เขียนโดย : นันทชาติ รัตนบุรี
สถาบันการเดินและการจักรยานไทย
การเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ของเจ้าพระยาสกายปาร์ค สวนสาธารณะลอยฟ้าที่ได้รับการปรับปรุงบนโครงสร้างเดิมของรางรถไฟฟ้าลาวาลิน ที่ถูกทิ้งร้างมาตั้งแต่ปี 2524 นับว่าสร้างความยินดีให้กับคนกรุงเทพฯ และผู้คนที่ติดตามการพัฒนาเมืองเป็นอย่างมาก ไม่เพียงเพราะ เจ้าพระยาสกายปาร์ค เป็นโครงการฟื้นฟูเมืองที่ช่วยสร้างพื้นที่สีเขียวและจุดถ่ายรูปแห่งใหม่ให้กับคนกรุงเทพฯ แต่ยังนับว่าเป็นโครงการที่ใช้ระยะเวลาและงบประมาณในการลงทุนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับโครงการลักษณะคล้ายกันในต่างประเทศ จนกล่าวได้ว่าเป็นโครงการสวนสาธารณะบนโครงสร้างสะพานที่สามารถดำเนินการแล้วเสร็จเป็นแห่งแรกของโลก!
เจ้าพระยา สกายปาร์ค หรือที่เราอาจเรียกกันติดปากอีกชื่อหนึ่งว่า พระปกเกล้าสกายปาร์ค เป็นหนึ่งในผลลัพธ์ของโครงการจัดทำผังแม่บทการฟื้นฟูเมือง ในวาระครบรอบ 250 ปีของกรุงเทพฯ ในปี 2575 หรือกรุงเทพฯ 250 โดยความริเริ่มของสำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร ร่วมกับศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC) โครงการนี้ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนทั้งสองฝั่งแม่น้ำ และได้รับการผลักดันโดยกรุงเทพมหานคร จนประสบความสำเร็จและเปิดใช้งานในวันที่ 24 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา
ภาพจำลองมุมสูงของโครงการเจ้าพระยา สกายปาร์ค
ที่มา: ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (https://theurbanis.com/insight/26/06/2020/2199)
สิ่งที่น่าสนใจของโครงการนี้คือ เมื่อพิจารณาประโยชน์การใช้งานของ เจ้าพระยาสกายปาร์คซึ่งได้รับการออกแบบด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมอย่างเข้มข้น ในโครงการกรุงเทพฯ 250 จะพบว่า ผู้คนสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ได้ต้องการเพียงสวนสาธารณะลอยฟ้าเท่านั้น แต่พวกเขายังต้องการใช้สะพานเป็นตัว ‘เชื่อม’ การเดินทางของสองฝั่งแม่น้ำด้วยการ ‘เดิน’และ ‘จักรยาน’ อีกด้วย จึงไม่แปลกที่หากคุณได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมโครงการ เจ้าพระยาสกายปาร์คคุณจะได้พบกับทางเดินและทางจักรยาน รวมทั้งลิฟต์ที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการและผู้สูงวัย
สถาบันการเดินและการจักรยานไทย ชวนคุณมาสำรวจ เจ้าพระยาสกายปาร์คในมุมมองของ ‘ผู้ใช้จักรยาน’ (Bicycle user) – กลุ่มคนที่ใช้จักรยานเพื่อการเดินทาง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เปราะบางที่สุดบนท้องถนนเมืองไทยแต่กลับสำคัญยิ่งยวดต่อบริบทของการเดินทางที่ยั่งยืนในเขตเมือง (Sustainable Urban Mobility)
โครงสร้างพื้นฐานด้านจักรยาน?
เจ้าพระยาสกายปาร์คเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านจักรยานหรือไม่?
