ปัญหาโลกร้อนเกิดจากการที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศในปริมาณที่เกินกว่าโลกจะดูดซึมไว้ได้ ก๊าซเรือนกระจกนี้เชื่อกันว่าร้อยละ 50 มาจากภาคการเดินทางและขนส่ง ดังนั้น หากเราลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเดินทางและขนส่งได้ เราก็จะสามารถช่วยโลกไม่ให้ร้อนได้ การเดินทางขนส่งในอดีตเราใช้วิธีการเดินหรือใช้ช้าง ม้า ลา ล่อ เป็นพาหนะในการขนส่ง จึงไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหมือนในปัจจุบัน แต่เทคโนโลยีในยุคนี้ทำให้เราหันมาใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน เช่น รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ เครื่องบิน เรือยนต์ มาเป็นพาหนะในการเดินทาง ซึ่งยานพาหนะเหล่านี้ล้วนเป็นตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้น
โลกได้ตระหนักรู้แล้วว่า โลกต้องร่วมกันหามาตรการแก้ไขปัญหานี้โดยไม่สนใจว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐจะพูดหรือมีนโยบายอย่างไร และหนึ่งในมาตรการนั้นคือระบบที่โลกเรียกว่า “การสัญจรอย่างยั่งยืน” หรือ Sustainable Mobility (SM) ซึ่งก็คือ การเดินและการจักรยานในวิถีชีวิตประจำวันของพลเมืองโลก ถึงขนาดที่โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติได้ออกแถลงการณ์ให้ทุกประเทศทั่วโลกใช้งบประมาณอย่างน้อยร้อยละ 20 ของงบประมาณการก่อสร้างถนน มาสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่อำนวยความสะดวกและปลอดภัยแก่การเดินและการใช้จักรยาน (UN Environment, 2016; ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย, 2016)
วิธีการหนึ่งที่จะทำให้การเดินและการใช้จักรยานของประชาชนคนทั่วไปทำได้อย่างปลอดภัย ซึ่งจะชักจูงให้คนหันมาเดินและใช้จักรยานมากขึ้น คือ การกำหนดให้อัตราการเร็วของรถต่างๆบนถนนที่เป็นเขตที่พักอาศัยหรือเขตพาณิชย์ของชุมชน ไว้ไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพราะหากเกินกว่านั้นอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถชนคนเดินหรือขี่จักรยานจะสูงขึ้นอย่างมากอย่างน่าตกใจ (รูปที่ 1) จากรายงานวิจัยของ Rosén และ Sander (2009) พบว่าหากโดนรถชนด้วยอัตราเร็ว 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะมีโอกาสเสียชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 10 ในขณะที่ถ้าความเร็วเพิ่มขึ้นเป็น 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โอกาสเสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 40 และหากโดนชนที่ความเร็ว 75 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คนที่โดนชนจะไม่มีโอกาสรอดชีวิตเลย ข้อมูลนี้เป็นสิ่งที่องค์การอนามัยโลกได้ใช้ในการรณรงค์ให้ทุกประเทศทั่วโลกหันมาสร้างความปลอดภัยให้แก่ประชาชนคนเดินเท้าและคนขี่จักรยานโดยเฉพาะในกรณีที่ใช้งานเป็นวิถีชีวิตประจำวัน
รูปที่ 1 องค์กรอนามัยโลก (WHO) กำหนดอัตราเร็วของรถยนต์ไว้ไม่เกิน 30 กม./ชม. เพื่อความปลอดภัย
ที่มา: World Health Organization (2004) ดัดแปลงจาก Pasanen (1992)
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีความไม่เข้าใจในประเด็นนี้นัก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ กรุงเทพมหานครยังคงกำหนดอัตราเร็วของรถยนต์หรือพาหนะอื่น ไม่ว่าจะเป็นมอเตอร์ไซค์ หรือรถตุ๊กตุ๊ก ไว้ที่ไม่เกิน 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในบางถนนบางพื้นที่ ทั้งที่ถนนนั้นพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่เขตค้าขายของชุมชนที่มีคนเดินข้ามถนนไปมาตลอดเวลา (รูปที่ 2) หรือเป็นพื้นที่ชุมชนที่อยู่อาศัยที่มีแม้กระทั่งโรงเรียนเด็กเล็กอยู่ในบริเวณ (รูปที่ 3) เราได้สอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการของสำนักการจราจรและขนส่งของกรุงเทพมหานคร ได้ความว่า การกำหนดอัตราเร็วนั้นกทม.ใช้หลักทางวิศวกรรม คือ ความกว้างของถนนเป็นเกณฑ์ ซึ่งหากกว้างมากพอก็จะกำหนดอัตราเร็วของยานพาหนะไว้สูงขึ้นตามไปด้วย
รูปที่ 2 ตัวอย่างป้ายอัตราเร็ว 45 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในเขตพาณิชย์ของชุมชน (ซอยอารี ถนนพหลโยธิน)
รูปที่ 3 ตัวอย่างป้ายอัตราเร็ว 45 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในเขตที่พักอาศัยที่มีโรงเรียนเด็กเล็กอยู่ด้วย
(ซอยราชครู พหลโยธิน)
