หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ
ดร.เฉลิมพล ไวทยางกูร
สุขภาพอนามัยของประชาชนคนไทย ดูเหมือนจะมีความเสี่ยงมากขึ้นทุกวัน
จากการที่ร่วมประชุมกับกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พบว่าการเสียชีวิตของคนไทยที่เกิดจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อ (Non-communicable Diseases) หรือ NCDs ซึ่งประกอบด้วยโรคหลักคือ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคทางเดินหัวใจเรื้อรัง และโรคเบาหวานได้ทวีความรุนแรงอย่างชัดเจนจากปี 2552 ที่มีผู้เสียชีวิต 314,340 คน ในปี 2556 มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 349,090 คน เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 8,687.5 คนต่อปี อัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปีนี้มาจากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุหนึ่งที่เกี่ยวกับเรื่องของสุขภาพอนามัยก็คือ ความชุกของการมีกิจกรรมทางกายที่ไม่พอเพียงในประชากรอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 18.5 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 19.2 ในปี 2557
ภาครัฐ โดยกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ร่วมกันรณรงค์เรื่องสุขภาพอนามัยของประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลเองที่ผ่านๆมาก็ให้การสนับสนุน แต่สุขภาพอนามัยของคนไทยก็ดูจะไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร จึงเป็นเรื่องที่ประชาชนทุกภาคส่วนควรเข้ามามีบทบาทให้มากขึ้น เพราะท้ายที่สุดแล้วประชาชนก็ต้องตกเป็นผู้รับเคราะห์จากการละเลยของตัวเอง มากกว่าจากการกระทำของผู้อื่น
การสร้างเสริมสุขภาพให้แข็งแรงในภาคประชาชนได้ทำกันมานานหลายสิบปี แม้ว่าจะขยายตัวได้มากขึ้นแต่ก็ยังไม่ทันกับอัตราความสูญเสียที่เกิดจากการละเลยเรื่องสุขภาพของประชาชน ถ้าจะว่าไปแล้วกลุ่มคนที่สูญเสียจำนวนมากเป็นกลุ่มคนในเขตเมือง มากกว่ากลุ่มคนชนบทด้วยซ้ำ แม้ว่าปัจจุบันจะมีตัวช่วยเพิ่มขึ้นเช่นมีธุรกิจบริการเกี่ยวกับการออกกำลังกาย มีกิจกรรมออกกำลังกายกลางแจ้งอย่างเป็นกิจจะลักษณะ แต่ก็ดูเหมือนยังไม่พอเพียงที่จะลดอัตราการสูญเสีย
ท่ามกลางกิจกรรมเหล่านี้ มีอยู่กิจกรรมหนึ่งที่เป็นที่สนใจในปัจจุบัน นั่นคือการออกกำลังกายโดยการปั่นจักรยาน ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบอยู่กับที่หรือปั่นไปในสถานที่ต่างๆ ความนิยมได้เพิ่มขึ้นเพราะคนรุ่นใหม่ใส่ใจสุขภาพ และธุรกิจเครื่องมืออุปกรณ์เกี่ยวกับจักรยานที่ดึงดูดความสนใจทั้งคนรุ่นใหม่และรุ่นเก่า
การผลักดันเรื่องการขี่จักรยาน แม้ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ แต่ถ้าประชาชนไม่ยอมรับการสนับสนุนและยังติดอยู่กับการใช้ชีวิตแบบเดิมๆ ชีวิตก็คงเหมือนเดิม ภาคเอกชนจึงได้มีการรวมกลุ่มสร้างกิจกรรมเกี่ยวกับจักรยานที่หลากหลายมากขึ้น รวมทั้งมีการให้ความรู้ทางวิชาการในหลายมิติที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากจักรยาน ตลอดถึงการเดินวิ่งออกกำลังอื่นๆที่มักทำควบคู่กันไป
