Home ข้อมูลความรู้ บทความ Bike Sharing ทำแล้วเวิร์ค หรือ ไม่เวิร์ค ขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไรบ้าง

แปลและเรียบเรียงโดย: นนทนีย์ วิบูลย์กุล

ที่มาภาพ: https://www.bbc.com/future/article/20210112-the-vast-bicycle-graveyards-of-china


บางเมืองในโลกทำ Bike Sharing แล้วเวิร์ค คนนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่บางเมืองกลับทำแล้วไม่เวิร์ค คนไม่นิยมใช้ จนในที่สุด Bike Sharing ก็ล้มหายตายจากไปในที่สุด……..

อะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การให้ Bike Sharing พัฒนาได้ และอะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Bike Sharing ล้มเหลว เรามาหาคำตอบด้วยกันจากบทความนี้

จากภาพด้านบนหากมองเผินๆ เราอาจจะนึกว่าภาพนี้เป็นทุ่งลูกกวาดสีสันสดใส แต่ถ้าเราซูมดีๆ จะเห็นว่าภาพนี้เป็นภาพจักรยาน Bike Sharing! จำนวนมากที่ถูกนำมาทิ้ง และถูกจอดเรียงทิ้งไว้อย่างเป็นระเบียบในพื้นที่เดียวกัน จนพื้นที่ดังกล่าวถูกขนานนามว่า “ China’s Bicycle Graveyard” หรือ สุสานจักรยานแห่งประเทศจีน

โดยภาพนี้เป็นภาพที่ถ่ายปี 2017 ในประเทศจีน ซึ่งหากเรานึกถึงประเทศจีน เราคงจะนึกภาพออกได้แน่นอนว่าประเทศจีนนั้นเป็นประเทศที่มีผู้ใช้บริการ Bike Sharing เป็นจำนวนมาก

ในช่วงหนึ่งการให้บริการจักรยานรูปแบบ Bike Sharing มีความนิยมและมีการใช้อย่างแพร่หลายทั่วประเทศจีน จนทำให้หลายๆคนพลอยจินตนาการฝันหวานไปถึงโลกอนาคตที่ท้องถนนเต็มไปด้วยการใช้จักรยาน แถมมีการใช้นวัตกรรมที่ทันสมัยล้ำยุค เช่น ที่ล๊อคจักรยานอัตโนมัติ และเทคโนโลยี GPS สำหรับการติดตามจักรยานใน Bike Sharing อีกต่างหาก โลกของเราในอนาคตคงเต็มไปด้วยการเดินทางด้วยจักรยานที่ดีต่อสุขภาพแถมเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแน่ๆ………

อันที่จริงนวัตกรรมเทคโนโลยี เช่น ที่ล็อคจักรยานอัตโนมัติ และเทคโนโลยี GPS ที่มีอยู่ในระบบ Bike Sharing ก็มีข้อดีไม่น้อย เพราะหลังจากที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวใน Bike Sharing การเดินทางด้วยจักรยานก็กลับมาบูมในประเทศจีนอีกครั้ง

จากในอดีตที่จีนเคยใช้จักรยานอย่างแพร่หลายจนได้ชื่อว่า “The Kingdom of Bicycle” และหลังจากนั้นอัตราการใช้จักรยานในประเทศจีนก็เริ่มลดลงเพราะคนหันไปใช้รถยนต์ส่วนตัวมากขึ้น แต่ Bike Sharing ได้พลิกฟื้นประเทศจีนให้หันกลับมาใช้จักรยานแทนการใช้รถยนต์ส่วนตัวอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งนับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีของสังคมจีนอย่างยิ่ง

นอกเหนือจากนั้น……Bike Sharing ได้แสดงให้เห็นความคุ้มค่าคุ้มทุนในการเป็นหนึ่งในรูปแบบทางเลือกของการเดินทางที่สามารถเข้ามาแทนที่การใช้รถยนต์ส่วนตัว และแถมช่วยลดปัญหาจราจรได้อีกด้วย

โดยบริษัท Ofo ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่ให้บริการจักรยานในรูปแบบ Bike Sharing ที่มีชื่อเสียงของประเทศจีน มีความต้องการที่จะนำเสนอแนวคิดในการแก้ปัญหาจราจรผ่านรูปแบบ technology-driven transport solution โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางในระยะทางที่ไม่ไกลมาก อีกทั้งบริษัทนี้มีความต้องการที่จะจัดสรรจำนวนจักรยาน Bike Sharing ให้มีความสอดคล้องตามความต้องการผู้ใช้บริการในแต่ละพื้นที่

