เรียบเรียงจากวารสารเดินไปปั่นไป โดยมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย
คนทำงานปั่นจักรยานมาจอดแล้วต่อรถเมล์ เด็กๆ ลงจากรถโรงเรียนแล้วปั่นจักรยานเข้าบ้าน แม่บ้านปั่นจักรยานไปซื้อของที่ตลาด ผู้สูงอายุปั่นจักรยานออกกำลังตอนเย็น คนขับรถระวังและขับรถไม่เร็ว …ได้ยินแล้วรู้สึกว่าทั้งหมดนี่ราวกับเป็นชุมชนในอุดมคติของเพจเรา
แต่ขอบอกว่าทั้งหมดนี่เกิดขึ้นจริงที่ “หมู่บ้านร่มทิพย์” เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร ชุมชนชานเมืองซึ่งเมื่อก่อนมีคนใช้จักรยานกันไม่มากนัก เพราะคนไม่มั่นใจเรื่องความปลอดภัยในการใช้ถนนร่วมกับรถยนต์ และไม่มั่นใจเรื่องความปลอดภัยของการจอดจักรยาน
แล้วชุมชนนี้ทำให้ภาพฝันเกิดขึ้นจริงได้อย่างไร คุณดวงฤดี พันสมตน ประธานชุมชนหมู่บ้านร่มทิพย์จะมาเล่าให้เราฟัง!
เริ่มจากโครงสร้างพื้นฐาน
“เริ่มแรกเราทำแบบสำรวจว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้จักรยานจำนวนเท่าไหร่ แบ่งตามอายุ ตามเพศ ตามครัวเรือน ได้ข้อสรุปก็มาคิดเป็นค่าเปอร์เซ็นต์ วิเคราะห์หาวิธีการทำงานที่จะสนับสนุนและส่งเสริมให้เอื้อต่อการใช้จักรยาน เริ่มจากเราทำที่ล็อกล้อจักรยานเป็นที่จอดหน้าหมู่บ้านตรงปากทาง เพราะเราพบว่าที่เขาไม่ใช้จักรยานเพราะจุดจอดไม่เพียงพอ และไม่มีที่กันแดดกันฝนได้ พอมีที่จอดจักรยานก็ไม่หาย คนก็ใช้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คนวัยทำงาน
วัยเรียนจะเอาจักรยานมาจอดที่ถนนใหญ่ปากซอย เด็กนักเรียนก็จะมีรถบัสโรงเรียนมารับที่ปากซอย ตอนเย็นรถบัสมาส่งก็ขี่จักรยานเข้าบ้าน บางคนก็มารอขึ้นรถโรงงานหรือขึ้นรถประจำทางไปทำงาน เราทำที่จอดไว้ประมาณ 200 คัน จะจอดเต็มทุกวัน แล้วมีคนที่ใช้แบบไม่ได้มาจอดอีก ใช้ขี่ออกไปทำธุระ ไปตลาด ไปซื้อของ รวมแล้วคนใช้จักรยานเป็นประจำน่าจะประมาณ 400-500 คนได้”
ถนนในฝันของนักปั่น
“เราจะมีป้ายสัญลักษณ์เขตชุมชนลดความเร็ว ป้ายจำกัดความเร็ว ป้ายการใช้ถนนร่วมกันของจักรยาน พอคนขับรถเขาเห็นคนใช้จักรยานมากขึ้นเขาก็จะระวังและชะลอความเร็ว ความปลอดภัยในการใช้ถนนร่วมกับยานพาหนะอื่นๆ ในซอยก็ดีขึ้น
แต่ก่อนคนสูงอายุไม่กล้าใช้จักรยาน กลัวอันตราย แต่ตอนนี้เราทำกิจกรรมเกี่ยวกับจักรยานต่างๆ ทำให้ทุกคนรู้กันว่าต้องปั่นชิดขอบทางซ้าย ขอบทางซ้ายเหมือนเป็นเส้นทางจักรยานในชุมชนของเรา ทุกคนก็จะปั่นไปในทิศทางเดียวกันทำให้ปลอดภัยขึ้น”
ใครๆ ก็อยากปั่น
“คนที่ปั่นในชีวิตประจำวันส่วนมากจะปั่นจากบ้านไปตลาด ไปที่ทำงาน ไปไปรษณีย์ ไปซื้อของบิ๊กซี โลตัส เซเว่น ระยะประมาณ 3-5 กิโล แต่ก่อนระยะทางแค่ 2 กิโลฯ เขาเรียกมอเตอร์ไซค์กัน ตอนนี้ก็ 15 บาทแล้ว ถือว่าประหยัดรายจ่ายของครอบครัวไปได้มาก
เรื่องสุขภาพคนหันมาขี่จักรยานเพื่อสุขภาพมากขึ้น คนมีปัญหาเรื่องข้อเข่าเขาใช้เพื่อเน้นออกกำลังกาย ผู้สูงอายุใช้ก็สุขภาพดีขึ้น สภาพแวดล้อมก็ดีขึ้น แทนที่จะใช้มอเตอร์ไซค์ก็ใช้จักรยาน ช่วยลดทั้งเสียงและควันลงไปได้มากเลย”
จักรยานเฝ้าระวังชุมชน
“นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมตรวจตราและเฝ้าระวังชุมชน โดยกลุ่มอาสาสมัครกรุงเทพมหานครเฝ้าระวังภัยและยาเสพติดของชุมชน จากเดิมที่ส่วนใหญ่ใช้จักรยานยนต์ในการออกตรวจ กลุ่มอาสาสมัครเริ่มเปลี่ยนหันมาใช้จักรยาน ซึ่งมีข้อดีคือเข้าถึงซอกมุมต่างๆ ของชุมชนได้ ง่ายและเงียบ ไม่สร้างมลภาวะในอากาศเพิ่มให้กับชุมชน ซึ่งผลงานที่เข้าตาและสร้างสรรค์นี้ทำให้ชุมชนหมู่บ้านร่มทิพย์ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศในสาขางานส่งเสริมและป้องกันในชุมชน”
ขอบคุณภาพจากเพจชุมชนเดินจักรยานเพื่อสุขภาวะ, คุณอารดินทร์ รัตนภู