แปลและเรียบเรียงโดย : นนทนีย์ วิบูลย์กุล
ใครจะไปเชื่อว่าการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่เปลี่ยนวิถีชีวิตของคนทั่วโลก จะทำให้ธุรกิจจักรยานในสหัฐอเมริกากลับมาบูมอีกครั้ง ผนวกกับแรงเสริมจากนโยบายภาครัฐของสหรัฐฯที่ส่งเสริมแนวคิด Non-Car Mobility ทำให้คนอเมริกันหันกลับมาปั่นใช้จักรยานกันมากขึ้น
ผู้ขายจักรยานในนิวยอร์คซิตี้รายหนึ่งได้กล่าวว่า “ 3 ปีก่อน มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์คนที่ปั่นจักรยานส่วนใหญ่จะเป็นเด็ก แต่ตอนนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้ว ไม่ใช่เฉพาะเด็กที่สนใจเรื่องการปั่นจักรยาน คนวัยผู้ใหญ่ก็สนใจปั่นจักรยานเช่นกัน”
ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งมีการ Lock Down ในพื้นที่ต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา มีส่วนช่วยทำให้คนอเมริกันหันมาใช้จักรยานอีกครั้ง อัตราการซื้อจักรยานในสหรัฐอเมริกาขยายตัวมากขึ้นกว่า 2 เท่าในช่วงต้นปีในช่วงเดือนมีนาคม แถมมีการรายงานถึงกระแสความนิยมจักรยานในช่วง COVID-19 ทำให้เกิดเหตุการณ์ถึงขั้นร้านขายจักรยานขาดสต๊อกสินค้าและผู้ที่ต้องการซื้อจักรยานต้องรอสินค้าในระยะเวลาที่นานพอสมควรเลยทีเดียว
ถ้าเราฟังแบบนี้อาจจะดูเป็นเรื่องน่าประหลาดใจและน่ายินดีที่มีปรากฏการณ์ดีๆ ที่คนหันมาปั่นจักรยานมากขึ้น เพราะที่เรารู้ๆกันอยู่ว่าปั่นจักรยานมีแต่ได้กับได้…..ได้ในที่นี่คือ ทั้งในแง่ของสุขภาพที่ดี แถมช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมเพราะช่วยลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว มีกระแสดีๆแบบนี้ก็ดีแล้วนี่……แล้วยังมีเรื่องอะไรให้เราได้วิเคราะห์กันอีกล่ะ?
ถ้าเราจะลองวิเคราะห์กระแสบูมเรื่องประชาชนทั่วไปการหันมาปั่นจักรยานมากขึ้นในสหรัฐอเมริกา เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย ในอดีตเคยมีเหตุการณ์คล้ายๆกับช่วงไวรัส COVID-19 ซึ่งเราต้องย้อนกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์ จะมีบทความหนึ่งซึ่งเป็นบทความในหนังสือพิมพ์ “Austin American-Statesman” ได้เขียนเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ในปี ค.ศ 1971 ในยุคนั้นว่าเป็นยุคที่คนรุ่น Baby Boomer ในสหรัฐอเมริกาสนใจและสนับสนุนประเด็นการรักษาสิ่งแวดล้อมกันอย่างมาก และในยุคนั้นก็เกิดกระแสความนิยมที่คนสหรัฐฯหันมาปั่นจักรยานอย่างแพร่หลาย (อ้างอิงข้อมูลที่ตีพิมพ์ใน National Geographic) ก่อนที่หลังจากยุคนั้นผ่านไป……ความนิยมปั่นจักรยานในสหรัฐฯ ก็เริ่มลดลงตามยุคสมัย รถยนต์ส่วนตัวเข้ามาแทน เลนจักรยานที่เคยมีปั่นจักรยานกันมากมายก็ถูกปล่อยทิ้งให้ว่างเปล่า เหลือไว้เพียงความทรงจำที่ช่วงหนึ่งจักรยานเคยเป็นยานพาหนะรักษ์โลกที่คนสหรัฐฯเลือกใช้กันอย่างแพร่หลาย
