เท 1.2 แสนล้าน! ปั้น 5 “เมืองการเดิน”
รัฐบาลนายกฯประยุทธ์ทุ่มงบวงเงิน 1.2 แสนล้าน เนรมิต 5 เมืองหลักแห่งการเดิน ลดใช้รถยนต์แข่งญี่ปุ่น ตามแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ ดีเดย์ ธ.ค. นี้ เข้า ครม. “กรุงเทพและปริมณฑล สงขลา เชียงใหม่ ขอนแก่น อุบลฯ” ประเดิมล็อกที่รอบสถานีรถไฟฟ้า-ขนส่ง
เครดิตภาพ https://landlopers.com/2012/04/18/shibuya-crossing-rush-hour-tokyo-japan
นอกจากแผนลงทุนระบบรางเชื่อมโครงข่ายในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 12 สายทาง ระยะทางรวม 509 กิโลเมตรแล้ว รัฐบาลยังจะกระจายการลงทุนไปยังจังหวัดหัวเมืองใหญ่ เพื่อให้เมืองกระชับลดปัญหาจราจรเหมือนต่างประเทศ ซึ่งล่าสุด กำลังจะมีแผนพัฒนาให้ทุกจังหวัดเป็นเมืองแห่งการเดิน
ดัน “เมืองการเดิน” แข่งญี่ปุ่น
นายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย ในฐานะคณะกรรมการยกร่างแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ ชุดที่ 4 เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บอร์ดฯ ได้ยกร่างแผนแม่บทรองรับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีแล้วเสร็จ คาดจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในเดือน ธ.ค. นี้ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาบังคับใช้ต่อไป
ฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย
ในฐานะคณะกรรมการยกร่างแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ ชุดที่ 4
ทั้งนี้ แผนแม่บทฉบับนี้เป็นนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการให้ทุกจังหวัดทั่วประเทศเป็นเมืองแห่งการเดิน เน้นสุขภาพ ลดพลังงาน และเลิกใช้รถยนต์ส่วนตัว แต่หันพึ่งพาระบบขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะรถไฟฟ้าจะเป็นจุดศูนย์กลาง โดยมีระบบฟีดเดอร์เชื่อมต่อ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ จะเป็นมหานครโลกแข่งขันกับประเทศญี่ปุ่น
ทุ่ม 1.2 แสนล้าน 5 เมือง
โครงการเมืองแห่งการเดิน เฟสแรก รัฐบาลกำหนดกลางปี 2562 วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท รวมระบบขนส่งมวลชนรอง โดยกำหนดกรอบการพัฒนาเป็นทางเดินเชื่อมทะลุตรอกซอกซอย ทางปั่นจักรยาน จุดเชื่อมต่อโดยรถเมล์และรถไฟฟ้า พื้นที่สีเขียว ภายในรัศมีเฉลี่ย 3.2 ตารางกิโลเมตร หรือ ประมาณ 2,000 ไร่ ต่อ 1 พื้นที่ โดยแต่ละท้องถิ่นจะมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัด และกำหนดยุทธศาสตร์ เป็นภาคบังคับต้องดำเนินการ หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษทางกฎหมายที่ระบุในแผนแม่บท
นายฐาปนา กล่าวต่อว่า การกำหนดพื้นที่นำร่องเฟสแรก 5 เมืองหลัก ได้แก่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล หัวเมืองใหญ่ ได้แก่ เชียงใหม่ อุบลราชธานี สงขลา และขอนแก่น
ศูนย์บางซื่อพลิกโฉมเมือง
สำหรับท้องที่ กทม. ได้แก่ พื้นที่รอบสถานีกลางบางซื่อ ศูนย์รวมการเปลี่ยนถ่ายคมนาคมใหญ่ระดับอาเซียน ทั้งรถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง, สถานีดอนเมือง ซึ่งมีรถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, สถานีบางหว้า สายสีเขียว และสายสีน้ำเงิน, สถานีมีนบุรี เป็นจุดตัดรถไฟฟ้าสายสีส้มและสีชมพู พื้นที่ 3.4 ตารางกิโลเมตร ส่วนนนทบุรี กำหนดพื้นที่รอบสถานีแคราย หน้าศาลากลางจังหวัดนนทบุรี มีรถไฟฟ้าเชื่อมต่อ 3 สาย เช่น สายสีชมพู สายสีม่วง เป็นต้น
ประเมินว่า ทำเลในรัศมีดังกล่าวจะมีอาคารเกิดขึ้น ทั้งศูนย์การค้า โรงแรม ที่อยู่อาศัย จุดค้าขายต่าง ๆ เชื่อว่าอนาคตจะเกิดการเดินเชื่อมถึงกัน ทั้งจากรูปแบบสกายวอล์ก การขยายตรอกซอกซอย การตกแต่งทางเท้า ตลอดจนการเชื่อมทะลุระหว่างอาคาร เพื่อไปขึ้นรถไฟฟ้าและจุดจอดรถสาธารณะ
“แผนแรกเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมจังหวัด แผนออกแบบย่านแห่งการเดิน โซน กทม. – ปริมณฑล คาดว่าน่าจะใช้เวลา 5ปี”
3 หัวเมืองใหญ่ ประเดิม
ส่วนจังหวัดหัวเมือง เน้นพื้นที่ใจกลางเมืองเป็นหลัก เนื่องจากมีแผนพัฒนาระบบรางและรถบัสไฟฟ้าเป็นฟีดเดอร์ จ.เชียงใหม่ เมืองแห่งการเดินอยู่บริเวณย่านถนนนิมมานเหมินทร์-ถนนห้วยแก้วรัศมี 2.5 ตารางกิโลเมตร ส่วน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา อยู่บริเวณหน้าห้างเซ็นทรัลเฟสติวัล-มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) รวมสถานีขนส่ง (บขส.) รัศมี 3.5 ตารางกิโลเมตร จ.ขอนแก่น อยู่บริเวณถนนศรีจันทร์ รัศมี 3.2-3.5 ตารางกิโลเมตร และทำเลใจกลาง จ.อุบลราชธานี 3 ตารางกิโลเมตร ซึ่งท้องถิ่นและเอกชนจะร่วมมือกันพัฒนา
เฟส 2 ลุยกรุงเทพฯชั้นใน
ขณะเฟส 2 จะขยายเข้าสู่กรุงเทพฯชั้นใน เริ่มตั้งแต่ย่านราชประสงค์ สีลม รอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ บริเวณหัวลำโพง-พระราม 4-ทรงวาด ฯลฯ
ขณะเดียวกัน งบประมาณปี 2563 จะดำเนินการใน 10 จังหวัดหลัก และกว่า 10 จังหวัดรอง ที่คัดมาจากเขตภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย, ลำปาง, ตาก, พิษณุโลก, และนครสวรรค์ ภาคกลาง ได้แก่ ปทุมธานี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร และนครปฐม ภาคใต้ ได้แก่ กระบี่, นครศรีธรรมราช, ตรัง, ปัตตานี, สุราษฎร์ธานี และชุมพร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ อุดรธานี, สกลนคร, ร้อยเอ็ด, มุกดาหาร, สุรินทร์, บุรีรัมย์, นครราชสีมา, กาฬสินธุ์ และชัยภูมิก่อน ขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เชื่อว่าอีก 10-20 ปี ประเทศไทยจะเปลี่ยนเป็นเมืองการเดินทุกจังหวัดอย่างแน่นอน
ไม่ทำขัดกฎหมาย
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการให้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ขับเคลื่อนโดยอาศัยแผนแม่บทออกมารองรับ และแยกย่อยเป็น แผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมจังหวัด จากเดิมจะมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ เพียงอย่างเดียว โดยแต่ละท้องถิ่นจะมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจของตัวเองและกำหนดยุทธศาสตร์ดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติจะมีโทษทางกฎหมาย โดยจะกำหนดบทลงโทษไว้ในแผนแม่บท
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ขอเพิ่ม FAR 15 เท่า
ส่วนผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครจะกำหนดแผนออกแบบการเดินไว้ หรือแยกไว้ต่างหาก สามารถทำได้ แต่ทั้งนี้ หากให้เกิดการพัฒนาและลดการใช้รถส่วนตัว ควรเพิ่มค่าเอฟเออาร์ หรือ สัดส่วนพื้นที่อาคารต่อพื้นที่ดิน เขตกรุงเทพฯชั้นใน จาก พ.10 พื้นที่สีแดงพาณิชยกรรม มีน้อยมาก ควรเพิ่มเอฟเออาร์เป็น 1 ต่อ 15 เท่า สร้างได้ 15 เท่าของแปลงที่ดิน หรือ 13-14 เท่า จึงจะเหมาะสมกว่า เพราะราคาที่ดินปรับตัวสูงมาก
สอดคล้องกับ นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ระบุว่า พื้นที่กรุงเทพฯชั้นใน ควรกำหนดค่าเอฟเออาร์ 1 ต่อ 15 ทำให้พัฒนาใจกลางเมืองได้มากขึ้น เพราะที่ดินราคาแพงที่อยู่อาศัยใจกลางเมืองถูกลง
นายแสนยากร อุ่นมีศรี รองผู้อำนวยการ สำนักผังเมือง กทม. ระบุว่า ไม่สามารถปรับค่าเอฟเออาร์สูงตามข้อเสนอได้ ปรับได้แต่เพียงเพิ่มขนาดอาคารใหญ่ขึ้น เช่น ย.1-15 (อยู่อาศัย) จากเดิมมี ย.1-ย.10 โดยค่าเอฟเออาร์เท่าเดิม
ขอบคุณ บทความ
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,414 วันที่ 1 – 3 พ.ย. 2561 หน้า 01-15
http://www.thansettakij.com/content/341730
http://tatp.or.th/walkable-5cities-national-strategic1/?fbclid=IwAR0wbgpZGpR13KOrMsGSAaN-ovMoBaDtuC0xCZWrNytKpiozZNlkpuzf3Iw