาณสนับสนุนจาก อบต. 40,000 บาท
นอกจากการมารายงานผลและถอดบทเรียนการดำเนินงานเพื่อสร้างชุมชนที่เป็นมิตรกับการใช้จักรยาน ส่งเสริมการใช้จักรยานให้เป็นวิถีชีวิต เป็นวิธีเดินทางในการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว เนื่องจากโครงการในปีที่ ๒ นี้ยังเป็นรุ่นแรกที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผู้สนับสนุนทุน ให้ใช้ระบบการรายงานแบบออนไลน์ โดยเฉพาะในด้านรายงานการเงิน เพื่อให้มีการรายงานและข้อมูลที่เป็นระบบและสามารถแบ่งปันเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้ และโครงการได้สิ้นสุดลงแล้ว การประชุมจึงได้ใช้เวลาราวหนึ่งสามในการทบทวนการใช้ระบบใหม่ที่ทันสมัยนี้ให้ได้สมบูรณ์แบบมากที่สุดด้วย
รายงานโดย กวิน ชุติมา กรรมการ-เหรัญญิก สถาบันการเดินและการจักรยานไทย