แนวคิด Bike Sharing ในรูปแบบดังกล่าวกลายเป็นรูปแบบที่นักลงทุนภาคเอกชนช่วยส่งเสริมรูปแบบการเดินทางสีเขียว(Green Transport) ซึ่งสามารถเป็นหนึ่งวิธีการแก้ปัญหาจราจรในประเทศจีน แต่อย่างไรก็ดี……. Ofo ไม่ได้เป็นเพียงบริษัทเดียวที่เติบโตและได้รับผลประโยชน์จากการทำธุรกิจ Bike Sharing ยังมีบริษัทอื่นๆที่เป็นคู่แข่งทางการตลาดของบริษัทนี้ นั่นก็คือ Mobike และ Bluegogo ที่ให้บริการจักรยานในรูปแบบ Bike Sharing ในลักษณะเดียวกัน

หากมองโดยผิวเผินการมีบริษัทที่ให้บริการ Bike Sharing ก็ดูเป็นเรื่องที่น่ายินดีเพราะสามารถช่วยส่งเสริมการเดินทางด้วยจักรยานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ถ้าหากเราจะมองให้ลึกมากขึ้นจะพบว่า รูปแบบธุรกิจดังกล่าวไม่มีโครงสร้างกฏระเบียบ(Regulatory Framework) ที่ชัดเจน ในขณะที่การให้บริการจักรยาน Bike Sharing เริ่มขยายตัว มีความนิยมใช้อย่างแพร่หลายในประเทศจีน

การไม่มีโครงสร้างกฏระเบียบที่ชัดเจนในธุรกิจลักษณะนี้ทำให้เกิดการเลียนแบบ Business Model กันได้ง่ายๆ จนทำให้เกิดปัญหาคือมีบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการให้บริการ Bike Sharing ผุดขึ้นมามากกว่า 40 บริษัท!!!

และแน่นอนเมื่อมีบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับ Bike Sharing ผุดมาเป็นดอกเห็ดขนาดนี้สิ่งที่ตามมาก็คือปัญหา Over supply ของจำนวนจักรยาน Bike Sharing ที่มีอยู่ล้นประเทศจีนเป็นจำนวนกว่าล้านคัน!

ปัญหาดังกล่าวทำให้เมืองใหญ่ในประเทศจีนอย่าง เซี่ยงไฮ้ กับ หางโจว ต้องสร้างแนวทางการทำงานเพื่อที่จะสามารถบริหารจัดการและล้อมกรอบรูปแบบธุรกิจ Bike Sharing
แม้รูปแบบจักรยาน Bike sharing จะดีงามในประเด็นการเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่า Bike Sharing ยังมีปัญหาในประเด็นการบำรุงรักษา และ ปัญหาการเสื่อมสภาพของจักรยาน ปัญหาการขโมยจักรยาน Bike Sharing รวมไปถึงปัญหาการจัดวางจักรยาน Bike sharing อย่างไม่เป็นระเบียบในที่สาธารณะ

มากไปกว่านั้นยังมีรายงานว่ามีการค้นพบเศษซากจักรยานในแม่น้ำมากกว่า 3,000 คันในระหว่างที่มีการทำความสะอาดแม่น้ำในเมือง ดังนั้นแม้จักรยานจะดูเหมือนเป็นยานพาหนะที่เป็นมิตรต่อโลก แต่ปัจจุบันเศษซากจักรยานก็ไม่สามารถย่อยสลายได้ง่ายๆ แถมการ Recycle ชิ้นส่วนจักรยานในปัจจุบันก็ยังไม่ใช่งานที่ทำได้ง่ายเท่าใดนัก ดังนั้นการจัดการธุรกิจที่ดีให้ครอบคลุมทุกมิติจึงมีความจำเป็นอย่างมาก

รูปแบบการให้บริการจักรยาน Bike Sharing ที่โดยส่วนใหญ่เป็นรูปแบบการลงทุนโดยภาคเอกชนแถมไม่มีโครงสร้างกฏระเบียบที่ชัดเจนในธุรกิจรูปแบบนี้ ทำให้โดยส่วนมากรัฐบาลมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจากธุรกิจ Bike Sharing นั้นเป็นข้อผิดพลาด

