Home สื่อและสิ่งพิมพ์ออนไลน์ Events ทอดน่องท่องวัดวา เดินสบายๆ ชมวัดเก่าย่านฝั่งธน

 

(ซ้าย)  หน้าพระอุโบสถ วัดดาวดึงษาราม   (ขวา)  ภายในระอุโบสถ วัดสวนสวรรค์ (ร้าง)

เป็นธรรมเนียมไปแล้วสำหรับการประชุมวิชาการส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันประจำปีที่มีการจัดกิจกรรมเดินหรือขี่จักรยานต่อในวันถัดมาให้มีการปฏิบัติควบคู่ไปกับการพูดคุยกันทางวิชาการด้วย  สำหรับการประชุมในปีที่ ๕ เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๖๐ ที่ผ่านมานี้มีการจัดกิจกรรมเดินในวันที่  ๔  ใช้ชื่อกิจกรรมว่า ทอดน่องท่องวัดวา

ชื่อว่า “ทอดน่อง” จึงเป็นการเดินสบายๆ ครึ่งวันด้วยระยะทางรวมราว ๓.๕ กิโลเมตร เริ่มกันแต่เช้าจากท่าน้ำใต้สะพานพระปิ่นเกล้าฝั่งธนบุรี ลัดเลาะเข้าตรอกซอกซอยต่างๆ มุ่งหน้าขึ้นเหนือขนานกับแม่น้ำเจ้าพระยา ไป “ท่องวัดวา” คือชมวัดเก่าย่านฝั่งตะวันตกของแม่น้ำที่สร้างและ/หรือบูรณะในช่วงยุคต้นของกรุงรัตนโกสินทร์คือสมัยรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๓  อันได้แก่วัดดาวดึงษาราม วัดจตุรมิตรประดิษฐาราม วัดพระยาศิริไอยสวรรค์ วัดสวนสวรรค์ วัดคฤหบดี ไปจบที่วัดบวรมงคลราชวรวิหาร และยังได้เข้าไปชุมชนเก่าแห่งหนึ่งคือชุมชนบ้านปูน บริเวณเชิงสะพานพระราม ๘ ด้วย โดยมี ผศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร (อ.ด้วง) อาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผู้นำชมและบรรยายให้ความรู้

(ซ้าย)  พระอุโบสถ วัดดาวดึงษาราม   (กลาง)  วัดจตุรมิตรประดิษฐาราม  (ขวา)   ผ.ศ. ดร. ประภัสสร์ ชูวิเชียร

(ซ้าย)  วัดพระยาศิริไอยสวรรค์   (ขวา) หน้าบัน พระอุโบสถ วัดสวนสวรรค์ (ร้าง)

เดินไปไม่ไกลก็เริ่มรู้สึกเหมือนเข้าไปอีกโลกหนึ่ง  เห็น “ความเป็นชุมชน” มีบ้านหลังเล็กติดกันอย่างหนาแน่น  คลองเล็กๆ เริ่มปรากฏให้เห็นเป็นระยะ แสดงให้เห็นความเป็น “เมืองน้ำ” ที่คลองเป็นทั้งเส้นทางขนส่งคมนาคม (ถนนเป็นสิ่งใหม่ในช่วงร้อยปีหลังนี่เอง) และช่องทางระบายน้ำของชุมชนในที่ราบลุ่มภาคกลาง  สภาพนี้หายไปแทบสิ้นเชิงแล้วในฝั่งกรุงเทพฯ แต่ยังเหลืออีกมากในฝั่งธนบุรีซึ่งในอดีตเป็นที่พำนักของเจ้านายและขุนนางจำนวนมาก  อาจารย์ด้วงได้ชี้ให้ดูร่องรอยของอดีตอีกอย่าง นั่นคือเสาไฟฟ้าเก่าที่ทำจากต้นไม้ เมื่อมีเสาคอนกรีตเข้ามาแทน เสาเก่าถูกตัดส่วนบนไปเหลือโคนไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งก็หาดูไม่ได้ง่ายเช่นกัน

