หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
วันศุกร์ ที่ 04 สิงหาคม พ.ศ. 2560
ปกหมุด 99 ชุมชนจักรยาน เปลี่ยนวิถี จยย.34 จังหวัด
สสส.ปักหมุด 99 ชุมชนจักรยาน 34 จังหวัด ตั้งเป้าเพิ่มกิจกรรมทางกายไม่น้อยกว่า 80% ในปี 2564 เปิดตัวอย่างชุมชนจักรยานบาเจาะ จ.นราธิวาส ผู้นำท้องถิ่นเปลี่ยนวิถีมอเตอร์ไซด์ ชวนปั่นไปมัสยิด ส่งผลความเชื่อใจในชุมชน
เมื่อวันที่ 4 ส.ค. ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้มีการจัดเวทีสรุปผลการดำเนินงานชุดโครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ ปี 2 “ร้อยภาคี รวมพลังชุมชนจักรยาน ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่อง (ยิ่ง)ใหญ่”โดย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า โรคยุคใหม่ที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตอันดับต้นของประเทศคือ มะเร็ง หัวใจ อุบัติเหตุ ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมรอบตัว หมอและยาแก้ปัญหาทางสุขภาพได้ในระดับหนึ่ง สิ่งสำคัญคือการสร้างสุขภาพด้วยการแก้ไขตั้งแต่ต้นทางนั่นคือที่มาของสสส. ซึ่งการขับเคลื่อนให้เกิดชุมชนจักรยานถือเป็นโจทย์ที่ท้าทาย เพราะเป็นการเปลี่ยนวิถีชีวิต ปรับสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานที่อำนวยความสะดวกและจำเป็นต่อชุมชน ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา สสส.ได้ร่วมกับชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยและภาคีในแต่ละพื้นที่ เพื่อกระตุ้นการสร้างชุมชนจักรยาน สนับสนุนให้ประชาชนใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน จนก่อให้เกิดชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะกว่า 99 พื้นที่ ใน 34จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดชุมชนจักรยานที่ประสบความสำเร็จ พบว่ามี 4 องค์ประกอบที่สำคัญคือ ผู้นำท้องถิ่นร่วมสนับสนุน ชุมชนขานรับ หน่วยงานภาครัฐเห็นดี และภาคีใส่ใจ เพื่อสนับสนุนให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้จักรยาน ทำให้ผู้ใช้จักรยานรู้สึกถึงความปลอดภัย และใช้จักรยานในวิถีชีวิตประจำวัน เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายของประเทศในการเพิ่มกิจกรรมทางกายของคนอายุ 11 ปีขึ้นไป ไม่น้อยกว่า80% ภายในปี 2564
นายอดุลย์ ยีดิง ปลัดอบต.บาเจาะ จ.นราธิวาส กล่าวว่า ชีวิตคนมุสลิมต้องเดินทางไปละหมาดที่มัสยิดอย่างน้อยวันละ 5 ครั้ง ที่ผ่านมาชาวบ้านจะใช้จักรยานยนต์ในการเดินทาง เพราะความสะดวด รวดเร็ว เมื่อชุมชนบาเจาะเข้าร่วมโครงการชุมชนจักรยานเพราะมองว่าสภาพพื้นที่เป็นชุมชนชนบทและเป็นถนนในชุมชน มีความเหมาะสมในการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน อบต.บาเจาะ จึงเป็นแกนนำเปลี่ยนจากมอเตอร์ไซด์เป็นปั่นจักรยานไปมัสยิด ซึ่งผู้นำเป็นคนลงมือปั่นด้วยตนเองทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจในชุมชนและสร้างสันติสุขในพื้นที่
นอกจากนี้เวทีชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ ได้มีการนำเสนอผลงานของชุมชนที่น่าสนใจ อาทิ พลังบวรหนองไม้แก่น จ.กาญจนบุรี นำแนวคิดบ้าน วัด โรงเรียน ทำให้เกิดนวัตกรรมธนาคารจักรยานที่ต่อยอดจากธนาคารขยะชุมชน การบิณฑบาตจักรยานและคลินิกซ่อมจักรยาน ทำให้คนในชุมชนนำจักรยานมาซ่อมและใช้มากขึ้น นักปั่นพันปีเทศบาลเมืองชัยภูมิ นำวิถีคนเมืองเก่าพันปีเพื่อดึงเยาวชนให้เป็นอาสาปั่นพัฒนาชุนชน ชวนคนออกมาใช้จักรยาน ชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะตำบลป่าสัก จ.ลำพูน มีการบูรณาการด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชนเข้ากับแนวคิดชุมชนจักรยาน เช่น การทำป้ายสัญลักษณ์ความปลอดภัยจากฝาถังสี จนเกิดเป็นโมเดลต้นแบบป้ายสัญลักษณ์จราจรจากวัสดุเหลือใช้ อีกทั้งการนำการใช้จักรยานมาผนวกกับโครงการถนนปลอดภัยแก่ผู้ใช้จักรยานในชุมชน และชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะตำบลหายโศก จ.บุรีรัมย์ เกิดนวัตกรรมจักรยานซาเล้งสร้างสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว และผู้สูงอายุเพื่อสามารถใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน มีการเชื่อมการใช้จักรยานเข้ากับกิจกรรมที่เป็นภารกิจของชุมชน เช่น ปั่นคัดแยกขยะ ธนาคารขยะ ปั่นเยี่ยมเพื่อนผู้ป่วยติดเตียง เป็นต้น