Home ข้อมูลความรู้ งานวิจัย เพิ่มPA ลดSB เดินขึ้นลงบันไดออฟฟิศแทนใช้ลิฟต์

เพิ่มPA ลดSB
เดินขึ้นลงบันไดออฟฟิศแทนใช้ลิฟต์

หนุ่มสาวออฟฟิศใช้เวลาอยู่ในออฟฟิศเฉลี่ยเกือบ 1 ใน 3 ของเวลาใน 1 วัน บางครั้งอาจต้องอยู่ที่ออฟฟิศมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน และส่วนใหญ่หมดเวลาไปกับการ “นั่งทำงาน”!!!

ไม่ต้องบอกก็รู้ว่า ผลกระทบสุขภาพตามมาแทบทุกคน อย่างน้อยๆใน 1 คนมักมีอาการออฟฟิศซินโดรมคนละเล็กละน้อย หรือไม่ก็ป่วยด้วยNCDs(โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง) เช่น โรคอ้วน โรคความดันสูง เบาหวานฯลฯ

ที่พูดมาทั้งหมด หลายคนคงบอกว่ารู้หมดแต่จะให้ ทำยังไง งานสุมทุม ไม่มีเวลาออกกำลังกาย ง่ายๆเลยจ้ะ คิดสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันไม่ต้องยุ่งยาก วันนี้เลยมาขอชวนทุกคนหันมาเดินๆๆ โดยเฉพาะการเดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์ ถ้าออฟฟิศมีไม่กี่ชั้น เดินดีกว่านะ แล้วทำให้สม่ำเสมอจนเคยชิน แรกๆอาจเหนื่อยหอบ หายใจเร็ว รู้สึกได้ถึงจังหวะหัวใจรัวๆ แต่ทำไปสักพักร่างกายก็ปรับตัว สุขภาพก็ดี อดทนให้ผ่านพ้น 21 วันตามทฤษฎี (อ้างอิงจากหนังสือ Psycho-Cybernetics โดย ดร. แมคเวล มอลท์ (Dr.Maxwell Maltz) ซึ่งได้พูดถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกกรรมของมนุษย์ ด้วยการกระทำต่อเนื่องอย่างน้อย 21 วัน บนพื้นฐานความเชื่อและมีสติในการลงมือทำ จนกลายเป็นนิสัย) เพื่อสุขภาพที่ดีเพิ่มPA ลดSB ได้แน่นอนค่ะ

เดินขึ้น-ลงบันไดแทนการใช้ลิฟต์มีแต่ได้
1. การเดินขึ้น-ลงบันได เป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิค ถ้าทำได้ประมาณ 15 นาที จะสามารถเผาผลาญพลังงานได้ประมาณ 150 แคลอรีต่อครั้งเลยทีเดียว เพิ่มความแข็งแรงของหัวใจอีกด้วย
2. เมื่อร่างกายได้เคลื่อนไหว จากการเดินขึ้น-ลงบันได้ จะทำให้กล้ามเนื้อต้นขา น่อง และก้นแข็งแรง ช่วยกระชับกล้ามเนื้อให้ฟิตแอนด์เฟิร์มได้วิธีหนึ่ง
3. เป็นการออกกำลังกายที่ทุกคนสามารถทำได้ในการใช้ชีวิตประจำวัน
4.ช่วยออฟฟิศประหยัดไฟได้อีกด้วย

การเดินขึ้น-ลงบันได แทนการใช้ลิฟต์ ลดพีคไฟฟ้าได้เพราะการกดลิฟต์ 1 ครั้ง เท่ากับเปิดไฟนีออน 500 ดวง ช่วยลดพีคไฟฟ้าหน้าร้อน โดยเฉพาะในช่วง 13.00-15.00 น. และช่วง 19.00-21.00 น.

เกร็ดความรู้เพิ่มเติม:ทำไมขึ้นบันไดเหนื่อยกว่าลงบันได

การที่เรารู้สึกเหนื่อยตอนเดินขึ้นบันไดหรือขึ้นที่สูงนั้นก็เพราะว่าโลกของเรามีแรงดึงดูดวัตถุเข้าสู่ศูนย์กลางของโลกหรือเรียกว่าแรงโน้มถ่วง การก้าวขึ้นบันไดเป็นการเดินสวนทางกับแรงโน้มถ่วงของโลก เมื่อเราเดินขึ้นบันไดกล้ามเนื้อของเราทำงานหนักขึ้นเพื่อยกน้ำหนักของเราให้พ้นแรงดึงดูดของโลก หัวใจจะสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างของร่างกายมากขึ้น ปอดก็จะทำงานหนักขึ้นเพื่อขับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเพื่อรับก๊าซออกซิเจนเข้าไปแทนที่เราจึงหายใจหนักขึ้นและเหนื่อยขึ้นด้วย ในขณะที่เดินลงบันไดจะไปในทิศทางตามแรงดึงดูดของโลกกล้ามเนื้อจึงไม่ต้องออกแรงมากจึงไม่รู้สึกเหนื่อยเท่ากับการเดินขึ้นที่สูง แถมยังรู้สึกเดินได้เร็วกว่าการก้าวขึ้นบันได

(World Health Organization(WHO) มีเป้าหมายลดอัตราพฤติกรรมเนือยนิ่ง (Sedentary Behavior) โดยแนะนำให้มีกิจกรรมทางกาย เป็นเวลาอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือการใช้กำลังกายอย่างหนักเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 75 นาทีต่อสัปดาห์ ซึ่งการใช้กำลังกายนี้สามารถนับรวมจากการทำงาน การเดินทาง และการใช้กำลังกายในเวลาพักผ่อนเข้าด้วยกัน การเพิ่มกิจกรรมทางกายลดเนือยนิ่ง เวลาน้อยไม่ใช่เป็นอุปสรรค มาช่วยกันส่งเสริมให้พนักงาน และคนในชุมชนรอบข้าง เลือกทางด้วยการเดินหรือใช้จักรยาสร้างสุขภาวะทั้งพนักงานและชุมชนร่วมกันค่ะ:สถาบันการเดินและการจักรยานไทย )

ข้อมูลอ้างอิง
https://www.xn--2-5wf2eljdmn4b6cn.com 
https://www.gotoknow.org
https://www.scimath.org

Print Friendly, PDF & Email