ในหนังสือชื่อ The Cycling City ของ Evan Friss ได้มีการบอกเหตุผลว่า เหตุใดในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 จักรยานถึงได้มีความนิยมใช้อย่างแพร่หลายในหลายเมืองของประเทศสหรัฐอเมริกา และหลังจากนั้นก็เข้าสู่ยุคที่ความนิยมในการใช้จักรยานเพื่อเดินการทางลดลงเพราะยานพาหนะรูปแบบอื่นๆ เช่น รถยนต์ เข้ามาแทนที่ ดังนั้นเหตุการณ์ความนิยมที่คนสหรัฐฯหันกลับมาปั่นจักรยานอีกครั้งในช่วงไวรัส COVID-19 แพร่ระบาด จึงไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ และเราควรดูปรากฏการณ์ทางสังคมในลักษณะนี้ไปอย่างยาวๆเพื่อที่จะสามารถวิเคราะห์ความยั่งยืนของการใช้จักรยานในระดับประชาชน
อย่างไรก็ดี หากเรามองผลประโยชน์ทางสังคมในเชิงบวก อย่างน้อยกระแสการใช้จักรยานในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส COVID- 19 ก็มีข้อดีในแง่ที่ทำให้คนหั่นกลับมาปั่นจักรยานมากขึ้นทั้งในรูปแบบจักรยานธรรมดา หรือ จักรยานไฟฟ้า แทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งก็มีส่วนช่วยในการลดสภาวะก๊าซเรือนกระจกและมลพิษทางอากาศ ในขณะเดียวกันประชาชนก็มีสุขภาพที่ดีขึ้นจากการปั่นจักรยาน
และถ้าอยากให้ปรากฏการณ์คนหันกลับมาปั่นจักรยานกลายเป็นสิ่งที่อยู่สังคมอย่างยั่งยืน ไม่ใช่แค่ปรากฏการณ์ทางสังคมระยะสั้นหรือเป็นแค่แฟชั่นของสังคม รัฐบาลกลางสหรัฐฯ(Federal Government) ควรมีส่วนช่วยในการสนับสนุนให้คนอเมริกันเลือกใช้จักรยานในการเดินทางมากกว่ารถยนต์ส่วนตัว และควรทำให้เรื่องจักรยานกลายเป็นวาระแห่งชาติ (National Priority) โดยมีนโยบายที่หลากหลายเกี่ยวกับการสนับสนุนการเดินทางด้วยจักรยานแทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว
โดยทั่วไปประเด็นเรื่องจักรยานมีประเด็นสำคัญ 2 อยู่สองประเด็นหลักๆด้วยกัน ประกอบด้วย (1) ต้องทำให้ผู้ที่ปั่นจักรยานสามารถปั่นจักรยานได้อย่างปลอดภัย และ (2) ต้องทำให้การปั่นจักรยานเป็นวิธีการเดินทางที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้อย่างแท้จริง ด้วยราคาถูก ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้
เรื่องการส่งเสริมการใช้จักรยานควรมาจากการดำเนินนโยบายจากรัฐบาลกลาง แต่กระแสความนิยมที่ทำให้คนหันกลับใช้จักรยานอีกครั้งในสหรัฐอเมริกาโดยส่วนใหญ่มาจากผลการดำเนินงานของรัฐบาลท้องถิ่นที่ส่งเสริมให้ประชาชนหันมาปั่นจักรยาน
โดยทั่วไป นโยบายจากรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา ไม่ได้มีแนวทางที่ทำให้คนสหรัฐฯหันมาปั่นจักรยานในชีวิตประจำวันมากนัก มิหนำซ้ำกลับทำให้คนอเมริกันห่างจากการใช้จักรยานมากขึ้น เพราะรัฐบาลกลางเลือกที่จะส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขับรถยนต์ส่วนตัว เช่น ระบบทางหลวงอินเตอร์สเตต “Interstate Highway System”รวมถึงกฏระเบียบทางจราจรที่ใช้อยู่ก็ให้ความสำคัญกับความเร็วของรถยนต์ส่วนบุคคลมากกว่าความปลอดภัยของคนเดินเท้าหรือคนปั่นจักรยานซึ่งเป็นกลุ่มผู้ใช้ถนนที่เปราะบาง(Vulnerable User)
