เรียบเรียงจากหนังสือ “ประเทศไทยสร้างเมืองจักรยานได้ ฉบับครูและผู้ปฏิบัติการในโรงเรียน” จัดทำโดย มูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย
แกนนำในการขับเคลื่อนชุมชนจักรยานในโรงเรียนมี 2 ส่วนหลักที่สำคัญ ซึ่งมีบทบาทหน้าที่การทำงานที่แตกต่างกัน แกนนำ 2 ส่วนนั้นคือ “แกนนำเด็ก” และ “คณะทำงาน” และบทบาทของทั้งสองกลุ่มมีส่วนในการขับเคลื่อนชุมชนจักรยานอย่างไร มาดูกันครับ
แกนนำเด็ก
แกนนำเด็กนักเรียนเป็นกลุ่มที่จะช่วยให้เกิดความสำเร็จเป็นรูปธรรม เริ่มจากต้องชวนให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วมทำกิจกรรม ให้เขาได้ลองออกแบบและรับผิดชอบการทำงาน เพื่อทำให้เขารู้สึกเป็นเจ้าของงาน จนเห็นความสำคัญของการขับเคลื่อน แล้วไปขยายผลต่อในกลุ่มเด็กนักเรียนด้วยกันเอง
จุดเด่นของแกนนำเด็กคือเป็นตัวแทนเชื่อมประสานกับเด็กด้วยกันเองง่ายกว่าผู้ใหญ่ นอกจากนั้นแกนนำเด็กยังมีบทบาทเป็นต้นแบบในการใช้จักรยาน ซึ่งจะทำให้เกิดการเลียนแบบของเด็กคนอื่นตามมา ส่วนการสร้างเด็กแกนนำจะถ่ายทอดจากรุ่นต่อรุ่น เกิดเป็นความยั่งยืนในการสร้างชุมชนจักรยาน ทำให้การขับเคลื่อนเรื่องชุมชนจักรยานในโรงเรียนยังดำเนินต่อไป แม้จะเปลี่ยนผู้บริหารหรือแกนนำน้องนักเรียนเรียนจบจากโรงเรียนไปแล้วก็ตาม
คณะทำงาน
การสร้างชุมชนจักรยานในโรงเรียนไม่ใช่เพียงสร้างกิจกรรมให้นักเรียนออกมาปั่นจักรยานเท่านั้น แต่ต้องการความร่วมมือในการขับเคลื่อนจากหลายภาคส่วนเพื่อให้การขับเคลื่อนเกิดความสำเร็จ ทั้งในส่วนสาธารณสุข องค์กรปกครองท้องถิ่น กรมทางหลวง จึงต้องมีคณะทำงานจากหลากหลายภาคส่วน และแต่ละหน่วยงานต้องให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อน มีการติดตามความคืบหน้า ของการทำงานผ่านวงประชุมต่อเนื่องเป็นระบบ ซึ่งจะช่วยทำให้การขับเคลื่อนเกิดขึ้นจริงได้ในโรงเรียนอย่างเป็นรูปธรรม
ดังเช่นคณะทำงานจังหวัดระนองได้บูรณาการนโยบายจากส่วนกลาง คือนำนโยบายจากกระทรวงสู่จังหวัด จากจังหวัดสู่เทศบาล และจากเทศบาลเข้าสู่โรงเรียน ซึ่งอยู่ภายใต้นโยบายของกระทรวงคมนาคม ในโครงการถนนปลอดภัย ทางจังหวัดต้องตอบสนองโครงการใหญ่ และขยายผลสู่โรงเรียน เช่น ต้องสร้างความปลอดภัยหน้าโรงเรียน ในเขตเทศบาล โดยเทศบาลเข้ามาร่วมเป็นคณะทำงานร่วมกับภาคีทั้งภาครัฐและเอกชนที่สนใจเกี่ยวกับความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ หอการค้า สมาคมโรงแรม ผู้ปกครอง โรงเรียน และเด็กนักเรียนในโรงเรียน
หากมีการทำงานครบทั้งสองส่วนสำคัญ ชุมชนจักรยานในโรงเรียนที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการปลูกฝังพฤติกรรมการใช้จักรยานในเด็ก ซึ่งจะเติบโตเป็นกำลังสำคัญของการสร้างวัฒนธรรมการเดินและการใช้จักรยานต่อไป ย่อมมีโอกาสสำเร็จอย่างแน่นอน