เพื่อตอบคำถามนี้ เราขอพาท่านย้อนกลับไปพิจารณาถึงนิยามของโครงสร้างพื้นฐานด้านจักรยาน (Bicycle Infrastructure) ซึ่งหมายถึงสภาพแวดล้อมเชิงกายภาพที่ถูกออกแบบและใช้งานโดยผู้ใช้จักรยาน โครงสร้างพื้นฐานด้านจักรยาน อาจเป็นโครงสร้างขนาดใหญ่เช่น สะพานสำหรับคนเดินหรือคนใช้จักรยาน ทางจักรยานที่แยกต่างหากจากรถยนต์ หรือแม้แต่เลนจักรยานที่ถูกขีดสีตีเส้นบนถนน เป็นต้น และเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่น ที่จอดจักรยาน ห้องอาบน้ำ ทางลาด หรือป้ายบอกทางที่อำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้จักรยานก็ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่า เจ้าพระยาสกายปาร์ค‘เป็น’ โครงสร้างพื้นฐานด้านจักรยานเช่นกัน เพราะสวนลอยฟ้าแห่งนี้ถูกออกแบบมาให้สามารถใช้จักรยานในการเดินทางข้ามจากฝั่งหนึ่งไปยังอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำได้ โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อาทิ ทางลาดสำหรับเข็นจักรยาน และทางจักรยานซึ่งใช้ร่วมกับทางเท้าบริเวณฝั่งของสะพานที่อยู่ขนานไปกับจุดชมวิว
แม้กระนั้น เจ้าพระยาสกายปาร์คจัดได้ว่าเป็น โครงสร้างพื้นฐานด้านจักรยาน ที่ดีแล้วหรือยัง? เราอาจต้องพิจารณาจากหลักการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานด้านจักรยานที่ทั่วโลกให้การยอมรับ นั่นคือหลักการของ Netherlands Bicycle Infrastructure Design Manual (CROW Design Principle) ของประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งกล่าวถึงหลักการ 5 ประการที่สำคัญที่สุดในการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานด้านจักรยาน
– Coherence: จะต้องมีความต่อเนื่องกับโครงข่ายเส้นทางและรูปแบบการสัญจรอื่นๆ มีป้ายบอกทางที่ชัดเจนซึ่งสามารถอธิบายความเชื่อมโยงของเส้นทางได้
– Directness: จะต้องมีความ ‘ลัด’ ที่สุดเพื่อให้สามารถประหยัดเวลาและระยะทางในการเดินทางของผู้ใช้จักรยานได้
– Safety: จะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้จักรยานทั้งจากการพาหนะเครื่องยนต์ต่างๆ และการใช้งานโครงสร้างพื้นฐานนั้นๆ ลดโอกาสการเฉี่ยวชนด้วยการออกแบบที่ลดจุดตัดและทางแยก
– Comfort: จะต้องทำให้ผู้ใช้จักรยานขี่สบายที่สุด ไม่ทำให้เสียพลังงานในการปั่นมากจนเกินไป ไม่มีอุปสรรคกีดขวางการใช้งาน ลดความชัน เพิ่มความลาด
– Attractiveness: จะต้องน่ารื่นรมย์ สร้างความเพลิดเพลินให้กับผู้ใช้จักรยานตลอดการใช้งานพื้นที่ ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน และที่สำคัญที่สุดสำหรับเมืองร้อน คือต้องมีร่มเงาตลอดหรือระหว่างเส้นทางให้หลบร้อนบ้าง
เมื่อพิจารณาจากหลักการทั้งห้าข้อนี้ จะพบว่า เจ้าพระยาสกายปาร์คสามารถตอบโจทย์หลักการออกแบบดังกล่าวได้กว่า 4 ใน 5 ข้อ กล่าวคือ
