เขียนโดย: นนทนีย์ วิบูลย์กุล (Nontanee Wiboonkul)
เมื่อพูดถึงเมืองเสิ่นเจิ้น (Shenzhen) ในความรู้สึกของคนไทยในอดีต เรามักจะนึกเมืองหนึ่งในประเทศจีนที่มีสถานที่ช็อปปิ้งสินค้าราคาถูก มีของลอกเลียนแบบมากมาย พ่อค้าแม่ค้าที่สนใจนำเข้าสินค้าจีนก็จะมาเมืองนี้เพื่อจะมาเลือกดูสินค้าราคาถูกที่สามารถนำไปทำกำไรค้าปลีกได้ ซึ่งมุมมองดังกล่าวเป็นเพียงด้านเดียวที่เราเห็นเพียงเท่านั้น เพราะในปัจจุบันเสิ่นเจิ้นกลายเป็นเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญเมืองหนึ่งของประเทศจีน และขนาดเศรษฐกิจของเสิ่นเจิ้นก็แซงหน้าฮ่องกงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ที่มาภาพ: https://thaibizchina.com/article/40years-shenzhen/
หากมองย้อนไปในประวัติของเมืองเสิ่นเจิ้น ในอดีต 40 ปีก่อนพื้นที่แห่งนี้เป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ ที่ไม่ได้มีความเจริญมากนักและประชากรราวๆ เพียงสามหมื่นคน ที่มีอยู่บริเวณชายฝั่งทางตอนใต้ของจีนและอยู่ติดกับฮ่องกง
ที่มาภาพ: https://www.businessinsider.com/old-photos-of-shenzhen-2013-2
แต่หลังจากที่ประเทศจีนได้มีการปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดประเทศ เสิ่นเจิ้นก็กลายเป็นหนึ่งในสี่เขตเศรษฐกิจพิเศษของจีน และได้รับการพัฒนามาเรื่อยๆจนกลายเป็น “Silicon Valley of China” หรือพูดง่ายๆให้เห็นภาพคือ เสิ่นเจิ้นกลายเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีทีสำคัญแห่งใหม่ของโลก สามารถสร้างงานวิจัยด้านเทคโนโลยี และมีนวัตกรรมใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะด้านฮาร์ดแวร์ (Hardware) และยังเป็นเมืองที่มีการจดสิทธิบัตรสูงที่สุดในประเทศจีน
ที่มาภาพ: https://www.caixinglobal.com/2020-08-10/editorial-china-needs-more-cities-like-shenzhen-101590906.html
แต่การพัฒนาเมืองของเสิ่นเจิ้นไม่ได้มีความน่าสนใจเฉพาะในส่วนของการพัฒนาด้านเศรษฐกิจเพียงเท่านั้น เพราะการพัฒนาคุณภาพชีวิตเป็นอยู่ของผู้ที่อาศัยในเมืองเสิ่นเจิ้นนับว่าเป็นหนึ่งในภารกิจที่รัฐบาลจีนได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เสิ่นเจิ้นถูกกลับมาพูดถึงอีกครั้งกับการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน โดยการสร้างพื้นที่ย่านชานเมืองในชื่อ Net City โดยมีการวางรูปแบบผังเมืองที่เน้นการรักษาสิ่งแวดล้อม การสร้างระบบขนส่งมวลชน ทางเท้า และทางจักรยาน และเป็นเมืองปลอดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลภายในพื้นที่ทั้งหมด 2 ล้านตารางเมตร และมีสโลแกนว่า “City for People, Not Cars”
ที่มาภาพ: http://www.nbbj.com/work/tencent-net-city/
