Home ข้อมูลความรู้ บทความ ขี่จักรยานให้บ่อยขึ้น…เพื่อทำให้โลกเย็นลง

จัดทำโดย สหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป (European Cyclists’ Federation –ECF)

Cycle more Often 2 cool down the planet! Quantifying CO2 savings of cycling

บทสรุปผู้บริหาร

ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2533 ถึง 2550 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคการขนส่งในสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นร้อยละ 36 ในขณะที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคส่วนอื่นลดลงร้อยละ 15 ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น การบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้กลายมาเป็นหัวใจของนโยบายการขนส่งและหัวใจของนโยบายกว้างๆ ของสหภาพยุโรป   สหภาพยุโรปได้ตั้งเป้าไว้ว่า ในปี พ.ศ. 2593 จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนลงให้ได้ร้อยละ 80-95 เมื่อเทียบกับระดับการปล่อยในปี 2533 เช่นนั้น ภาคการขนส่งจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนได้ราวร้อยละ 60

เมื่อประเมินวิธีการขนส่งแบบต่างๆ แล้ว พบว่า การใช้จักรยานจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้อย่างสำคัญ ถึงแม้ว่าการใช้จักรยานจะไม่ใช่วิธีการขนส่งที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเลยก็ตาม แต่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเมื่อใช้จักรยานน้อยกว่าเมื่อใช้รถยนต์ส่วนตัวไม่ต่ำกว่า 10 เท่า การศึกษาพบว่า จักรยานไฟฟ้า (Pedelec) แม้จะมีเครื่องยนต์ไฟฟ้ามาช่วยในการเคลื่อนที่ ก็ยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับเดียวกับจักรยานธรรมดา

การศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า หาก 27 ประเทศของสหภาพยุโรปใช้จักรยานในระดับเดียวกับประเทศเดนมาร์ก การใช้จักรยานจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคขนส่งลงได้ร้อยละ 12-26 ของเป้าหมายที่ตั้งไว้สำหรับปี 2593 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้จักรยานแทนการขนส่งวิธีใด การประมาณการและสถานการณ์จำลองส่วนใหญ่ ถ้าไม่ใช่ทั้งหมด ได้ข้อสรุปว่า มาตรการที่เน้นไปที่การปรับปรุงเพียงอย่างเดียวไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรปได้ ไม่ว่าจะเป็นระยะกลางหรือระยะยาว   มีการประเมินว่า มาตรการปรับปรุงต่างๆ จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคขนส่งได้เพียงร้อยละ 20 ในปี 2593 หากใช้ระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2533 เป็นฐาน

นอกจากการพัฒนาในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ แล้ว การจะบรรลุให้ได้ตามวัตถุประสงค์ของสหภาพยุโรปต้องมีแผนที่ทะเยอทยานที่มองไปข้างหน้าที่การเปลี่ยนวิธีการเดินทางขนส่งทั่วสหภาพยุโรปไปจากการใช้รถยนต์ส่วนตัว อาจเป็นการใช้จักรยานธรรมดาๆ จักรยานไฟฟ้า และระบบจักรยานสาธารณะ ทั้งเฉพาะการใช้วิธีการเหล่านี้ตามลำพังด้วยตัวเอง หรือใช้ผสมผสานร่วมกับระบบขนส่งมวลชน ไม่ว่าจะเป็นวิธีใดก็ล้วนมีศักยภาพที่จะมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงวิธีการขนส่งไปจากการใช้รถยนต์ส่วนตัวทั้งสิ้น

** (บทความยาว ติดตามอ่านเป็นตอนๆได้ที่นี่)

*** เนื้อหาภาคภาษาอังฤษ ดัง link นี้ https://ecf.com/sites/ecf.com/files/ECF_CO2_WEB.pdf

(แปลและเรียบเรียง : กวิน ชุติมา กรรมการสถาบันการเดินและการจักรยานไทย)

Print Friendly, PDF & Email