แปลและเรียบเรียงโดย : สรัสวดี โรจนกุศล และอัจจิมา มีพริ้ง
เครดิตภาพ: https://blogs.worldbank.org/transport/can-covid-19-pave-way-toward-walkable-bikeable-cities (Photo: Philippe Bertrand/Unsplash)
บทความเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์หลัก คือ การแสดงให้เห็นถึงทางเลือกในการเดินทาง เช่น การใช้บริการขนส่งสาธารณะ การใช้จักรยาน และการเดิน ที่ทำให้คนนับล้านสามารถเดินทางได้อย่างปลอดภัย และที่สำคัญตัวเลือกในการเดินทางเหล่านี้ นอกจากช่วยลดการแพร่ระบาดของ Covid 19 การเดินทางด้วยทางเลือกเหล่านี้ยังสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการสัญจรในเมืองได้อีกด้วย ลดระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษสูงสุดในประวัติการณ์
การสนับสนุนการขนส่งสาธารณะจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง หากเราทำกัน “อย่างจริงจัง” ที่จะทำให้การสัญจรเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืนเป็นหัวใจของ “ชีวิตวิถีใหม่ หรือ new normal”
แม้ว่าการแพร่ระบาดของ Covid 19 จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อหลายภาคส่วน การล็อกดาวน์ก็ยังให้โอกาสที่คาดไม่ถึงในการทบทวน เรื่องการเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างการเดิน การใช้จักรยาน หรือการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ
การใช้จักรยาน เป็นวิธีการเดินทางที่ปลอดภัยจากโควิด เหมาะสำหรับประชาชนที่มีความจำเป็นต้องเดินทางไปไหนมาไหน นอกจากนั้นการใช้จักรยานยังช่วยเว้นระยะห่างทางสังคมได้ง่ายอีกด้วย เพราะว่าการใช้จักรยานแต่ละคันจำเป็นต้องเว้นระยะห่างเพื่อหลีกเลี่ยงการชนกัน และด้วยเหตุผลนี้ ทำให้หลายเมืองทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนาได้จัดทำเส้นทางจักรยานชั่วคราว (pop-up bike lanes) ขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา อย่างเช่น ปารีส ลอนดอน เบอร์ลิน มิลาน โบโกตา เม็กซิโกซิตี้ ลิมา และหวู่ฮั่น ซึ่งแนวทางการออกแบบจะช่วยให้รัฐบาลท้องถิ่นสามารถปรับโครงสร้างพื้นฐาน ป้ายจราจรหรือสร้างเส้นทางจักรยานได้ โดยประหยัดทั้งงบประมาณและเวลาในการก่อสร้าง แม้ว่าจะเป็นวิธีการแก้ปัญหาชั่วคราว แต่ก็มีเหตุผลสนับสนุนที่ทำให้เชื่อได้ว่าเส้นทางจักรยานชั่วคราวที่สร้างขึ้นนั้นอาจจะกลายเป็นเส้นทางจักรยานอย่างถาวรได้ ความคิดเห็นของประชาชนในลอนดอนร้อนละ 56 “ต้องการขยายทางเท้าอย่างถาวรเพื่อให้มีที่ว่างสำหรับเดิน และร้อยละ 57 ต้องการเห็นการสร้างทางจักรยานใหม่ และขยายช่องทางที่มีให้กว้างขึ้น” ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมต่อการใช้จักรยาน จึงทำให้สามารถรองรับผู้ใช้จักรยานได้จำนวนมากขึ้น ในปี 2019 มีเส้นทางจักรยานถาวร 583 กม. ในโบโกตารองรับการเดินทาง 800,000 เที่ยวต่อวัน ประมาณร้อยละ 6 ของการเดินทางทั้งหมด ซึ่งรวมถึงการเดินและการใช้เครื่องยนต์ด้วย
การเดินเท้า เป็นตัวเลือกหลักการสัญจรในเมือง (crucial pillar of urban mobility) ของเมืองในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้หญิงและผู้ยากไร้ คนจะเลือกการเดินไปใช้บริการขนส่งสาธารณะ ไปช้อปปิ้ง หรือแม้แต่เดินไปทำงาน การเดินมีข้อดีต่อเมืองและผู้อยู่อาศัย การออกแบบถนนที่เป็นมิตรกับคนเดินถนนจะสามารถทำให้การเดินทางปลอดภัยยิ่งขึ้น ลดมลพิษทางอากาศ ปรับปรุงพื้นที่สาธารณะ และสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับประชาชนทุกกลุ่ม รวมถึงเด็กและผู้ทุพพลภาพด้วย เนื่องจากพวกเขาต้องการการออกกำลังกายหรือการมีกิจกรรมทางกายเหมือนกัน