โดยแนวคิดการพัฒนาพื้นที่เมืองต้นแบบดังกล่าวมีการมองภาพระยะยาวที่ว่า การมีประชากรมากขึ้นภายในเมืองเสิ่นเจิ้น ปัญหาที่จะตามมาคือจำนวนรถยนต์ที่ต้องเพิ่มขึ้นบนท้องถนน และอากาศเป็นพิษจากควันไอเสียท่อรถยนต์ ดังนั้นการผลักดันระบบโครงสร้างขนส่งมวลชนให้ครอบคลุม ควบคู่ไปกับการพัฒนาทางเท้า และทางจักรยานให้ประชาชนสามารถใช้งานได้สะดวกมากขึ้น ส่งเสริมพื้นที่สีเขียวเพื่อสร้างอากาศบริสุทธิ์ในเมือง จึงเป็นหนึ่งในแนวทางการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน ในขณะเดียวกันเมืองนี้ยังจะเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของบริษัทเทคโนโลยี Tencent ด้วย โดยจะมีที่พักอาศัย ศูนย์การค้ารีเทล โรงเรียน สวนสาธารณะ ครบครันในเขตเดียว
ในแง่ของความน่าสนใจในการพัฒนาเมืองของเสิ่นเจิ้นเราจะเห็นได้ว่า แม้เสิ่นเจิ้นในปัจจุบันจะเป็นเมืองที่สุดทันสมัยจนได้ชื่อว่า“Silicon Valley of China” แต่การพัฒนาเมืองดังกล่าวกลับไม่มีรากฐานการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่สอดคล้องกับชีวิตผู้คน และเลือกสนับสนุนการเดินทางแบบยั่งยืนด้วยการเดินเท้าและการใช้จักรยาน ซึ่งเป็นรูปแบบการเดินทางที่ประหยัด ไม่สร้างมลพิษทางอากาศ และดีต่อสุขภาพประชาชนในแง่ของ Active Travel และประเทศจีนเป็นหนึ่งในประเทศที่ผู้คนทั่วไปคุ้นเคยกับการเดินทางด้วยการเดินเท้าและปั่นจักรยาน แม้ว่าจะผ่านกาลเวลาไปกี่ยุคกี่สมัย “จักรยาน” ก็ยังคงเป็นพาหนะที่ตอบโจทย์ชีวิตของชาวจีนในชีวิตประจำวัน ดังนั้นแม้เสิ่นเจิ้นจะกลายเป็นเมืองที่สุดทันสมัย แต่ภาครัฐของประเทศจีนยังคงเห็นความสำคัญต่อการเดินทางแบบรักษ์โลกด้วยจักรยาน การสร้างเมืองให้ทันสมัยไปพร้อมๆ กับการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถใช้การเดินทางแบบทางเลือกด้วยการเดินเท้าและปั่นจักรยาน ไม่เพียงแค่ช่วยลดปัญหาจราจรที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และอีกหนึ่งแนวทางการเดินทางที่สร้างความเท่าเทียมของทุกคนในสังคม ที่หลายๆเมืองในโลกที่ต้องการวางผังเมืองสามารถนำโมเดลเมืองเสิ่นเจิ้นไปเป็นตัวอย่างได้อย่างดี
เอกสารอ้างอิง
1.NBBJ. City for People, Not Cars. (2020). ที่มา: http://www.nbbj.com/work/tencent-net-city/
2.ปิยนุช ประสาทธัมมาภรณ์. Shenzhen เมืองนวัตกรรมที่สำคัญของสาธารณรัฐประชาชนจีน.กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ. ที่มา: https://api.dtn.go.th/files/v3/5e533645ef4140636c7caa7c/download
3.Pattarat. เสิ่นเจิ้น ผุด เขตปลอดรถยนต์ ต้นแบบผังเมืองอากาศบริสุทธิ์ ที่ตั้งสำนักงานใหม่ Tencent.(2020). ที่มา: https://positioningmag.com/1284089
4.Environman. จีนเซินเจิ้นล้ำสุดวางแผน ผุดเมืองใหม่สุดกรีนปลอดรถยนต์ส่วนตัว! เน้นทางเดิน-ที่สีเขียว ใช้พลังงานสะอาด ดันเป็นต้นแบบเมืองอากาศบริสุทธิ์. (2020). ที่มา: https://www.facebook.com/environman.th/photos/2796246053837157/
5.India Block. Giant Net City car-free neighborhood in Shenzhen will cover two million square meters. (2020). ที่มา: https://www.dezeen.com/2020/06/11/wechat-car-free-city-tencent-net-city-shenzhen-nbbj/