Home ข้อมูลความรู้ บทความ กำหนดพื้นที่และวางกรอบเวลา ทางลัดพัฒนาเมืองจักรยาน

กำหนดพื้นที่และวางกรอบเวลา ทางลัดพัฒนาเมืองจักรยาน

กำหนดพื้นที่และวางกรอบเวลา ทางลัดพัฒนาเมืองจักรยาน

เรียบเรียงจากหนังสือ “ประเทศไทยสร้างเมืองจักรยานได้ ฉบับผู้บริหารเมือง” จัดทำโดย มูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย

Bicycle Street Lane Sign On Road

สำหรับชุมชนหรือเมืองที่ไม่เคยทำเรื่องขับเคลื่อนให้ใช้จักรยานเลย คนทำงานอาจจะมองว่าเป็นเรื่องใหญ่ วิธีที่จะช่วยให้ง่ายขึ้นคือ (1) กำหนดพื้นที่ที่จะทำงานให้ชัดเจน (2) กำหนดการทำงานเป็นระยะ (Phase) เพียงเท่านี้ก็จะทำให้การทำงานพัฒนาพื้นที่ให้เป็นชุมชนจักรยานดูใกล้ความจริงขึ้นแล้ว

กำหนดพื้นที่การทำงาน

เริ่มจากคณะทำงานลงมือกำหนดขอบเขตพื้นที่การทำงานของตัวเองให้ชัดเจน เพื่อให้บริหารจัดการง่ายขึ้น เนื่องจากการทำงานกับชุมชนหรือเมืองที่มีขนาดใหญ่ และไม่เคยมีประสบการณ์การขับเคลื่อนเรื่องวิถีจักรยานเลย อาจจะดูเป็นเรื่องยาก เพราะโครงสร้างของเมืองใหญ่มีความซับซ้อน ความหนาแน่นของประชากรสูง

การกำหนดขอบเขตในการทำงานที่เหมาะสม เช่น ระบุว่าเป็นพื้นที่ในเขตใด เป็นซอยหรือเป็นชุมชนที่มีพื้นที่ชัดเจน และไม่ควรมีขนาดใหญ่จนเกินไป จะช่วยให้มองเห็นแนวทางการทำงานที่ชัดเจนมากขึ้น ว่าในแต่ละพื้นที่ต้องดำเนินการเรื่องใด ขับเคลื่อนสร้างชุมชนนี้ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบ เพื่อขยายแนวคิดให้เมืองหรือชุมชนอื่นนำแนวทางของพื้นที่ไปขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นได้จริงต่อไป

การขับเคลื่อนให้เกิดผลสำเร็จ ไม่จำเป็นต้องขับเคลื่อนทั้งเมืองหรือทั้งจังหวัดไปพร้อมกัน การตีกรอบกำหนดขอบเขตของพื้นที่เมืองที่ต้องการพัฒนา สู่การเป็นเมืองจักรยานในขอบเขตไม่กว้างใหญ่นัก จะทำให้เห็นผลการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมได้ พื้นที่เมืองขนาดเล็กเป็นต้นแบบของการขับเคลื่อนเมืองจักรยานที่ดี เพราะมองเห็นองค์ประกอบของการขับเคลื่อนครบถ้วน ทั้งการสร้างกลุ่มแกนนำในพื้นที่ที่เป็นหัวขบวน มีกระบวนการทำงานที่เกิดการทำงานกับฐานข้อมูล การมีส่วนร่วมของคนในชุมชน หน่วยงานในท้องถิ่น และมีการพัฒนาพื้นที่ทางกายภาพให้เกิดความเชื่อมั่นในการปั่นอย่างปลอดภัย รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อจักรยานกับระบบการเดินทางอื่นๆ

วางกรอบระยะเวลา

การขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาให้เกิดเมืองจักรยานให้เป็นจริงนั้น แม้ว่าจะตีกรอบพื้นที่เพื่อพัฒนากายภาพของเมืองให้เหมาะสมกับการสนับสนุนให้เกิดการเดินหรือการใช้จักรยานแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายและทำได้รวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพื้นที่นั้นเป็นเมืองใหญ่ การขับเคลื่อนบนความซับซ้อนของเมืองนั้นเป็นเรื่องยาก เนื่องจากเป็นการสร้างหรือเปลี่ยนวิถีของผู้คนในเมืองนั้น พร้อมกับการสร้างกายภาพสิ่งแวดล้อมใหม่ที่เอื้อต่อการเดินหรือใช้จักรยาน ก็นับเป็นเรื่องยากเช่นกัน

ดังนั้นการทำงานเรื่องเมืองจักรยานจึงอาจจะต้องมองการทำงานเป็นระยะ (Phase) ซึ่งต้องวางจังหวะการทำงานให้ชัดเจนว่าจะต้องดำเนินการในเรื่องใหญ่ๆ เรื่องใดบ้าง มีเรื่องใดที่ควรจะทำก่อน เรื่องใดควรทำทีหลัง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้มองเห็นการดำเนินงานที่ชัดเจน และช่วยการขับเคลื่อนนั้นเกิดขึ้นบนความเป็นจริงที่จะทำให้สำเร็จได้

Print Friendly, PDF & Email