ในการเดินชมวัดครั้งนี้ อาจารย์ด้วงในฐานะนักโบราณคดีได้ให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมากมาย โดยเฉพาะเคล็ดในการบอกยุคสมัยของวัดและอาคารต่างๆ ด้วยการพิจารณาลักษณะการก่อสร้างและรูปแบบทางสถาปัตยกรรม  นอกจากนั้นอาจารย์ยังชี้ให้เห็นความคลาดเคลื่อนของข้อมูลที่ให้ไว้บนป้ายต่างๆ ซึ่งมักจะเอามาจากเอกสารหรือการบอกเล่าต่อกันมาด้วยความเชื่อโดยไม่มีการตรวจสอบ อันเป็นสิ่งที่พอเข้าใจได้สำหรับการจัดทำในครั้งแรกๆ แต่ต่อมาเมื่อมีการศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบ ก็พบว่าหลายแห่งข้อมูลนั้นไม่ตรงกับข้อเท็จจริง สมควรจะแก้ไขให้ถูกต้องต่อไป เช่น กำแพงที่มีป้ายบอกว่าเป็น “กำแพงวังเจ้าอนุวงศ์” ที่ชุมชนบ้านปูนนั้น ก็ไม่ใช่ทั้งวัสดุและรูปแบบการก่อสร้าง อีกทั้งวังเจ้าอนุวงศ์ก็ไม่เคยตั้งอยู่ตรงนั้น หรือที่บอกว่า วัดคฤหบดีตั้งอยู่บริเวณที่แต่เดิมเป็นบ้านของสุนทรภู่ สุนทรภู่ก็ไม่เคยอาศัยอยู่บริเวณนั้น

(ซ้าย) วัดคฤหบดี   (ขวา) เจดีย์มอญ วัดบวรมงคลราชวรวิหาร

สำหรับผู้เข้าร่วมหลายคน รวมทั้งคนที่มีกรุงเทพฯ เป็น “บ้าน” นี่เป็นครั้งแรกที่ได้ทำความรู้จักกับเมืองหลวงของประเทศในอีกแง่มุมที่ไม่เคยได้ทราบมาก่อน  รวมทั้ง “ของดี” ที่หลายคนได้พบเห็นเรียนรู้จากกิจกรรมนี้เป็นครั้งแรก เช่น ภาพวาดเรื่องพระมโหสถบนผนังด้านในของพระอุโบสถวัดดาวดึงษ์ ซึ่งวาดโดยหลวงเสนีย์บริรักษ์ หรือครูคงแป๊ะ ช่างฝีมือเอกเชื้อสายจีนในสมัยรัชกาลที่ ๓ ที่วาดภาพด้วยสีหลายสีและให้มุมมองที่มีมิติความลึกต่างจากคติเดิมที่มีมาแต่สมัยอยุธยา  หรือศาลาโรงธรรมอายุกว่าร้อยปีที่ชาวชุมชนบ้านปูนใช้เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมของชุมชน (เทียบได้กับศาลาประชาคม)มาจนถึงทุกวันนี้  ศาลาโรงธรรมเช่นนี้ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวเท่านั้นในกรุงเทพมหานคร รวมทั้งครกที่หินขนาดใหญ่ที่เคยใช้ตำขมิ้นตำปูนในโรงปูน อันเป็นที่มาของชื่อชุมชน ครกนี้ขุดพบในช่วงก่อสร้างสะพานพระราม ๘ นี่เอง  ส่วนวัดสวนสวรรค์นั้นเป็นเป็นวัดร้างที่ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของวัดคฤหบดี แต่ก็ถูกบ้านรอบข้างรุกพื้นที่เข้ามาจนชิดโบสถ์ ทำให้เจดีย์องค์หนึ่งและหินเสมาหลายหลักเข้าไปอยู่ในเขตบ้านของชาวบ้านไปแล้ว !

(ซ้าย) ภาพจิตรกรรม ผนังโบสถ์วัดดาวดึงส์   (กลาง) ภายในศาลาโรงธรรม   (ขวา) พระแซกคำในโบสค์วัดพระคฤหบดี

กิจกรรม “ทอดน่องท่องวัดวา” สิ้นสุดลงหลังเที่ยง ผู้เข้าร่วมได้อิ่มเอมไปด้วยความรู้ความเข้าใจต่อความเป็นมาและมรดกอันมีคุณค่าน่าภาคภูมิใจของบ้านเมือง ซึ่งจะไม่ได้มาหากเราไม่เดินไปชมไปเรียนรู้ในวันนั้น

รายงานโดย  กวิน ชุติมา

กรรมการ-เหรัญญิก มูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย และกรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

Print Friendly, PDF & Email