“มองญี่ปุ่น” เป็นการประชาสัมพันธ์ให้รู้จักญี่ปุ่นในแง่มุมต่างๆ ผ่านทางสื่อสังคม-สื่ออิเล็กโทรนิก คือเฟสบุ๊กและเว็บไซต์ และมีการให้ความรู้เกี่ยวกับการเดินทางของคนญี่ปุ่นเป็นระยะ เมื่อกล่าวถึงการใช้จักรยาน “มองญี่ปุ่น” ให้ข้อมูลที่น่าสนใจไว้ดังนี้
“พูดถึงจักรยานญี่ปุ่นหลายคนคงนึกถึงจักรยานสวย ๆ ราคาแพง แต่จักรยานพวกนี้เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของชีวิตคนญี่ปุ่นทั่วไปเท่านั้น สิ่งที่เราจะเห็นในชีวิตประจำวันคนญี่ปุ่นไม่ใช่คนในชุดปั่นจักรยานโดยเฉพาะพร้อมหมวก แต่เป็นคนใส่สูทขี่จักรยานไปต่อรถไฟไปทำงาน นักเรียนในชุดนักเรียนขี่จักรยานไปโรงเรียนหรือไปขึ้นรถไฟไปโรงเรียน (นักเรียนหญิงก็ขี่จักรยานได้ทั้งที่นุ่งกระโปรงอยู่) แม่บ้านกับลูกเล็กบนจักรยานคู่ใจออกไปซื้อของ
“ประเทศญี่ปุ่นมีจำนวนจักรยานมากถึงหกสิบเก้าล้านคัน1 หรือประมาณได้ว่าทุก ๆ คนญี่ปุ่น 2 คนจะมีจักรยาน 1 คัน (ข้อมูลปี 2551)2 ถึงแม้ญี่ปุ่นจะมีรถไฟเชื่อมโยงกันเป็นโครงข่ายมากมาย แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถมีบ้านอยู่ใกล้สถานีรถไฟแบบเดินถึงได้ จักรยานจึงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเติมเต็มการเดินทางออกจากบ้านไปยังที่ต่าง ๆ แบบประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าการใช้รถยนต์ส่วนตัว”
เมื่อพูดถึงการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน คนส่วนใหญ่มักจะมองไปที่บางประเทศในยุโรปอย่างเนเธอร์แลนด์และเดนมาร์ก ในเอเชียก็มักจะมองไปที่จีน ซึ่งดูเหมือนว่าการใช้จักรยานจะเป็นวิธีเดินทางที่คนเลือกหรือ “จำเป็นต้องใช้” เนื่องจากสถานะทางเศรษฐกิจ จึงเห็นได้ว่าคนจีนที่มีฐานะดีขึ้นจำนวนมากเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ การใช้จักรยานในญี่ปุ่นจึงน่าสนใจ เพราะคนญี่ปุ่นใช้จักรยานในชีวิตประจำวันในสัดส่วนที่สูงมากเช่นเดียวกับหลายประเทศในยุโรป และไม่ได้ใช้จักรยานเพราะฐานะทางเศรษฐกิจไม่เปิดให้มีทางเลือกอื่นเหมือนในจีน ในมหานครโตเกียว มีคนราวร้อยละ 15 หรือกว่า 4 ล้านคนใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน โดยเป็นการใช้จักรยานบนถนนร่วมไปกับยานพาหนะอื่นเป็นส่วนใหญ่ มีทางเฉพาะสำหรับจักรยานน้อยมาก และสภาพอากาศก็ไม่ได้เอื้ออำนวยเป็นใจไปตลอด ญี่ปุ่นในฤดูร้อน อุณหภูมิขึ้นไปถึง 30 องศาเซลเซียสเป็นเรื่องปกติ ในฤดูหนาว พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศหนาวเย็นมีหิมะตก และมีฝนตกมากในบางช่วงของปีเช่นกัน แต่สภาพเหล่านี้มิได้เป็นอุปสรรคไม่ให้คนญี่ปุ่นแต่งตัวในชุดธรรมดาๆ รวมทั้งสูทและเครื่องแบบต่างๆ และใช้จักรยานธรรมดาๆ เดินทางไปประกอบกิจในชีวิตประจำวัน ญี่ปุ่นยังเด่นในการใช้จักรยานร่วมกับรถไฟดังที่เราเห็นในเนเธอร์แลนด์ เราจะเห็นสถานีรถไฟในหลายเมืองมีอาคารจอดจักรยานขนาดใหญ่ที่มีจักรยานจอดเต็มแน่นเช่นเดียวกับที่เราเห็นภาพจากเนเธอร์แลนด์