คุณ Jamilla Magnusson ตำแหน่ง Global Communication Director ประจำสถาบัน Institute for Transportation and Development Policy สำนักงานใหญ่ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวว่า “ ไม่มีระบบอะไรที่ตายตัวในรูปแบบธุรกิจ Bike Sharing มีแค่บริษัทเอกชนที่พยายามแข่งขันกันเองเพื่อเข้าไปอยู่ในตลาดของผู้ใช้บริการ”

อีกทั้งได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การริเริ่มรูปแบบการให้บริการจักรยานแบบ Bike Sharing นั้นได้พิสูจน์ให้เห็นถึง ประสิทธิภาพ และความยั่งยืน ดังนั้นถ้า Bike Sharing สามารถอยู่ได้ยาวนานขึ้น ก็จะเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างรูปแบบการเดินทางที่ช่วยในเรื่อง Carbon Emission

อีกหนึ่งบริษัทที่ประสบความสำเร็จในการให้บริการจักรยานในรูปแบบ Bike Sharing คือ “New York’s Citi Bike” ซึ่งเริ่มให้บริการ Bike Sharing ในปี ค.ศ 2013 และได้รับความนิยมโดยมีผู้ใช้บริการมากกว่า 10 ล้านคนในปี ค.ศ 2015 ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนผู้ใช้บริการในรายปี (Annual Rate) สูงสุดเมื่อเปรียบเทียบบริษัทผู้ให้บริการ Bike Sharing เจ้าอื่นๆในตลาด

รวมไปอีกหนึ่งเคสที่ประสบความสำเร็จในการให้บริการจักรยานในรูปแบบ Bike Sharing ในฝั่งเอเชียคงหนีไม่พ้นไต้หวัน ซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมผลิตจักรยานที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเราสามารถเห็นความสำเร็จของบริษัทผู้บริการจักรยานในรูปแบบ Bike Sharing ที่ชื่อว่า “YouBike” ที่มีผู้ใช้บริการอย่างแพร่หลายในไต้หวัน ทำให้เราเห็นภาพการใช้ Bike Sharing อย่างชัดเจนว่าสิ่งเหล่านี้มันสามารถใช้ได้จริง ใช้แล้วเวิร์ค!

แล้วที่อื่นใช้ Bike Sharing แล้วไม่เวิร์คหรอ????

หากมองกันตามความเป็นจริง การที่จะทำให้  Bike Sharing นั้นจะประสบความสำเร็จ หรือไม่ประสบความสำเร็จ นั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย

ปัจจัยแรก คือ ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่เมือง ยกตัวอย่างเช่น หากพื้นที่เมืองนั้นประกอบไปด้วยเนิน ทางลาดชัน การใช้จักรยานทั่วไปในการเดินทางอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นรูปแบบจักรยานไฟฟ้าอาจตอบโจทย์รูปแบบพื้นที่ๆเป็นเนิน หรือทางลาดชันมากกว่า

ปัจจัยที่สองที่จะช่วยให้ Bike Sharing ประสบความสำเร็จได้นั้นขึ้นอยู่กับว่า “ทำอย่างไรให้ Bike Sharing เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางในชีวิตประจำวัน” หากเราต้องการส่งเสริมให้คนใช้จักรยาน แต่การสร้างเลนจักรยานกลับอยู่ห่างจากระบบขนส่งสาธารณะที่มีส่วนสำคัญในการเชื่อมต่อการเดินทางของผู้คน ย่อมมีผลต่อจำนวนผู้ใช้จักรยาน รวมไปถึงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานให้เอื้อต่อการใช้จักรยาน สามารถมีส่วนช่วยให้เกิดความต่อเนื่องในการเดินทางหากประชาชนเลือกปั่นจักรยานในการเดินทาง ตัวอย่างที่ประเทศที่ประสบความสำเร็จในเรื่องดังกล่าวทีเราเห็นได้ชัดเจน เช่น ประเทศเนเธอร์แลนด์ และเยอรมัน

ปัจจัยที่สามคือการสร้างความร่วมมือระหว่าง ผู้ดำเนินธุรกิจ และ ผู้มีอำนาจในการตั้งระเบียบและข้อบังคับ เพราะมีส่วนช่วยให้ Bike Sharing ประสบความสำเร็จ ยกตัวอย่างเช่นในประเทศจีน จากเดิมความนิยม Bike Sharing เริ่มลดลง แต่หลังจากที่มีการแพร่ระบาดของ COVID – 19 กระแสการกลับมาใช้จักรยาน และ  Bike Sharing ก็กลับมาอีกครั้งเพราะคนไม่ต้องการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถบัส หรือ รถไฟฟ้า เพราะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19 ได้ง่าย