Directness – ต้องลัดที่สุด
พระปกเกล้าสกายปาร์คทำให้เกิดเส้นทางการสัญจร ด้วยจักรยานความยาว 280 เมตรเส้นใหม่ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน โครงการนี้ทำให้ผู้ใช้จักรยานสามารถเดินทางข้ามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระปกเกล้า ซึ่งแต่เดิมไม่สามารถใช้งานได้เพราะไม่มีพื้นที่สำหรับคนเดินหรือใช้จักรยานได้เลย (หรือหากจะมีก็คือ การขี่จักรยานบนสะพานพระปกเกล้าซึ่งนับว่าค่อนข้างอันตรายเป็นอย่างมาก) จึงนับว่าสวนลอยฟ้าแห่งนี้ช่วยเพิ่มศักยภาพการเดินเท้าและจักรยานของคนสองฝั่งแม่น้ำได้อย่างมาก
นอกจากนี้โครงการยังมีทั้งฝั่งชมวิวที่ถูกออกแบบให้เป็นทางลาดขึ้นลงคดเคี้ยวไปมา และฝั่งของผู้เดินทางที่เป็นทางเรียบทอดยาวไม่อ้อมค้อม ผู้ใช้จักรยานจึงสามารถเลือกใช้งานเส้นทางที่ไม่อ้อมจนเกินไปได้ ซึ่งถือว่าเป็นหลักการออกแบบสำคัญที่ทางจักรยานในประเทศไทยหลายแห่งยังไม่สามารถตอบโจทย์ได้ เพราะผู้ออกแบบไม่ได้คำนึงถึงการใช้งานของผู้ใช้จักรยานเพื่อการเดินทาง แต่ออกแบบเพื่อสนองความต้องการของนักปั่นจักรยานเชิงกีฬา หรือนักปั่นจักรยานเชิงนันทนาการและท่องเที่ยว ซึ่งต้องการเส้นทางที่ยาวและคดเคี้ยว
สภาพเส้นทางจักรยานที่ทอดตรง โดยด้านบนคือโครงสร้างจุดชมวิว
เส้นทางจักรยานมีความลดเลี้ยวอยู่บ้าง และมีลักษณะการใช้งานร่วมกับคนเดินเท้า
Safety – ปลอดภัยไว้ก่อน
ความปลอดภัยเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของการใช้จักรยาน หากผู้สัญจรไม่มั่นใจในความปลอดภัยของการใช้จักรยาน พวกเขาจะไม่มีทางออกจากบ้านด้วยพาหนะสองล้อนี้โดยเด็ดขาด
สำหรับพระปกเกล้าสกายปาร์คนั้น แน่นอนว่านอกจากการออกแบบงานโครงสร้างที่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้งานทั่วไป อาทิ การทำราวกันตก และการเลือกใช้วัสดุที่ไม่ลื่นตลอดความยาวสะพานแล้ว พระปกเกล้าสกายปาร์คนับว่า ‘ปลอดภัย’ สำหรับผู้ใช้จักรยานอีกด้วย เพราะเป็นโครงสร้างที่แยกต่างหากจากรถยนต์ และปราศจากทางแยกและจุดตัดต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดการปะทะหรือเฉี่ยวชนได้ เหล่านี้ไม่เพียงสร้างความปลอดภัยที่แท้จริง แต่ยังสร้าง ‘ความรู้สึกปลอดภัย’ ให้กับผู้ใช้จักรยานด้วย อย่างไรก็ตาม ความปลอดภัยดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงไปสภาพแวดล้อมของพื้นที่ เช่น ความแออัดของผู้คนบนสะพาน หรือ สภาพอากาศที่ไม่เออำนวย เช่น ฝนตกหนัก เป็นต้น
พื้นผิวสะพานซึ่งใช้วัสดุก่อสร้างที่มีลักษณะไม่ลื่น
ราวกันตกถูกติดตั้งตลอดความยาวของสะพาน แต่ยังเผยให้เห็นวิวที่น่าประทับใจ
Attractiveness – น่ารื่นรมย์