ในเรื่องการใช้จักรยานและเดินเป็นวิธีการเดินทางร่วมกับขนส่งสาธารณะนี้กำลังได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจังในสิงคโปร์เช่นกัน โดยรัฐบาลได้ทดลองลดข้อจำกัด เอื้ออำนวยให้ชาวสิงคโปร์นำจักรยาน(พับ)ขึ้นรถไฟ(ฟ้า)ได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น และยังนำขึ้นรถประจำทางได้อีกด้วย การทดลองหกเดือนประสบผลสำเร็จได้รับการต้อนรับจากประชาชนทั่วไปเป็นอย่างดี และได้ประกาศให้เป็นมาตรการถาวรแล้วตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2560 เป็นต้นไป (อ่านบทความเรื่องการส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันในสิงคโปร์ได้ในเว็บไซต์นี้)
สำหรับในไทย ขณะนี้กรุงเทพฯ มีรถไฟฟ้าแล้วสามสาย และกำลังจะเริ่มก่อสร้างอีกจนมีทั้งหมดตามแผนสิบกว่าสาย ขอนแก่นก็จะมีขนส่งสาธารณะระบบรางของตนในอีกไม่นาน และมีแนวโน้มว่าภูเก็ตจะมีตามมา การใช้วิธีเดินและขี่จักรยานร่วมกับใช้รถไฟฟ้าเป็นวิธีเดินทางไปประกอบกิจต่างๆ ในชีวิตประจำวันจึงน่าจะมีคนใช้มากขึ้นในอนาคตข้างหน้า เพราะเช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่นและความจริงก็ทุกเมืองในโลก “สถานีรถไฟไม่ได้อยู่หน้าบ้านทุกคน” สิ่งที่ต้องทำตามมาก็คือการเอื้ออำนวยให้ชาวไทยเดินและขี่จักรยานไปต่อรถไฟได้สะดวก สบาย และปลอดภัย น่ายินดีที่กระทรวงคมนาคมได้รับแนวคิดนี้เป็นนโยบายหนึ่งแล้ว และสถาบันการเดินและการจักรยานไทยก็ได้ริเริ่มทำโครงการนำร่องส่งเสริมให้ประชาชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เดินและใช้จักรยานไปต่อรถไฟฟ้า ยื่นเสนอขอการสนับสนุนจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ไปแล้ว ขณะนี้โครงการกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา หากได้รับการอนุมัติ เราจะนำมาประสัมพันธ์ให้ทราบต่อไป
กวิน ชุติมา กรรมการ-เหรัญญิก สถาบันการเดินและการจักรยานไทย
อ้างอิง
1. 都市交通としての自転車の利用について
2. 平成20年10月1日現在推計人口
3. 日本の自転車
รูปประกอบจาก
http://blog.goo.ne.jp/471102hi/e/09cafed9ba2986e6791a89c881d56488
http://www.sapporoshiroishi.hokkaido-c.ed.jp/gyouji/2012/20120910%20jiten-sha%20shidou/20120910%20jiten-sha%20shidou.html
http://cycling-blog.sakura.ne.jp/2010/08/-2.shtml
แหล่งข้อมูล: มองญี่ปุ่น https://japan1616.wordpress.com/2014/06/03/bicycle-in-daily-life/