วันเสาร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา คุณจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ ผู้อำนวยการสถาบันการเดินและการจักรยานไทย และเจ้าหน้าที่สถาบันฯ ได้เข้าร่วมกิจกรรม เดิน ปั่น สร้างสุข ณ โรงเรียนบ้านปี้ ต.เวียง อ.เชียงคำ จ.พะเยา ภายใต้โครงการวิจัยการส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน-ท่องเที่ยวชุมชน อำเภอเชียงคำ นำทีมลงพื้นที่โดย ผศ.ดร.สหัทยา วิเศษ นักวิจัยของโครงการ
กิจกรรมนี้ เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนเลือกการเดินทางมาโรงเรียนโดยปั่นจักรยาน ซึ่งเป็นวิธีที่ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ในกิจกรรมนี้ นายถาวร อ่อนนวล นายกเทศมนตรีตำบลบ้านทราย ได้มาร่วมโบกธงปล่อยขบวนจักรยานของคณะครู นักเรียนและชุมชน ที่เริ่มต้นจากโรงเรียนบ้านปี้ ไปยังป่าชุมชนบ้านปี้ รวมระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร
“ป่าชุมชนบ้านปี้” จัดตั้งเป็นป่าชุมชนมาตั้งแต่ 2540 โดยอาศัยความร่วมมือของชุมชนในการดูแลป่า จนปี 2562 ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ ประจำโครงการ “คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน” รับพระราชทานถ้วยรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ป่าชุมชนแห่งนี้ สามารถเดินหรือปั่นเพื่อศึกษาเส้นป่าอย่างใกล้ชิดได้ มีสถานีให้ความรู้เรื่องป่าทั้งหมด 6 สถานี แต่ละสถานีจะมีแกนนำชุมชนอาสามาเป็น “นักสื่อความหมาย” อธิบายความ ดังนี้
สถานีที่ 1 เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง เมื่อผู้ศึกษาหรือนักท่องเที่ยวเข้ามาถึงบริเวณทางเข้าเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ด้านหน้าจะพบพรรณไม้ต่างๆที่หลากหลายชนิดเชื่อมกับบริเวณทางเข้า ที่นี่เป็นบริเวณที่ควรหยุดเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับรายละเอียดของเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชุมชนบ้านปี้ ที่เกี่ยวข้องกับวิธีปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดทั้งการแต่งกายอุปกรณ์ในการจดบันทึกข้อมูลและการเตรียมความพร้อมอื่นๆ
สถานีที่ 2 อาหารเลี้ยงชุมชน ต้นไผ่ไร่เป็นไม้ไม่ผลัดใบขึ้นเป็นกอลำต้นเป็นปล้องๆ ถ้าอยู่ในป่าดงดิบอาจมีใบเขียวตลอดปี และทิ้งใบเมื่ออยู่ในป่าเต็งรังหรือป่าเบญจพรรณ ไผ่ไร่ให้ผลิตผลคือหน่อไม้หรือหน่อไผ่ชึ่งชาวบ้านนำไปจำหน่ายที่ท้องตลาดสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว นอกจากนี้ไผ่ไร่ยังมีคุณสมบัติพิเศษทั้งด้านความแข็งแรงและยืดหยุ่นจึงทำให้เกิดภูมิปัญญาท้องถิ่นในการนำไม้ไผ่มาจักสานเป็นอุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้ที่สามารถนำไปใช้ในวิถีชีวิตของชาวบ้าน
สถานีที่ 3 สายสัมพันธ์เกาะเกี่ยว เถาวัลย์เป็นพืชตระกูลล้มลุกที่จะเจริญเติบโตไปพร้อมกับการเจริญเติบโตของต้นไม้ใหญ่ที่ยึดตัวอยู่เพื่อตัวเองได้งอกงาม โดยเถาวัลย์จะพยุงตัวเองให้เลี้ยวพันหมุนเป็นเกลียวขึ้นไปบนต้นไม้ใหญ่เรื่อยๆเพื่อรับแสงแดดในการสังเคราะห์อาหารให้แก่ตนเอง
สถานีที่ 4 ต้นน้ำแหล่งชีวิต แหล่งชีวิตของชุมชนบ้านปี้แห่งนี้อยู่ในป่าชุมชนที่อุดมสมบูรณ์ ลักษณะเป็นตาน้ำและมีน้ำไหลตลอดปี ตาน้ำนี้หล่อเลี้ยงการเกษตรและการอุปโภคปริโภคแก่ชุมชนบ้านปี้ ด้วยเหตุนี้ชุมชนบ้านปี้จึงมีการจัดการทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนมากที่สุด
สถานีที่ 5 ร่องรอยแห่งความทรงจำ เมื่อผู้ศึกษาหรือนักท่องเที่ยวมาถึง ณ.จุดนี้จะพบว่าจุดนี้มีหลุมที่มีความลึกประมาณ 2 – 3 เมตร หลุมนี้ก็คือหลุมที่ชาวบ้านในอดีตได้ขุดนำหินปูนมาเผาให้กลายเป็นปูนขาวเป็นการประกอบอาชีพที่สร้างรายได้ให้ครอบครัว แต่ปัจจุบันชาวบ้านได้ยกเลิกอาชีพนี้ไปแล้ว สืบเนื่องมาจากเป็นการทำลายความสมดุลของป่าไม้ หลุมนี้จึงกลายเป็นร่องรอยแห่งความทรงจำที่ทำให้เห็นว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของชาวบ้านในการประกอบอาชีพในอดีตกาลกว่า 20 ปี
สถานีที่ 6 บวชป่าเพื่อความสมดุล บริเวณนี้ทั้งซ้ายและขวาจะรายล้อมไปด้วยต้นไม้ที่ถูกมัดด้วยผ้าจีวรของพระสงฆ์ เนื่องจากชาวบ้านมีความเชื่อว่า “ ป่าทุกแห่งมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองอยู่ “ ดังนั้นภาพที่เราพบ ณ.จุดนี้คือการบวชป่าเป็นพิธีกรรมความเชื่อที่เป็นวิถีชีวิตชองชาวบ้านมาแต่อดีต ซึ่งเป็นกุศโลบายในการรักษาป่าหรือต้นไม้ไว้ไม่ให้ชาวบ้านมาลักลอบตัดไม้ทำลายป่า เป็นการพลิกฟื้นผืนป่าให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ตลอดไป