ทำธุรกิจที่จอดจักรยานแต่ไม่มีคนมาใช้ แทนที่จะเลิกแล้วหันไปทำธุรกิจอื่น เขากลับเลือกที่จะหาคำตอบให้กับความผิดหวังนั้นด้วยการไปหาคำตอบที่เนเธอร์แลนด์ ดินแดนที่คนใช้จักรยานเป็นอันดับ 1 ของโลก จากนั้นก็อาสามาช่วยงานให้กับมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย เพราะความสนใจส่วนตัวเรื่องจักรยาน ตอนนี้ทำงานเป็นนักวิจัยที่ TDRI ซึ่งก็ยังคงเกี่ยวข้องกับนโยบายเรื่องจักรยานอยู่ดี
นี่คือเรื่องราวของ “นันทชาติ รัตนบุรี” ซึ่งถือว่าเป็นคนคุ้นเคยของมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย ใครที่ได้ร่วมงานกับมูลนิธิฯ ภายใน 2 ปีที่ผ่านมา คงจะคุ้นหน้าคุ้นตาผู้ชายหน้าตาใจดี มีรอยยิ้มสดใสคนนี้กันอยู่บ้าง แต่น้อยคนนักที่จะรู้เรื่องราวของเขา เพจเดินไปปั่นไปคิดว่าเราควรจับเขามานั่งคุยกันจริงจังสักครั้ง ว่าอะไรที่ขับเคลื่อนให้เขาข้องเกี่ยวกับจักรยานอย่างมุ่งมั่นมานับสิบปี คำตอบนอนรออยู่ใต้ภาพแล้วครับ
(1) จุดประกายจากความล้มเหลว
“ผมเริ่มสนใจเรื่องจักรยานตั้งแต่ตอนที่ทำธุรกิจ Social Enterprise ที่เคยทำเมื่อเกือบสิบปีก่อน ตอนแรกไม่ได้คิดเรื่องจักรยาน ตอนนั้นแค่มีไอเดียกับเพื่อนว่าเราเป็นคนกรุงเทพฯ แล้วเราเจอรถติดบ่อย ติดกันนาน 2-3 ชม. คิดว่าทำไมเราต้องทนกับปัญหารถติดในกรุงเทพฯ ซึ่งมันก็มีวิธีเดินทางด้วยรูปแบบอื่นๆ ซึ่งไม่ต้องเอารถมาอยู่บนถนน ซึ่งตอนนั้นเราก็มองว่าเรื่องจักรยานน่าสนใจ
แล้วตอนนั้นเริ่มมีกระแสจักรยานบูมพอดี คนก็เริ่มออกมาขี่จักรยานในเชิงนันทนาการกันเยอะขึ้น เราก็มองว่ามันก็เป็นโอกาสทางธุรกิจ คิดว่าน่าจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่ไปเปลี่ยนไปใช้จักรยานในการเดินทางมากขึ้น ก็เลยลองคิดธุรกิจที่ตอบโจทย์คนใช้จักรยานในกรุงเทพฯ ขึ้นมา คือธุรกิจที่จอดจักรยานปลอดภัย ตอนนั้นเราดีลกับโฮสเทลในกรุงเทพฯ 3 แห่ง
แต่พอทำไปเรื่อยๆ มันก็มีปัญหาเยอะแยะ หนึ่งในนั้นคือผมเองยังไม่เข้าใจพฤติกรรมของคนใช้จักรยาน เราทำที่จอดจักรยานปลอดภัย แต่ไม่มีคนมาจอด ตอนที่เราทำแบบสอบถามกับคนใช้จักรยาน เขาก็บอกว่าเรื่องที่จอดจักรยานน่ะเป็นปัญหาอันดับหนึ่งของการใช้จักรยานในกรุงเทพฯ แต่พอเราทำที่จอด มันกลับไม่มีคนมาใช้
พอไม่มีคนมาใช้บริการก็เลยทำให้เราเกิดความสงสัยว่าเพราะอะไร พฤติกรรมของคนใช้จักรยานถึงไม่เป็นไปตามที่เราคิด เราก็พยายามค้นหาคำตอบ เปลี่ยนแผนธุรกิจไปมาอยู่ 2 ปี จนสุดท้ายคุยกับเพื่อนว่าคงไม่ได้แล้วล่ะ โดยที่ยังไม่เข้าใจว่าเพราะอะไรคนถึงไม่เข้ามาจอด ธุรกิจในเชิงสังคมแบบนี้มันไม่เกี่ยวกับผู้บริโภคอย่างเดียว แต่มันเกี่ยวกับเมืองและสภาพแวดล้อมด้วย ซึ่งจะมีผลให้คนเข้ามาใช้บริการหรือไม่ใช้