ข้อนี้คือจุดเด่นที่สุดของโครงการเจ้าพระยาสกายปาร์คจะมีทางจักรยานแห่งใดของไทยที่ทอดผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาและเชื่อมวิวสุดตระการตาของเมืองเก่าฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรีได้งดงามขนาดนี้ แน่นอนว่าผู้ใช้จักรยานจะได้เห็นวิวที่น่ารื่นรมย์ตลอดการปั่นจักรยานอย่างแน่นอน ตัวโครงการฯ ยังมีต้นไม้ (ซึ่งแม้จะไม่ใช่ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่แต่ก็ให้ร่มเงาระดับหนึ่ง) และร่มเงาของโครงสร้างสะพาน ตลอดความยาวสะพาน ซึ่งทำให้การปั่นจักรยานไม่ร้อนมากจนเกินไปด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ในช่วงกลางคืน พระปกเกล้าสกายปาร์คยังได้รับการประดับตกแต่งด้วยไฟหลากสี ซึ่งช่วยเพิ่มแสงสว่างในการใช้งานจักรยานได้เป็นอย่างดี
พันธ์ไม้ดอกไม้ประดับนานาชนิดบนสะพาน สร้างความรู้สึกสงบและรื่นรมย์
วิวสุดตระการตาของกรุงเทพมหานครซึ่งสามารถเห็นได้จากจุดชมวิวบนสะพาน
ร่มเงาบางส่วนของเส้นทางจักรยานบนสะพาน
Comfort – สะดวกและสบาย
พระปกเกล้าสกายปาร์คเป็นโครงสร้างที่เหมาะกับการใช้จักรยานมากกว่าที่เราคิด ผู้ใช้จักรยานสามารถใช้ทางลาดสำหรับเข็นจักรยานได้ทั้งสองฝั่งของทางขึ้นสะพาน เมื่อขึ้นไปถึงแล้ว ผู้ใช้จักรยานยังสามารถเลือกได้ระหว่างการเข็นจักรยานชมวิวเจ้าพระยาสุดตระการตา หรือหากต้องการขี่จักรยานก็เลือกใช้ทางจักรยานอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งแม้จะคดเคี้ยวและมีเนินลาดขึ้นลงอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคกับการใช้จักรยานบนสะพานแห่งนี้เลย ตรงกันข้ามกลับสร้างความเพลิดเพลินในการขี่จักรยานด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามผู้ใช้จักรยาน ทำให้พบว่า ทางลาดสำหรับเข็นจักรยานนั้นยังค่อนข้างแคบไปบ้าง จึงอาจยังไม่เหมาะสำหรับจักรยานขนาดใหญ่หรือจักรยานทัวริ่งซึ่งบรรจุสัมภาระจำนวนมาก ทางเลือกของผู้ใช้จักรยานขนาดใหญ่ก็คือการใช้ลิฟต์นั่นเอง นอกจากนี้ เนื่องด้วยตัวสะพานไม่ได้มีการขีดสีตีเส้นช่องทางจักรยานเอาไว้ การใช้งานจักรยานจึงเป็นลักษณะการใช้งานร่วมกับคนเดินเท้า ซึ่งก็อาจไม่ได้รับความสะดวกสบายมากนักในช่วงเวลาที่มีผู้คนมาเยี่ยมเยือนสะพานแห่งนี้จำนวนมาก ทำให้ยังไม่สามารถทำความเร็วบนสะพานได้
ทางลาดสำหรับเข็นจักรยาน ซึ่งยังถือว่าแคบและไม่สะดวกมากนักสำหรับจักรยานที่มีน้ำหนักมากหรือขนาดใหญ่แต่ไม่น่าเป็นอุปสรรคสำหรับจักรยานขนาดเล็ก เช่น จักรยานพับ และจักรยานแม่บ้าน เป็นต้น
ลิฟต์สำหรับผู้ใช้งานสะพาน บริเวณทางขึ้นฝั่งธนบุรี
แม้กระนั้น เจ้าพระยาสกายปาร์คยังมีข้อจำกัดบางประการ ซึ่งในอนาคตหากโครงการมีการปรับปรุงกายภาพที่ตอบสนองกับผู้ใช้จักรยานมากขึ้น ก็น่าจะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ นั่นคือ