เมื่อต้นเดือนมีนาคมปีนี้ ได้มีการจัดประชุมส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ซึ่งได้จัดเป็นครั้งที่ 5 เป็นการจัดสัมมนาทางวิชาการหนึ่งที่เน้นการสร้างความเป็นมิตรต่อการเดินและการใช้จักรยานอย่างจริงจังและยั่งยืน จัดโดยมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย ที่พัฒนามาจากชมรมเมื่อหลายปีก่อน ถือเป็นอีกย่างก้าวที่สำคัญของวงการจักรยานที่หลากหลายมากขึ้น และสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ที่ต้องการให้ประชาชนคนไทยใช้จักรยานในชีวิตประจำวันมากขึ้น มิใช่เพียงเพื่อออกกำลังแต่เพียงอย่างเดียว
ได้มีโอกาสเข้าร่วมการสัมมนาครั้งนี้ และพบว่ามีนักวิชาการจากหลายสถาบันของประเทศได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น มีการทำวิจัยและออกบทความวิจัยเกี่ยวกับความเกี่ยวข้องระหว่างประชาชนคนใช้จักรยานกับมิติอื่นๆในสังคมที่หลากหลาย สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้เพิ่มการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ในเขตเมือง (Non-motorized Transport) มากขึ้น จากการเข้าร่วมการสัมมนาพบว่า มิติของสังคมและชุมชนที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตกับสิ่งที่ไม่ใช่เครื่องยนต์สามารถเพิ่มระดับการพัฒนาประเทศได้เช่นกัน ไม่ว่าด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการขนส่ง ด้านพลังงาน ด้านพัฒนาเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ การพัฒนาการเดินทางด้วยยานพาหนะที่ไม่ใช้เครื่องยนต์สามารถตอบโจทย์ได้อีกมากมายไม่เฉพาะที่กล่าวข้างต้น แต่รวมถึงสภาวะสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น มลพิษจากไอเสียเครื่องยนต์ลดลง รวมถึงมิติทางด้านจิตใจของคนที่ใช้ยานพาหนะที่ไม่ใช่เครื่องยนต์ด้วยกัน ผลงานวิจัยที่ผู้ทำวิจัยส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการอาจารย์มหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐและเอกชนได้นำเสนอ ทั้งในพื้นที่เขตกรุงเทพและต่างจังหวัด ทำให้เห็นว่าในสภาพปัจจุบัน การจะขับเคลื่อนให้การใช้ชีวิตไม่ต้องพึ่งยานพาหนะที่ใช้เครื่องยนต์นี้เกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นด้านกฎหมายและนโยบาย ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านระบบขนส่งและการเชื่อมต่อ ด้านทัศนคติและพฤติกรรมความคุ้มค่าทางสังคม ซึ่งนอกเหนือจากด้านสุขภาพ สังคมชุมชน ท่องเที่ยว กีฬา อย่างที่เคยเข้าใจกันในอดีต
การใช้พาหนะที่ไม่ใช่เครื่องยนต์ของประเทศไทยได้ก้าวมาสู่จุดเปลี่ยนอีกครั้ง ที่รัฐบาลให้ความสำคัญโดยกำหนดไว้เป็นนโยบายสำคัญนโยบายหนึ่งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 มีผลบังคับระหว่างปี 2560 ถึงปี 2564 แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือการสร้างสุขภาพอนามัยที่ดีให้กับประชาชนคนไทยทั้งคนรุ่นใหม่และรุ่นเก่าโดยพร้อมหน้า สุขภาพทางกายที่ดี ช่วยสร้างเสริมให้เป็นคนที่มีจิตใจดีได้เช่นกัน อย่างที่มีคำกล่าวว่า Sound mind in sound body หรือ จิตใจที่ดี ย่อมอยู่ในร่างกายที่แข็งแรง
ที่สำคัญที่สุดก็คือสุขภาพที่แข็งแรงนี้ ไม่สามารถหาซื้อได้ แต่ต้องทำเองเท่านั้น