Home ข้อมูลความรู้ บทความ เที่ยวต่างประเทศคุณเดินได้หลายๆ กิโล แต่ทำไมตอนอยู่เมืองไทย คุณถึงไม่เดิน?

เรียบเรียงโดย : สรัสวดี โรจนกุศล และอัจจิมา มีพริ้ง

เครดิตภาพ : https://www.shutterstock.com/

เราเชื่อว่าหลายคนที่เคยไปเที่ยวต่างประเทศ จะสามารถเดินชมเมือง เดินเที่ยวได้วันละหลายกิโล แต่ทำไมตอนที่เราอยู่ประเทศไทยเราถึงไม่สามารถเดินได้แบบนั้น ทุกคนก็คงมีคำตอบในใจแหละว่า “อากาศมันร้อน” หรือ “ทางเท้ามันไม่เรียบ” หรือ “มันไม่มีทางเดินที่สามารถเชื่อมไปถึงจุดหมายปลายทางได้”

วันนี้เรามีบทความเรื่อง “แนวคิดเมืองเดินได้ หรือ แนวคิด Walkable city” ที่เขียนโดยอาจารย์อุมาภรณ์ บุพไชย ที่กล่าวถึง การส่งเสริมการเดินเท้า (Walk-ability) และการใช้จักรยาน (Ride-ability) ภายในเมือง โดยออกแบบเมืองให้มีโครงสร้างพื้นฐานหรือลักษณะทางกายภาพที่เอื้อให้ประชาชนสามารถเดินเท้าหรือใช้จักรยานเพื่อการเดินทางในระยะทางสั้นสามารถทำได้หลายวิธีทั้งการออกแบบกายภาพ เช่น การทำทางเท้าให้กว้าง มีร่มเงา ไม่มีสิ่งกีดขวาง การทำเส้นทางจักรยานที่มีความปลอดภัย หรือการวางแผน และกำหนดนโยบาย เช่น การส่งเสริมให้เมืองมีการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบผสมผสาน มีที่พักอาศัยอยู่ในระยะที่สามารถเดินเท้าไปยังที่ทำงาน และร้านค้าได้ เป็นต้น


ประโยชน์ของการสนับสนุนเมืองเดินได้จากรายงานการวิจัย
• การเดินทำให้สุขภาพของคนในเมืองดีขึ้น
• เมืองที่มีสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการเดินเท้าและคนในเมืองใช้การเดินเป็นหลักในการสัญจรจะช่วยให้การเกิดปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และทำให้การส่งเสริมกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์เป็นไปได้ง่ายขึ้น
• ในเขตพื้นที่เมืองชั้นในหรือย่านการค้าที่มีการส่งเสริมให้ใช้การเดินเท้า มีสถิติการเกิดอาชญากรรมและอุบัติเหตุน้อยกว่าในเขตพื้นที่นอกเมืองมากกว่า 20%
• การสนับสนุนให้ย่านการค้าใช้การเดินเป็นทางสัญจรหลัก ทำให้ค่า GDP สูงขึ้นร้อยละ 38 และค่าเช่า office ในพื้นที่สูงขึ้นร้อยละ 74

หลักการสร้างเมืองเดินได้ จากหนังสือ Walkable City โดย Jeff Speck ได้อธิบายไว้ ดังนี้

เครดิตภาพจาก : https://umapupphachai.medium.com/walkable-city-cd0ccd99bcbc

1.จัดระเบียบรถยนต์ การเพิ่มพื้นที่ถนนไม่ได้ทำให้ปัญหาการจราจรบรรเทาลงแต่กลับเป็นปัจจัยเสริมให้มีจำนวนรถยนต์เพิ่มมากขึ้น สิ่งที่ควรทำคือลดปริมาณรถยนต์บนถนนเพื่อให้ถนนสามารถรองรับการเป็นพื้นที่สาธารณะและดึงดูดให้คนสามารถใช้การเดินเท้าได้อย่างปลอดภัย

2. สนับสนุนการใช้ที่ดินแบบผสมผสาน ชุมชนที่มีกิจกรรมการใช้งานพื้นที่ที่หลากหลายนับเป็นปัจจัยที่ส่งผลดีต่อการเดิน เนื่องจากคนที่อยู่อาศัยในชุมชนมีสถานที่ที่สามารถใช้การเดินเท้าได้ เช่น การเดินจากบ้านไปโรงเรียน เดินจากบ้านไปตลาด เป็นต้น

3. จัดการพื้นที่จอดรถ ป้องกันไม่ให้พื้นที่จอดรถมีมากจนกีดขวางการเชื่อมต่อของกิจกรรม โดยสามารถจัดเป็นพื้นที่จอดรถร่วมสำหรับอาคารห้างร้านที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน รวมทั้งจัดการกับรถที่จอดริมทางโดยคิดค่าที่จอดรถตามเวลาเพื่อให้สามารถจัดระเบียบพื้นที่ทางเท้าให้เอื้อต่อการเดินเท้าได้อย่างแท้จริง

4. สนับสนุนระบบขนส่งมวลชน โดยตระหนักว่าการเดินต้องพึ่งพาระบบขนส่งมวลชนที่ดี ที่สามารถพาคนไปยังพื้นที่ต่างๆที่อยู่นอกระยะการเดินเท้าได้