Coherence – ความต่อเนื่องเชื่อมโยง
จากการสัมภาษณ์ผู้ใช้งานสะพานที่เป็นนักปั่นจักรยาน สิ่งหนึ่งที่พบตรงกันคือ ความไม่สะดวกสบายในการหาทางขึ้นและลงของสะพานทั้งฝั่ง ทั้งนี้อาจเกิดจากการที่ยังไม่มีป้ายบอกทาง หรือการประชาสัมพันธ์ที่ทั่วถึงซึ่งจะเป็นอุปสรรคอยู่บ้างสำหรับนักท่องเที่ยวหรือผู้ใช้งานสะพานที่ต้องการมาเที่ยวชมสะพานเป็นครั้งแรก
อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่แม้ว่าพระปกเกล้าสกายปาร์คจะเข้ามาช่วยเติมเต็มศักยภาพของการสัญจรด้วยเดิน-จักรยานในพื้นที่ แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์ นั่นก็เพราะบริบทของพื้นที่โดยรอบยังขาดการพิจารณาถึงความเชื่อมต่อของเส้นทางจักรยานที่ผู้ใช้จักรยานสามารถใช้ได้อย่างต่อเนื่อง การมีสะพานที่เอื้อให้ผู้ใช้จักรยานสามารถใช้สัญจรได้ แต่เบื้องล่างของสองฝั่งเจ้าพระยาไม่มีเส้นทางที่ปลอดภัยและสะดวกสบายสำหรับการใช้จักรยาน ย่อมไม่ทำให้เกิดการใช้จักรยานในพื้นที่ อยู่ดี ดังนั้น งานช้างต่อไปที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องผลักดันกันต่อก็คือ การสร้างเครือข่ายการสัญจรด้วยจักรยานที่สามารถเชื่อมโยงการใช้งานของพระปกเกล้าสกายปาร์คได้
ทางขึ้นสะพานบริเวณฝั่งพระนคร ซึ่งยังขาดป้ายบอกทาง และค่อนข้างหายาก
ที่จอดจักรยาน บริเวณสถานี MRT สนามไชย ซึ่งผู้ใช้จักรยานสามารถนำมาจอดเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธาณะได้
หากเราจำกันได้ เส้นทางจักรยานที่เคยก่อสร้างในพื้นที่ใกล้เคียงก็คือ เส้นทางจักรยานรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งประกอบไปด้วยเส้นทางความยาว 8 กิโลเมตรที่วนรอบพื้นที่เมืองเก่าในฝั่งพระนคร น่าเสียดายที่เส้นทางจักรยานเส้นนี้สุดท้ายก็ถูกรื้อถอนไป อันเป็นเพราะบริบทของโครงการที่อาจยังขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่อย่างเหมาะสม ทำให้เกิดการต่อต้านอยู่เนืองๆ ลองคิดภาพว่าหากเส้นทางจักรยานนั้นได้รับการปรับปรุงให้ปลอดภัย สามารถเจรจากับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้แบ่งปันพื้นที่ร่วมกันได้ และออกแบบเส้นทางให้เชื่อมต่อกับการเดินทางรูปแบบอื่นๆ การใช้จักรยานในเขตเมืองเก่าสองฝั่งเจ้าพระยาคงเป็นไปได้อย่างแน่นอน
เส้นทางจักรยานรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ช่วงปี 2551 – 2562 (ที่มา: https://mgronline.com/daily/detail/9570000135442)
เส้นทางจักรยานรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ช่วงปี 2551 – 2562
(ที่มา: https://dol.thaihealth.or.th/Media/Index/b667caa2-a5ab-e711-80e3-00155d65ec2e?isSuccess=False&isSuccess=False)
อนาคตของโครงสร้างพื้นฐานด้านจักรยานในประเทศไทย
