แปลและเรียบเรียงบทความโดย : นนทนีย์ วิบูลย์กุล
เครดิตภาพ: https://www.cnu.org/publicsquare/2020/03/05/aging-population-needs-walkable-bikeable-cities
การพัฒนาเมืองให้สามารถเดินได้ และ ปั่นจักรยานได้นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในเมือง โดยเฉพาะกระแสโลกปัจจุบันที่ให้ความสำคัญต่อผู้สูงวัยมากขึ้น เนื่องจากอัตราการเกิดที่ลดลง หลายเมืองทั่วโลกเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” ดังนั้นการพัฒนาเมืองที่ดีจึงควรมีการวางแผนเพื่อจะสร้างเมืองให้เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงวัย โดยปัจจัยหลักในการสร้างเมืองที่สามารถเดินได้ และ ปั่นจักรยานได้นั้น มีแนวทางหลักในการพัฒนาดังนี้
1.สร้างระบบที่เอื้อต่อการเดินทางด้วยยานพาหนะที่หลากหลาย
ในช่วงที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่าหลายเมืองเริ่มมีการใช้ Bike Sharing อย่างแพร่หลาย ในขณะเดียวกันกระแสการใช้จักรยานแบบ Bike Sharing ที่มากขึ้นย่อมมีส่วนช่วยกระตุ้นสังคมถึงความสำคัญของการมีพาหนะที่สามารถเดินทางได้หลากหลาย เมื่อมีการใช้จักรยานมากขึ้นในการเดินทาง คนก็จะเริ่มกล้าที่จะใช้พาหนะทางเลือกอื่นๆในการเดินทางด้วยเช่นกัน อาทิ สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า จักรยานไฟฟ้า เป็นต้น ดังนั้นการสนับสนุนให้เมืองมีพื้นที่ๆ ส่งเสริมการใช้จักรยานได้ในระดับสาธารณะย่อมช่วยให้เกิดกระแสการใช้พาหนะทางเลือกมากขึ้น และช่วยลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวในการเดินทางในชีวิตประจำวัน
2.สร้างการเข้าถึงบริการจักรยานสำหรับผู้สูงวัย
อย่างที่เราทราบกันดีว่าระบบจักรยานแบบ Bike Sharing จะช่วยส่งเสริมให้คนออกมาใช้จักรยานในการเดินทางมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันการสร้างระบบ Bike Sharing ให้เอื้อต่อการเข้าถึงของผู้สูงวัยเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ต้องคำนึงถึง แม้ในปัจจุบันผู้สูงวัยบางส่วนสามารถใช้ Smartphone ได้ในชีวิตประจำวัน แต่โดยส่วนใหญ่ผู้สูงวัยมักจะมีความรู้สึกไม่ค่อยถนัดเท่าใดถ้าต้องใช้บริการ Bike Sharing ผ่านระบบ Application ในมือถือ ดังนั้นหากวันนี้เราต้องการตอบโจทย์ผู้สูงวัยให้สามารถเข้าถึงระบบการเดินทางด้วยพาหนะทางเลือก อาทิ Bike Sharing หรือ การบริการสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า มากขึ้น ก็ควรจะมีการให้บริการที่เอื้อต่อผู้สูงวัยแบบไม่ต้องใช้มือถือมากนัก เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้สูงวัยสามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้น
3.นำจักรยานมาเป็นเครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินทางเพื่อเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะ
จักรยานสามารถเป็นพาหนะที่ช่วยเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะให้สะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะกับผู้ที่ต้องการเดินทางในระยะใกล้เพื่อเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า หรือ รถเมล์ และอื่นๆ การที่จะช่วยกระตุ้นให้ผู้คนใช้จักรยานเพื่อเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้นนั้น ควรมีแนวทางที่จะช่วยส่งเสริมที่ชัดเจน อาทิ การมีจุดบริการ Bike Sharing ใกล้กับรถไฟฟ้าหลายๆแห่งเพื่อเพิ่มการเชื่อมต่อในเส้นทางต่างๆ หรือ อย่างเช่นในเมือง Los Angeles ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็มีการกระตุ้นให้คนหันมาใช้จักรยานเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น โดย Transit User สามารถใช้ Transit pass สำหรับใช้จักรยาน Bike Sharing ฟรี เพื่อเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ
4.หาทางออกร่วมกัน
การสร้างความร่วมมือในชุมชนเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมประเด็น Active Transportation โดยเฉพาะการเพิ่มพื้นที่จุดให้บริการ Bike Sharing ในพื้นที่ต่างๆในเมือง ที่จะมีส่วนช่วยให้ผู้สูงวัยสามารถเข้าถึงการใช้บริการ Bike Sharing ได้มากขึ้น สร้างคนสูงวัยให้กลายเป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ในการให้บริการจักรยาน รวมถึงพัฒนา Application เพิ่มแสดงข้อมูลความปลอดภัยทางถนน เพื่อคนสูงวัยสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์เส้นทางในการเดินทาง และสามารถใช้เส้นทางที่ดีและปลอดภัยที่สุดในการเดินทาง