การขนส่งสาธารณะและการเดินทางอย่างกระชับกระเฉง (public transit and active mode) เช่น การเดินหรือการใช้จักรยานมีความสัมพันธ์กับการออกกำลังกายหรือการมีกิจกรรมทางกายที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น ดัชนีมวลกายที่ต่ำกว่า รอบเอวที่ต่ำกว่า โรคอ้วนน้อยลง วิตามินดีที่สูงขึ้น คอเลสเตอรอลที่ลดลง และการอักเสบของตับที่ลดลง ได้อีกด้วย การเดินทำให้ปลอดภัยจาก Covid 19 และคนเดินถนนบนทางเท้าจะต้องหลีกเลี่ยงตามหลัก Three Cs คือ
1. Closed spaces with poor ventilation. (หลีกเลี่ยงพื้นที่ปิดที่มีการระบายอากาศได้ไม่ดี)
2. Crowded places with many people nearby. (หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด ที่มีผู้คนมากมาย)
3. Close-contact setting such as close-range conversations. (หลีกเลี่ยงการที่ต้องติดต่อใกล้ชิดซึ่งกันและกัน)
เครดิตภาพ: https://www.japan.go.jp/kizuna/2020/avoiding_the_three_cs.html
เพราะว่าหลัก Three Cs ที่กล่าวมานั้น จะเป็นการลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ Covid 19 ได้ ซึ่งทางเท้าเป็นพื้นที่โล่ง ทำให้คนเดินเท้าสามารถหลีกเลี่ยงฝูงชนได้ และรักษาระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร ยิ่งไปกว่านั้นคนเดินถนนไม่ค่อยมีปฏิสันถารกับคนแปลกหน้าที่เดินผ่านมาอยู่แล้ว แต่ปัญหาของคนเดินถนนต้องเผชิญคือโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่สมบูรณ์แบบและต้องแข่งขันกับโหมดการขนส่งอื่นๆ ตัวอย่างเช่น ในประเทศกำลังพัฒนา รถยนต์มักจอดบนทางเท้า ปัจจุบันเมืองต่างๆ ได้มีการขยายจำนวนพื้นที่ว่างสำหรับคนเดินเท้า บางเมืองได้มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ถนนเป็น “ทางเท้าแบบผุดขึ้น” หรือ “pop-up sidewalks” เพื่อประโยชน์ของคนเดินเท้าและจักรยาน หรือบางเมืองก็มีการสร้าง “ถนนกลางแจ้ง” หรือ “al fresco streets” เพื่อให้ร้านค้าปลีกและร้านอาหารสามารถตั้งร้านค้ากลางแจ้งได้ ซึ่งถนนกลางแจ้งเป็นอีกวิธีในการหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่แออัดหรืออยู่ใกล้กับคนอื่นที่สอดคล้องตามหลัก Three Cs อีกด้วย และคุณ Arturo Ardila-Gomez หวังว่า การลดขนาดของถนน (road diets) จะดำเนินต่อไปหลังจากการแพร่ระบาดของ Covid 19 เพื่อให้ผู้คนจากทุกที่สามารถเพลิดเพลินกับการเดิน โดยในหลายเมืองกำลังดำเนินการ และมองหาวิธีแก้ปัญหาระยะยาวเพื่อรองรับคนเดินเท้า
หลังจากการแพร่ระบาดของ Covid 19 ได้บีบให้เมืองต่างๆ ทั่วโลกต้องใช้มาตรการฉุกเฉินที่ช่วยเปลี่ยนไปสู่การขนส่งที่ยั่งยืน หลีกเลี่ยงการเดินทางที่ไม่จำเป็น รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านการขนส่ง โดยแนวคิดของคุณ Arturo Ardila-Gomez มีหลักการทำงาน คือ Avoid-Shift-Improve (หลีกเลี่ยง-เปลี่ยน-ปรับปรุง) ที่จะสนับสนุนการขนส่งแบบยั่งยืน ในขณะที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจหลายคนมักไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ แต่การแพร่ระบาดของ Covid 19 ได้เปลี่ยนแนวคิดเรื่องนี้ไปอย่างมาก ทำให้เห็นประโยชน์ของการขนส่งแบบยั่งยืนอย่างชัดเจนและแนวคิดในการจัดสรรพื้นที่หรือการพัฒนาเพื่อการขนส่งสาธารณะ การใช้จักรยานและการเดินให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น
ใครต่อใครก็บอกว่าการเดินและการใช้จักรยานมันดี มันดีทั้งต่อตัวเอง ดีต่อเมือง ดีต่อโลก เราขอย้ำอีกครั้งนะคะ แค่คุณเดินหรือปั่นจักรยาน สิ่งที่คุณจะได้คือ “สุขภาพดี ฟรี สะอาด”
แหล่งข้อมูลและที่มา:
Arturo Ardila-Gomez, Global Lead for Urban Mobility and Lead Transport Economist, World Bank August 03, 2020
สืบค้นจาก: https://blogs.worldbank.org/transport/can-covid-19-pave-way-toward-walkable-bikeable-cities เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564