5. ป้องกันพื้นที่ทางเท้า โดยจำกัดพื้นที่สำหรับรถยนต์หรือทำให้วิ่งช้าลง ถนนบางสายโดยเฉพาะที่ผ่านย่านชุมชนหรือย่านการค้าควรมีช่องทางการสัญจรที่จำกัดเพียงสองช่องทาง เพื่อไม่ให้รถยนต์ใช้ความเร็วหรือหลีกเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่นหากต้องการทำความเร็ว นอกจากนี้การจัดให้มีที่จอดรถริมทางยังสามารถเป็นแนวป้องกันทางเท้าออกจากถนนได้

6. ส่งเสริมการปั่นจักรยาน โดยมีการจัดเส้นทางปั่นที่ปลอดภัยและใช้ร่วมกับถนนได้

7. ออกแบบทางเท้าให้น่าเดิน ทำให้ทางเท้าเป็นพื้นที่รองรับการเดิน มีความกว้างที่พอเหมาะ มีพื้นผิวที่เรียบ ไม่ลื่น ไม่มีสิ่งกีดขวาง และมีความต่อเนื่องของการเดิน

8. ปลูกต้นไม้ เพื่อให้ร่มเงากับคนเดิน รวมทั้งช่วยในการลดความร้อนจากผิวถนนและลดมลพิษในอากาศ

9. สร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเดินเท้า นอกจากความรู้สึกปลอดภัยและสะดวกสบายในการเดินแล้ว ควรเพิ่มบรรยากาศที่ดีในการเดินโดยส่งเสริมให้มีกิจกรรมสองข้างทางที่พอเหมาะ ไม่ล้ำเขตทางเท้า ไม่สร้างของเสียหรือมลพิษ รวมทั้งมีข้อกำหนดควบคุมอาคารสองข้างทางให้มีแนวเขตที่ชัดเจน ไม่ยื่นล้ำทางเท้า มีรูปแบบและความสูงที่ต่อเนื่อง เป็นต้น

10. เลือกพื้นที่เป้าหมายที่จะทำการปรับเปลี่ยนกายภาพเพื่อสนับสนุนการเดินเท้า โดยเลือกพื้นที่ที่การเดินจะสามารถส่งเสริมสภาพสังคมและเศรษฐกิจภายในย่าน ทำให้พื้นที่มีการพัฒนาทั้งในด้านกายภาพ การค้าการลงทุน และสร้างการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนได้

นอกจากนี้แล้ว แนวคิด Walkable city ยังบอกด้วยว่า การทำให้เมืองเดินได้สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกด้วย ข้อมูลจากบทความของคุณ Vanat Putnark ที่เขียนไว้ใน CITY CRACKER เรื่อง “ยิ่งเดิน เมืองยิ่งโต WALKABLE CITY ว่าด้วยเรื่องเมืองเดินได้กับการกระตุ้นเศรษฐกิจ” ที่กล่าวว่า “ยิ่งเดินได้ ยิ่งซื้อเก่ง เพราะว่าการที่เมืองเดินได้สะดวก จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางกระจายรายได้สู่ผู้ประกอบการรายเล็กๆ ในเมืองที่เดินไม่ได้ เช่น กรุงเทพฯ ที่คนส่วนใหญ่มักต้องไปกระจุกหรือไปจับจ่ายกันอยู่แต่ในห้างใหญ่ๆ ไม่สามารถเดินไปตามตรอกซอกซอย เยี่ยมเยียนร้านเล็กๆ น้อยๆ ได้อย่างสะดวกนัก” ในบทความได้ยกตัวอย่างของ กรุงโคเปนเฮเกน พบว่าร้อยละ 33 ของการช้อปปิ้งเกิดขึ้นจากการเดิน หรือในประเทศอังกฤษหลังจากที่มีการปรับปรุงทางเท้า ทำให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 20-40% และที่กรุงลอนดอนเมื่อมีการทดลองปรับปรุงย่านให้เดินสะดวกมากขึ้น ก็พบว่าหลังจากการปรับปรุงมีอัตราการจับจ่ายในพื้นที่สูงขึ้นถึงร้อยละ 40-50 นอกจากการกระตุ้นเศรษฐกิจในการอุดหนุนร้านค้าแล้วนั้น การทำให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีอันเกิดจากการเดินหรือการใช้จักรยาน (Active Transport) ยังสามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาสุขภาพของประชาชนอีกด้วย ซึ่งจะเห็นได้ว่าการสนับสนุนหรือส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเดินได้หรือใช้จักรยานเพื่อการเดินทางหรือกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ได้ประโยชน์ 2 ต่อเลยที่เดียว ช่วยทำให้ทั้งสุขภาพของคนและเมืองดีขึ้นได้ด้วยนะ สุดท้ายเราขอย้ำกันสั้นๆ อีกสักครั้งนะคะว่า แค่คุณเลือก “เดินหรือปั่นจักรยาน” สิ่งที่คุณจะได้คือ “สุขภาพดี ฟรี สะอาด”

แหล่งข้อมูลและที่มา:

1.Uma Pupphachai. July 24, 2018, May 20, 2021. Walkable city สืบคนจาก: https://umapupphachai.medium.com/walkable-city-cd0ccd99bcbc เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564

2.Vanat Putnark September 18, 2019. ยิ่งเดิน เมืองยิ่งโต ‘WALKABLE CITY’ ว่าด้วยเรื่องเมืองเดินได้กับการกระตุ้นเศรษฐกิจ.
สืบคนจาก: https://citycracker.co/city-design/walkable-city/ เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564

Print Friendly, PDF & Email