5.การแชร์ข้อมูลทางสถิติ
ตัวอย่างข้อมูลทางสถิติจาก AARP Public Policy Institute ได้แสดงให้เห็นถึงข้อมูลทางสถิติที่กล่าวถึงคนสูงวัย หนึ่งในห้าของคนที่อายุ 65 ปี ไม่ได้ขับรถยนต์ส่วนตัว และ คนที่อายุ 80 ปี 65 เปอร์เซ็นต์ไม่สามารถขับรถได้ ในขณะที่ 40 เปอร์เซ็นต์สามารถเดินได้อย่างยากลำบาก โดยส่วนใหญ่หากมองในภาพรวมทั่วไปคนสูงอายุส่วนใหญ่รู้สึกไม่สบายใจต่อการขับรถแม้ว่าจะยังพอมีแรงในการเดินทางได้ปกติก็ตาม หรือแม้ว่าผู้สูงอายุบางส่วนจะสามารถขับรถยนต์ได้ในชีวิตประจำวัน แต่สมรรถภาพทางร่างกายโดยย่อมแตกต่างจากวัยรุ่น หรือ วัยผู้ใหญ่ ทั้งในส่วนของ ระดับค่าสายตาที่แย่ลง หรือ การตอบสนองต่อสิ่งต่างๆระหว่างขับย่อมช้าลงไปด้วย ดังนั้นการสร้างวัฒนธรรมการเดินทางด้วยการเดินและการใช้จักรยานมากขึ้น ย่อมเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมความปลอดภัยในการเดินทางของผู้สูงวัย ในขณะเดียวกันควรมีการให้ความรู้ความเข้าใจผู้สูงวัยบางส่วนเข้าใจถึงความสำคัญของการเดินและการใช้จักรยานที่มีความปลอดภัยมากกว่า ซึ่งย่อมมีส่วนช่วยให้ผู้สูงวัยค่อยๆเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองในการเดินทาง
6.สร้างการมีส่วนร่วมกับผู้สูงวัย
หากวันนี้เราต้องการสร้างโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เอื้อต่อการเดินและการใช้จักรยานมากขึ้น เราควรสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้สูงวัยด้วย ต้องดึงผู้สูงวัยให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ให้ผู้สูงวัยรู้สึกถึงความสำคัญของตนเองและมีบทบาทในโครงการดังกล่าว รวมไปถึงสนับสนุนให้ผู้สูงวัยออกมาเดินหรือใช้จักรยานมากขึ้นข้างนอกมากขึ้นเพื่อเพิ่มกิจกรรมทางกายและดีต่อสุขภาพ
7.วางแผนเมืองเพื่อรองรับประชากรผู้สูงอายุ
ในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ เมืองควรมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับผู้สูงอายุในอนาคตที่จะมีจำนวนมากขึ้น การสร้างเมืองที่เดินได้ และ สามารถปั่นจักรยานเป็นส่วนที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการส่งเสริม Active Transportation และ สุขภาพที่ดีของคนที่อาศัยในเมือง ส่วนดังกล่าวสามารถเพิ่มกิจกรรมทางกายและมีส่วนช่วยให้ผู้สูงวัยมีสุขภาวะที่ดี รวมไปถึงสามารถช่วยทำให้ผู้สูงวัยมีความรู้สึกตนเองเป็นอิสระไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่นมากเกินไป เพราะวิธีการเดินทางด้วยการเดินและการใช้จักรยานเป็นการเดินทางอย่างง่ายและสะดวกต่อผู้สูงวัยเมื่อเปรียบเทียบกับการเดินทางรูปแบบอื่น เมื่อผู้สูงวัยสามารถเดินทางด้วยตนเองอย่างอิสระย่อมส่งผลต่อความรู้สึกทางจิตใจที่ดีเพราะไม่ต้องเป็นภาระผู้อื่น
จากที่ได้กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าการสร้างเมืองให้สามารถเดินได้และปั่นจักรยานได้นั้น เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อผู้ที่อยู่อาศัยในเมืองโดยเฉพาะผู้สูงวัยที่มีความสามารถในการขับรถยนต์ที่ลดลง ดังนั้นการเดินหรือการปั่นจักรยานเป็นทางเลือกการเดินทางที่ง่ายและเหมาะกับผู้สูงวัยมากที่สุด
ทั่วโลกกำลังเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัย การเตรียมความพร้อมเมืองเพื่อมีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงวัยจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเมืองให้รองรับการเดินและการใช้จักรยานได้จึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางการพัฒนาเมืองที่สำคัญ ที่จะมีส่วนช่วยให้ผู้สูงวัยมีความเท่าเทียมในการเดินทางอย่างกับช่วงวัยอื่นๆ มีความรู้สึกอิสระในการเดินทางมากขึ้น มีความรู้สึกภูมิใจในตนเองที่สามารถเดินทางได้โดยที่ไม่ต้องเป็นภาระแก่ผู้อื่น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวทางการพัฒนาเมืองเพื่อรองรับการเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน
ที่มา https://www.cnu.org/publicsquare/2020/03/05/aging-population-needs-walkable-bikeable-cities