ดังนั้นจึงเป็นความสนใจว่ามันมีอะไรที่อยู่นอกเหนือเรื่องธุรกิจที่เราไม่รู้อีกหรือเปล่า เหมือนเป็นเชื้ออันหนึ่งที่ทำให้เราอยากไปเรียนต่อที่เนเธอร์แลนด์ เพราะเราก็รู้มาตลอดว่าเนเธอร์แลนด์เป็นเมืองจักรยานที่ก้าวหน้าที่สุดในโลกตอนนี้ ถ้าเราไปเห็นว่าคนที่นั่นเขาใช้ชีวิตยังไง และกว่าที่เขาจะมาถึงตรงนั้นเขาผ่านอะไรมาบ้าง ไปทำความเข้าใจ และอาจจะเอาไอเดียมาช่วยส่งเสริมเรื่องของการทำธุรกิจในกรุงเทพฯ ได้มากขึ้น ตอนนั้นคิดแค่นั้นเลย เราก็เลยตัดสินใจไปเรียน”
(2) เสาะหาคำตอบที่แดนกังหัน
“ผมตั้งเป้าว่าเป็นเนเธอร์แลนด์ก่อนเลย แล้วค่อยเลือกมหาวิทยาลัย (หัวเราะ) พอเลือกคณะที่จะเรียนก็ไม่ค่อยเจอที่เหมาะกับเรา เพราะผมเรียนจบบัญชีมา จะไปเรียนเรื่องเมือง เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน พอสมัครไปที่ไหนก็ไม่มีที่ไหนรับ สุดท้ายก็ได้เรียนที่ Erasmus University Rotterdam ที่รอตเตอร์ดัม เขาเปิดกว้าง ไม่สนว่าจบด้านไหนมา ก็ได้ไปเรียนปริญญาโทด้านพัฒนาเมืองที่นี่ (หลักสูตร Urban Management and Development)
ผมได้เปิดโลกอีกแบบ ได้เห็นว่าเมืองจักรยานที่ควรจะเป็น มันเป็นยังไง พออยู่กรุงเทพฯ เราก็มีเมืองจักรยานในแบบที่เราคิด อย่างตอนที่เราทำธุรกิจเราคิดว่าที่จอดจะต้องน่าใช้ ไปอยู่ในโรงแรม มีไวไฟฟรี กินน้ำฟรี มีล็อกเกอร์ให้ แต่พอไปอยู่ที่เนเธอร์แลนด์ เราเห็นเลยว่าที่จอดจักรยานของเขามันก็แค่อยู่ใกล้รถไฟฟ้า แต่ใหญ่มาก จอดได้เป็นพันคัน แล้วคนก็จอดกันเต็ม มันก็เป็นอีกไอเดียว่าจริงๆ แล้วที่จอดจักรยานมันไม่ได้จำเป็นจะต้องหรูหรา มันควรเน้นความสะดวกและปลอดภัยเป็นหลัก
มันก็ค่อยๆ เข้าใจว่าสิ่งที่เมืองจักรยานเขาเป็น ทำไมคนที่นั่นใช้จักรยานเยอะ คือเมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว เนเธอร์แลนด์เขาก็มีรถยนต์เยอะเหมือนกรุงเทพฯ นี่ล่ะ แล้วจุดระเบิดคนเนเธอร์แลนด์ก็คือเรื่องอุบัติเหตุทางท้องถนน พอมีรถยนต์มากขึ้น คนก็โดนรถชนบ่อย แล้วที่สังคมเขารู้สึกทนไม่ไหว คือเรื่องเด็กเสียชีวิตจากรถชนเยอะ มันก็เลยเกิดการประท้วงที่หนักมาก ประท้วงกันทั่วประเทศ สังคมเกิดกระแสต่อต้านว่าเมืองไม่ควรจะใช้รถยนต์อีกแล้ว ควรจะมีวิธีการอื่นที่จะทำให้อุบัตเหตุลดลง มลพิษลดลง ทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น มันก็เป็นแรงกดดันไปที่รัฐบาล
รัฐบาลเขาก็ลองผิดลองถูกหลายแบบว่าจะทำยังไงให้คนออกมาใช้จักรยานกัน สุดท้ายเขาก็พบว่าสิ่งที่ทำให้คนใช้จักรยานมากขึ้นอยู่ที่การออกแบบโครงสร้างพื้นฐานนั่นแหละ เพราะคนรู้สึกปลอดภัย มันย้อนกลับมาว่าการคนออกมาประท้วงก็เป็นเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของเขา เพราะฉะนั้นถ้าอยากให้คนออกมาใช้จักรยาน คือเราก็ต้องทำให้เขารู้สึกปลอดภัย
พอปลอดภัยปุ๊บ สิ่งอื่นๆ ก็จะตามมา ความสะดวก ความรวดเร็ว ความหรูหรา มันจะค่อยๆ ตามมา จนตอนนี้มันมาถึงจุดที่ปั่นจักรยานเพราะรู้สึกว่ามันน่าปั่น ต้นไม้มันดูร่มรื่น มันมีทางจักรยานริมคลอง มันไปถึงจุดที่จักรยานกลายเป็นความรื่นรมย์แล้ว ไม่ใช่แค่เรื่องความปลอดภัยซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นแล้ว”
(3) ตระหนักรู้ที่มูลนิธิสถาบันการเดินฯ