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ทั้งในภาคธุรกิจ และ ภาครัฐ สามารถมีส่วนช่วยสังคมได้ทั้งในรูปแบบทางตรงและทางอ้อม

ในขณะเดียวกัน คุณ Jamilla Magnusson ได้ให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมในเชิงบวกเกี่ยวกับอนาคตของ Bike Sharing โดนได้กล่าวว่า “ทุกภูมิภาคของโลกจะได้รับประโยชน์จากการที่มีผู้คนปั่นจักรยานมากขึ้น นั่นหมายถึงจำนวนการเดินทางที่ใช้รถยนต์ที่ลดลงด้วย”

ตัวอย่างภูมิภาคที่เห็นภาพเห็นได้ชัด ในด้านศักยภาพการพัฒนารูปแบบ Bike Sharing  และได้รับผลประโยชน์จากการปั่นจักรยานคือทวีปแอฟริกา                                                ก่อนหน้าที่แอฟริกาจะเห็นภาพชัดเจนในการพัฒนา Bike Sharing นั้นอยู่ในช่วงปี 2016 หลังจากที่ Medina Bike ได้ริเริ่มธุรกิจ Bike Sharing ที่ประเทศโมร๊อคโคก่อน และหลังจากนั้น Bike Sharing จึงเริ่มขยายที่ไป แอฟริกาใต้ รวันด้า และที่อื่นๆ

ปัจจุบันเมืองในแถบทวีปแอฟริกานับว่าเป็นหนึ่งในพื้นที่เจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว แต่มีจำนวนผู้ที่มีรถยนต์ส่วนตัวค่อนข้างน้อย ทำให้ธุรกิจ Bike Sharing จึงเติบโตอย่างรวดเร็วและมีความต้องการใช้บริการอย่างแพร่หลาย และถ้ายิ่งเมืองในทวีฟแอฟริกาหลายๆเมืองมีการพัฒนาพื้นที่เพื่อให้เอื้อต่อการใช้จักรยานอย่างปลอดภัยมากขึ้นผนวกกับพัฒนาระบบ Bike Sharing ให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้มากขึ้นในแต่ละสถานที่ ย่อมมีส่วนช่วยลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ รวมไปถึงพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อีกด้วย

อย่างไรก็ดี คุณ Jamilla Magnusson ได้ให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Bike Sharing โดยเสนอว่า การที่จะทำให้ระบบ Bike Sharing สามารถใช้งานได้จริงในเมืองต่างๆนั้น รูปแบบเมืองควรจะต้องมีการสร้างระบบเพื่อรองรับการใช้จักรยาน รวมไปถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เอื้อต่อการใช้จักรยานด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสามารถเป็นรูปแบบการเดินทางแบบทางเลือกได้อย่างแท้จริง และในปี 2017 ที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นสภาพความเป็นจริงแล้วว่า “ไม่มี Bike sharing ที่ไหนทำแล้วเวิร์ค ถ้าไม่ได้มีการสร้างระบบจักรยานที่ดี รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เอื้อต่อการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน

จากบทความข้างต้น เราสามารถมองเห็นได้ว่า ปัจจัยที่จะทำให้ Bike Sharing อยู่รอด ทำแล้วเวิร์ค ทำแล้วมีคนใช้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการลงทุนจากภาคธุรกิจเพียงอย่างเดียว ลำพังการมี Bike Sharing ในที่สาธารณะแล้วรอคนมาใช้บริการ ไม่อาจจะทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน แต่ขึ้นอยู่กับการจัดการระบบ ต้องมีระเบียบแบบแผนทางธุรกิจที่ชัดเจน และ ต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมืองให้เอื้อต่อการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันด้วย หากสิ่งเหล่าสามารถประสานเชื่อมโยงกันได้ ย่อมสนับสนุนในผู้คนใช้จักรยานในการเดินทางมากขึ้น ผลประโยชน์ย่อมเกิดกับธุรกิจ Bike Sharing ด้วยเช่นกัน

Reference
Hope Ngo. (2021). Bicycle share schemes have had huge success in some cities and flopped spectacularly in others – what is it that makes or breaks a bike share?. BBC Future Planet. ที่มา: https://www.bbc.com/future/article/20210112-the-vast-bicycle-graveyards-of-china

Print Friendly, PDF & Email