กระแสการใช้จักรยานในเมืองไทย แม้ว่าดูเหมือนจะซบเซาลงไปในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา แต่จำนวนผู้ใช้จักรยานหรือกลุ่มคนที่ใช้จักรยานเพื่อการเดินทางในชีวิตประจำวันนั้นกลับไม่ได้ลดลงเลย เพราะเมื่อมองออกไปบนท้องถนนจะพบว่า มีผู้ใช้จักรยานที่ขี่จักรยานซอกแซกคู่ไปกับรถยนต์บนท้องถนนมากขึ้นแม้ว่าจะไม่มีอีเว้นท์จักรยานที่มีการปิดเมืองปิดถนนเพื่อนักปั่นแล้วก็ตาม เมืองอย่างกรุงเทพมหานครจำเป็นต้องปรับกายภาพของเมืองให้รองรับกับผู้ใช้จักรยาน รวมทั้งการเดินทางขนาดเล็ก (Micro-mobility) อื่นๆ ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ใหม่ของโลก อาทิ จักรยานไฟฟ้า (E-bike) สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า และจักรยานบรรทุก (Cargo bike) เพราะหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เพื่อรองรับการเดินทางรูปแบบใหม่ๆ ในเมืองแล้ว เราคงไม่พ้นนั่งติดแหงกอยู่ในรถยนต์ของตัวเองอย่างแน่นอน
ในมุมมองของสถาบันฯ การมีโครงสร้างพื้นฐานด้านจักรยานที่ดีนั้น ต้องมาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน เรายังคงคาดหวังว่าโครงการก่อสร้างเส้นทางจักรยาน หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ จะเป็นมิตรกับผู้ใช้งานที่แท้จริงอย่างผู้ใช้จักรยานบ้าง และเมื่อถึงวันที่ความต้องการของผู้ใช้จักรยานได้รับการพิจารณาอย่างถ่องแท้ เราก็อาจได้เห็นโครงสร้างพื้นฐานพื้นฐานที่ออกแบบมาเพื่อการใช้งานของผู้ใช้จักรยานอย่างแท้จริง
สะพานจักรยาน Curvaceous ในกรุงโคเปนเฮนเกน ประเทศเดนมาร์ก
(ที่มา: http://www.ecologyway.info/curvaceous-bicycle-bridge-brings-new-life-to-copenhagens-harbor/)
สะพานคนเดิน Millenium กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
(ที่มา: http://www.walklondon.com/london-attractions/millennium-footbridge.htm)
สิ่งที่พระปกเกล้าสกายปาร์คจุดประกายให้ผู้พบเห็น ไม่เพียงเพราะสวนลอยฟ้าแห่งนี้เป็นโครงการสวนสาธารณะข้ามแม่น้ำแห่งแรกของโลก แต่คือ แรงบันดาลใจและความหวังใหม่ของการพัฒนาเมืองที่กล้าหาญ รับฟังความคิดเห็นรอบด้าน และเป็นพื้นที่สาธารณะต้นแบบที่สร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดการพัฒนาที่คล้ายคลึงกันได้ในอนาคต สถาบันการเดินและการจักรยานไทย ในฐานะองค์กรที่สนับสนุนการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันจึงขอชื่นชมโครงการฯ มา ณ โอกาสนี้ เป็นอีกหนึ่งโครงการที่เติมกำลังใจให้คนทำงาน เดิน และจักรยาน และหวังให้เกิดโครงการที่เกี่ยวกับผู้ใช้จักรยานเพื่อการเดินทางขึ้นอีกในหลายๆเมือง หลายๆ ชุมชน ของประเทศไทย
เขียน : นันทชาติ รัตนบุรี
สถาบันการเดินและการจักรยานไทย