“ตอนนั้นไม่ได้มองว่าจะเข้าเอกชนอยู่แล้ว เพราะเราเรียนด้านพัฒนาเมืองมา มันไม่มีบริษัทเอกชนที่ตอบโจทย์เรื่องการทำงานเชิงสาธารณะ หรือถ้าจะทำในเชิง CSR มันก็ไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องการพัฒนาเมืองเท่าไหร่ เราก็เลยมองหาองค์กรภาคประชาสังคม และด้วยความที่เราอินกับเรื่องจักรยาน มันก็มีแค่ที่นี่ที่มันยังเหลืออยู่แค่ในประเทศไทยที่เดียวที่ยังแอ็คทีฟอยู่ แล้วทำงานวิชาการด้วย มันก็ตอบโจทย์ที่ผมเรียนมา คิดว่าที่นี่เหมาะที่สุดแล้ว จึงขอมาฝึกงานกับที่มูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย
พอทำงานที่นี่ผมได้เรียนรู้ว่าจักรยานไม่ได้เป็นแค่พาหนะในการเดินทาง แต่สามารถใช้เชื่อมโยงประเด็นการพัฒนาด้านอื่นๆ ได้หลากหลายมากครับ ทั้งเรื่องสุขภาพ ผ่านการมีกิจกรรมทางกาย เรื่องเศรษฐกิจท้องถิ่น เรื่องการพัฒนาปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เรื่องการส่งเสริมสิ่งแวดล้อม และเรื่องการพัฒนาเมืองให้น่าอยู่
ที่สำคัญคือผมได้เข้าใจว่าการพัฒนาเมืองจักรยานเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและท้าทายกว่าที่คิดไว้มาก เพราะต้องอาศัยการขยับของคนทุกระดับ ถ้าอยากให้คนระดับบนเปลี่ยน ก็ต้องหาทางเปลี่ยนความคิดคนข้างล่างเช่นกัน ดังนั้นการผลักดันประเด็นการพัฒนาที่เกี่ยวกับจักรยานจึงต้องอาศัยความร่วมมือของหลายหน่วยงาน ไม่ใช่แค่มูลนิธิอย่างเดียว พูดง่ายๆ คือการผลักดันเรื่องนี้ต้องอาศัยกลไลเชิงประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมที่เข้มข้นและใช้เวลานานมาก ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อย่างที่คิด เป็นประเด็นพัฒนาที่ปราบเซียนมากๆ เรื่องนึงเลยครับ”
(4) ขับเคลื่อนประเทศที่สถาบันวิจัยฯ
“ตอนนี้ผมทำงานเป็นนักวิจัยอยู่ที่ TDRI (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย) ในด้านนโยบายขนส่งและโลจิสติกส์ งานวิจัยที่ดูเป็นหลักตอนนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องความปลอดภัยทางถนน ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย เพราะแต่ละปีประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนกว่าสองหมื่นคน ก็ถือว่าแย่มาก ถ้ามองเป็นพาหนะ สำหรับมอเตอร์ไซค์ ประเทศไทยคืออันดับหนึ่งของโลก เป็นประเทศที่เสียชีวิตจากการใช้มอเตอร์ไซค์เยอะที่สุด ถ้าเปรียบเทียบจากสัดส่วนประชากร
ความปลอดภัยทางถนนมันมีหลายประเด็นนะครับ ทั้งเรื่องถนนปลอดภัย มาตรฐานรถยนต์ การบังคับใช้กฎหมาย การตอบสนองต่ออุบัติเหตุ แล้วจะมีอีกเรื่องนึงที่น่าสนใจก็คือ การส่งเสริมให้คนเปลี่ยนมาเดิน ใช้จักรยาน ใช้ขนส่งสาธารณะ มากขึ้น เพราะมันจะช่วยให้ลดการเดินทางด้วยพาหนะส่วนบุคคล คือรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ สุดท้ายมันจะไปช่วยลดอุบัติเหตุทางถนนได้ มันก็จะเป็นผลทางอ้อม”
(5) พัฒนาประเทศด้วยจักรยานได้ยังไง ?