เราขออนุญาตที่จะไม่เห็นด้วยกับวิธีคิดและหลักเกณฑ์ที่ว่านี้ และได้ทักท้วงไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกรุงเทพมหานคร ซึ่งต้องขอบคุณกรุงเทพมหานครเป็นอย่างมากที่เข้าใจในประเด็นความปลอดภัยนี้ได้อย่างรวดเร็วและได้ทำการเปลี่ยนป้ายกำหนดอัตราเร็วของรถยนต์ใหม่ จาก 45 เป็น 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง แทบจะทันที (รูปที่ 4 และ 5) ตามคำแนะนำขององค์กรอนามัยโลก แต่ถ้าจะให้ดีไปกว่านั้นเราเห็นว่า กรุงเทพมหานครก็ควรไม่กำหนดอัตราเร็วของยานพาหนะโดยอิงเกณฑ์ทางวิศวกรรม(ความกว้างของถนน)แต่เพียงอย่างเดียว แต่ควรต้องเอาบริบททางการใช้ประโยชน์พื้นที่ของสังคมบริเวณนั้นมาประกอบการกำหนดอัตราเร็วที่ว่านี้ด้วย โดยอาจต้องยกระดับเกณฑ์ทางสังคมนี้ไปถึงการกำหนดเป็นเกณฑ์ภาคบังคับเสียด้วยซ้ำ และเมื่อประกาศอัตราเร็วของรถยนต์ให้เกิดความปลอดภัยแล้ว คราวนี้ก็ต้องเป็นภารกิจและความรับผิดชอบของตำรวจจราจรที่ต้องบังคับใช้กฎหมายนี้อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม การส่งเสริมให้การเดินและการจักรยานจึงจะเกิดขึ้นได้จริง
นอกจากการสัญจรอย่างยั่งยืน (SM) ที่เป็นกระแสโลกแล้ว องค์การสหประชาชาติยังได้กำหนดเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ขึ้นมาอีกด้วย โดยประเทศไทยได้ลงนามรับรองที่จะนำเป้าหมายนี้ไปเป็นเป้าหมายของประเทศด้วยเช่นกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรี นายประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้ออกมากำหนดเป็นนโยบายรัฐ รวมทั้งสั่งการให้หน่วยงานทุกแห่งรับนำไปวางแผนจัดทำโครงการหรือแผนงานที่จะตอบโจทย์ SDGs นี้ และเชื่อหรือไม่ว่าการเดินและการจักรยานสามารถเป็นคำตอบที่มุ่งสู่ SDGs นี้ได้อย่างที่ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมได้อย่างง่ายๆ รายละเอียดว่าเป็นคำตอบต่อ SDGs ได้อย่างไร ดูได้ที่ (ธงชัย พรรณสวัสดิ์, 2016)
รูปที่ 4 ป้ายอัตราเร็วในพื้นที่เขตค้าขายของชุมชนที่กรุงเทพมหานครกำหนดใหม่เป็น 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง (ซอยอารี ถ.พหลโยธิน)
รูปที่ 5 ป้ายอัตราเร็วในในเขตที่พักอาศัยที่มีโรงเรียนเด็กเล็กอยู่ด้วย ที่กรุงเทพมหานครกำหนดใหม่เป็น 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง (ซอยราชครู ถ.พหลโยธิน)
สิ่งที่น่าดีใจไม่ใช่การที่กรุงเทพมหานครปรับเปลี่ยนป้ายจราจรตามที่เราร้องขอ แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ หากภาคส่วนราชการท้องถิ่นอันหมายรวมไปถึงเทศบาลอื่นๆทั่วประเทศ เข้าใจในความสำคัญนี้ และปรับกระบวนทัศน์ให้ถูกต้องและตรงตามกระแสการสัญจรอย่างยั่งยืน(SM)ของโลก นั่นหมายความว่าสังคมจะมีความปลอดภัยมากขึ้นและจะมีประชาชนหันมาเดินทางในระยะทางสั้นๆด้วยการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันมากขึ้น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะลดลง และโลกก็จะร้อนน้อยลงด้วยมือ (และขา) ของเราทุกคน
ขอขอบคุณกรุงเทพมหานครอีกครั้งด้วยความจริงใจ
เอกสารอ้างอิง
- UN Environment (2016). Global Outlook on Walking and Cycling 2016. UN Environment, Nairobi. Available at http://www.unep.org/transport/sharetheroad/PDF/globalOutlookOnWalkingAndCycling.pdf
- World Health Organization (2004). Road Safety –Speed. Available at http://www.who.int/violence_injury_prevention/publications/road_traffic/world_report/speed_en.pdf
- ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย (2016). สหประชาชาติเรียกร้องให้จัดงบประมาณคมนาคมขนส่งอย่างน้อยร้อยละ 20 ให้กับการเดินและการใช้จักรยาน Available at http://www.thaicyclingclub.org/%e0%b8%9a%e0%b8%97%e0%b8%84%e0%b8%a7%e0%b8%b2%e0%b8%a1/%e0%b8%9a%e0%b8%97%e0%b8%84%e0%b8%a7%e0%b8%b2%e0%b8%a1%e0%b8%97%e0%b8%b1%e0%b9%88%e0%b8%a7%e0%b9%84%e0%b8%9b/2016/11/02/%e0%b8%aa%e0%b8%ab%e0%b8%9b%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%8a%e0%b8%b2%e0%b8%8a%e0%b8%b2%e0%b8%95%e0%b8%b4%e0%b9%80%e0%b8%a3%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b8%81%e0%b8%a3%e0%b9%89%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b9%83%e0%b8%ab/
- Rosén, E., & Sander, U. (2009). Pedestrian fatality risk as a function of car impact speed. Accident Analysis & Prevention, 41(3), 536-542. doi: http://dx.doi.org/10.1016/j.aap.2009.02.002
- ธงชัย พรรณสวัสดิ์ (2016). แล้ว SDG มันมาเกี่ยวอะไรกับเรื่องเดินเรื่องจักรยาน Available at
ดนยภรณ์ พรรณสวัสดิ์
มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ธงชัย พรรณสวัสดิ์
สถาบันการเดินและการจักรยานไทย
กรรมการ World Cycling Alliance