ในช่วงที่เชื้อไวรัส Covid-19 แพร่กระจายไปทั่วโลก ส่งผลให้กิจการต่างๆ ได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน แล้วทำให้หลายกิจการต้องปิดตัวลง ไม่เว้นแม้แต่ร้านหนังสือที่แม้มีสถิติการอ่านเพิ่มมากขึ้นระหว่างกักตัว ก็ยังคงได้รับผลกระทบค่อนข้างเยอะ แต่ร้านหนังสือบางแห่งที่มีความยืดหยุ่นในการปรับตัว ได้ใช้โอกาสนี้คิดหาวิธีใหม่ๆ ในการให้บริการลูกค้า
แม้เราพบสถิติว่าในช่วงกักตัว คนอ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มวัยหนุ่มสาว อายุ 18-24 ปีมีการอ่านหนังสือมากกว่าเคย เพราะต้องการผ่อนคลาย เบี่ยงเบนความสนใจจากช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ อีกทั้งการที่มีเวลาว่างมากก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อ่านหนังสือมากขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าร้านหนังสือต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่
ร้านหนังสือบางแห่งได้จัดงานเปิดตัวหนังสือ พบปะนักเขียน จัดกิจกรรมศิลปะ และเวิร์กช็อปต่างๆ ทางออนไลน์ โดยชวนนักคิด นักเขียนมาไลฟ์สด และพูดคุยเกี่ยวกับเนื้อหาในหนังสือแทน โดยพยายามรักษาอัตลักษณ์ของร้านหนังสือที่เป็นพื้นที่ให้การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และมุมมองต่างๆ ของผู้คนหลากหลายในวงการหนังสือ ตั้งแต่นักเขียน นักแปล บรรณาธิการ และผู้อ่าน
ไม่เพียงนักอ่านผู้ใหญ่เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากการปิดร้านหนังสือ แต่เด็กๆ เองก็ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน ทั้งจากการที่โรงเรียนปิด อีกทั้งยังไม่สามารถไปเล่นกับเพื่อนได้อย่างปกติ จึงมีการปรับตัวไปใช้ช่องทางออนไลน์ในการส่งมอบความรู้ต่างๆ ให้เด็ก เช่น ในรัฐวิกตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย เจ้าของร้าน Kristen Proud ได้ตัดสินใจใช้ YouTube ในการถ่ายทอดความรู้จากหนังสือให้เด็กๆ ได้เรียนรู้แทน
นอกจากนี้หลายๆ ร้านก็ต่างปรับตัวและหันมาให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาใช้กับการขายและการตลาดเพื่อให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น ระบบการค้นหาและสั่งซื้อหนังสือออนไลน์ บริการจัดซื้อหนังสือ และ E-book เป็นต้น
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.bbc.com/culture/article/20200323-covid-19-how-bookshops-around-the-world-are-responding