“ถ้ามีคนใช้จักรยานหรือเดินในชีวิตประจำวันกันมากขึ้น ก็จะมีผลดีในหลายด้านครับ คือนอกจากจะได้เรื่องสุขภาพ เพราะว่าคนมีกิจกรรมทางกาย เรื่องของมลภาวะก็จะลดลงด้วย ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วย ส่วนในด้านเศรษฐกิจภาพรวมก็จะดีขึ้นด้วย ธุรกิจท้องถิ่นจะดีขึ้นเพราะจักรยานใช้พื้นที่ในการจอดน้อยกว่ารถยนต์ ร้านค้าก็รับลูกค้าได้เยอะกว่า แล้วคนใช้จักรยานก็มีความถี่ในการออกมาซื้อของ มันก็สะดวกกว่าการขับรถอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นมันส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นได้มากกว่า
ต้องเริ่มจากเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่ออกแบบมาสำหรับการใช้จักรยานได้ปลอดภัย จริงๆ เรื่องโครงสร้างพื้นฐานของการใช้จักรยานในเมืองมันมีมาตรฐานหรือแนวทางการออกแบบที่ต่างประเทศเขาทำไว้เรียบร้อยแล้ว เมืองไทยไม่จำเป็นต้องไปศึกษาหรือนั่งคิดมาตรฐานของตัวเองเลย มันใช้มาตรฐานของต่างประเทศมาปรับใช้ได้เลย ผมคิดว่าถ้ามีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ปลอดภัยสำหรับจักรยานจริงๆ มันก็จะเริ่มเห็นคนออกมาใช้จักรยานมากขึ้น
ในปัจจุบันนี้พอเริ่มพูดถึงเลนจักรยาน เรามักจะติดภาพว่าไม่มีคนใช้ ซึ่งผมคิดว่ามันน่าจะเริ่มจากการที่ภาครัฐพยายามสร้างเลนจักรยานขึ้นมาในช่วงที่มีกระแสเรื่องจักรยานก่อนหน้านี้ ซึ่งการสร้างเลนพวกนี้มันไม่ได้รับฟังความคิดเห็นของคนในพื้นที่ มันจึงไม่ตอบกับบริบทของคนในพื้นที่ สุดท้ายก็ได้เลนจักรยานแย่ๆ ที่ไม่มีคุณภาพขึ้นมา แล้วก็ไม่มีคนมาใช้
ซึ่งจริงๆ แล้วการมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี มันจะดึงดูดคนให้มาใช้จักรยานได้ แต่พอเราสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ดี มันกลายเป็นโดนเบลมว่า ‘เห็นไหมว่าสร้างเลนจักรยานขึ้นมามันก็ไม่มีคนใช้ งั้นก็ใช้ร่วมกันไปเลยดีกว่า’ กลายเป็นว่าคนมองเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเป็นเรื่องลบ ทั้งที่จริงๆ มันมีส่วนส่งเสริมการใช้จักรยานอย่างปลอดภัยได้ มันมีคนอีกเยอะแยะที่พร้อมที่จะขี่ แต่ไม่มีพื้นที่ให้เขาขี่ ดังนั้นไม่ว่าจะรณรงค์อะไรก็แล้วแต่ แต่ถ้าเขาขี่ออกไปแล้วจะโดนรถชนตาย มันก็ไม่มีใครกล้าขี่อยู่แล้ว ผมจึงคิดว่าโครงสร้างพื้นฐานในเมืองดี น่าจะเป็นตัวจุดประกายให้คนออกมาขี่จักรยานกันมากขึ้นครับ”