หากรัฐบาลกลางสหรัฐฯ สามารถมีส่วนช่วยส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงจักรยานได้มากขึ้น วิธีที่ง่ายที่สุดคือลดภาษีชิ้นส่วนจักรยานที่นำเข้าจากประเทศจีน ในมาตรา 301 ซึ่งการตั้งแพงภาษีดังกล่าวถูกบังคับใช้ในช่วงที่นาย Donald Trump เป็นประธานาธิบดี ในขณะเดียวกัน USDOT (U.S Department of Transportation) ต้องสามารถทำงานร่วมกับสภาคองเกรสได้ เพื่อออกนโยบายที่จะเป็นสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี หรือ ลดค่าใช้จ่ายสำหรับคนอเมริกันที่มีจักรยาน หรือ คนอเมริกันที่มี Bikeshare Membership
และหากต้องการเห็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ควรมีการพิจารณาแก้ไขเครดิตภาษีสำหรับผู้ที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าจำนวน 7,500 USD และนำเงินจำนวนดังกล่าวหันมาอุดหนุนช่วยคนอเมริกันที่ต้องการซื้อจักรยานหรือจักรยานไฟฟ้า เหมือนกับในประเทศอิตาลีหรือประเทศฝรั่งเศสที่ได้ทำวิธีดังกล่าวเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการใช้จักรยานมากขึ้น โดยได้มีการดำเนินนโยบายดังกล่าวในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัส COVID -19
จากกรณีของประเทศสหรัฐอเมริกาที่เราได้กล่าวมาข้างต้น เราจะเห็นได้ว่าการที่จะทำให้ประชาชนหันมาสนใจและเลือกใช้จักรยานในการเดินทางมากขึ้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกระแส หรือ ปรากฏการณ์ทางสังคมเพียงอย่างเดียว แต่เกี่ยวข้องกับบทบาทของรัฐบาลที่จะต้องมีการและสร้างนโยบายที่สนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้จักรยานมากขึ้นด้วย เช่นการลดหย่อนภาษีจักรยาน หรือ ให้เงินสนับสนุนผู้ที่ต้องการซื้อจักรยาน รวมไปถึงการปรับปรุงทางกายภาพสร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยในการปั่นจักรยานทำให้ประชาชนอยากออกมาปั่นจักรยานมากขึ้น หากทำได้จริงย่อมทำให้ประชาชนเลือกใช้จักรยานในการเดินทางมากกว่าการใช้รถยนต์ส่วนตัวแน่นอน
ผลดีของการที่ประชาชนส่วนใหญ่หันมาปั่นจักรยานในการเดินทาง ย่อมดีต่อประเทศทั้งในแง่ของการรักษาสิ่งแวดล้อม ลดอัตราการนำเข้าพลังงานเชื้อเพลิง เพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางให้กับประชาชน และที่สำคัญอีกสิ่งหนึ่งคือการที่ประชาชนสามารถปั่นจักรยานในการเดินทางได้สะดวกและปลอดภัยย่อมช่วยส่งเสริมความเท่าเทียมในการเดินทางบนท้องถนนของประชาชนทุกระดับตั้งแต่ คนรากหญ้า ไป จนถึง คนที่ร่ำรวย
ดังนั้น ปรากฏการณ์ทางสังคม (Social Phenomenon) ไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้เกิดกระแสการใช้จักรยานอย่างยั่งยืน สิ่งที่จะยั่งยืนได้นั้นควรเกิดจากความร่วมมือทั้งภาคประชาชน และภาครัฐควรมีนโยบายระยะยาวในเรื่องดังกล่าวมากกว่ามองประเด็นเรื่องการส่งเสริมให้ประชาชนใช้จักรยานมากขึ้นเป็นกิจกรรมรณรงค์(Campaign) ดังคำกล่าวที่ว่า
“จักรยาน ไม่ใช่ยานพาหนะธรรมดา แต่จักรยาน คือ พาหนะที่สามารถทำให้เกิดการเดินทางที่ยั่งยืน”