Home ข้อมูลความรู้ บทความ สรุปผลการประชุมส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ครั้งที่ 7 ( The 7th Thailand Bike and Walk Forum )

สรุปผลการประชุมส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ครั้งที่ 7
( The 7th Thailand Bike and Walk Forum )

การประชุมส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ประเทศไทย หรือ Thailand Bike and Walk Forum เป็นการประชุมระดับชาติด้านการเดินและการใช้จักรยาน โดยเป็นเวทีนำเสนอผลงานวิจัยและงานวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการเดิน-จักรยานในชีวิตประจำวัน และในวันเสาร์ที่ 21 กันยายน 2562 ณ อาคารเคเอกซ์ (Knowledge Exchange for Innovation Center) ที่ผ่านมา นับเป็นครั้งที่ 7 ที่มีการจัดประชุมส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันในประเทศไทย ในการจัดประชุมครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย (TWCI)


ในปี พ.ศ.2562 ภายใต้ตรีมการประชุม “Think Globally, Bike – Walk Locally” ส่งเสริมเดินปั่นเพิ่มกิจกรรมทางกาย ลดภาวะเนือยนิ่ง ระดับท้องถิ่น…สร้างสุขภาพดีให้เมือง ให้โลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) นำเสนอผลงานวิจัยด้านการเดินและการใช้จักรยาน ของนักวิจัยเครือข่าย และนักวิจัยทั่วไป (2) แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ชุดประสบการณ์ทำงานด้านการเดินและการใช้จักรยาน มุมมองด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และ (3) ร่วมถกแถลง นำเสนอแนวทาง การจัดการเมือง ชุมชน ให้เป็นมิตรต่อการเดินและการใช้จักรยาน เพิ่มกิจกรรมทางกาย สร้างสุขภาวะที่ดี

การประชุมได้มีการแบ่งกลุ่มกิจกรรมย่อยเพื่อนำเสนอผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเดินและการใช้จักรยานทั้งหมด 4 กลุ่ม ได้แก่ (1) Active Societies การมุ่งสร้างบรรทัดฐานและทัศนคติเชิงบวกต่อการมีกิจกรรมทางกายด้วยการเดินและการใช้จักรยานในสังคมด้วยความรู้และความเข้าใจ (2) Active Environments การจัดการทางกายภาพและโครงสร้างพื้นฐานทางสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการเดินและการใช้จักรยาน เพิ่ม PA ด้วยความเท่าเทียมต่อคนทุกคน และทุกเพศทุกวัยในสังคม (3) Active People การสนับสนุนให้มีกิจกรรมทางกายในทุกช่วงวัยของชีวิต ตั้งแต่ครอบครัว โรงเรียน สถานที่ทำงาน ชุมชน สถานที่ท่องเที่ยว และ (4) Active Systems นโยบาย งบประมาณ มาตรการของภาครัฐส่วนกลาง และท้องถิ่น ที่สนับสนุนให้เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย ด้วยการเดิน และจักรยาน

โดยการประชุมครั้งนี้ได้เปิดโอกาสให้กับนักวิจัยในหลายสาขาที่มีความสนใจประเด็นการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน เข้าร่วมนำเสนอผลงานวิจัยโดยสามารถแบ่งประเภทงานวิจัยดังต่อไปนี้

1.งานวิจัยในเครือข่าย

ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ 10 พื้นที่ จากนักวิจัยในเครือข่ายของมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย โดยภายใน 10 พื้นที่ได้มีการวิจัยและทดลองเรื่องการเดินและการใช้จักรยานในบริบทที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ทดลอง โดยผลการวิจัยและองค์ความรู้ที่ได้ในทั้งหมด 10 พื้นที่ๆได้มีการวิจัยเชิงปฏิบัติการ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมสามารถนำองค์ความรู้ไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง เพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและความเหมาะสมของในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีบริบทแตกต่างกันในเรื่องการเดินและการใช้จักรยาน

2.งานวิจัยในโครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ

โครงชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะเป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมการสุขภาพ(สสส.) และมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย โดยเป็นโครงการนำร่องเรื่องการส่งเสริมเดิน-จักรยานในชุมชนต่างๆกว่า 80 ชุมชนทั่วประเทศ และในการประชุมส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ครั้งที่ 7 ได้มีการนำเสนอผลงานจากชุมชนจักรยานที่มีความโดดเด่น ได้แก่ ชุมชนมาตารูซอ จังหวัดยะลา และชุมชนมาร้อง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

3.งานวิจัยจากบุคคลภายนอก

ในการประชุมส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ครั้งที่ 7 ได้เปิดรับบทความงานวิจัยด้านการเดินและการใช้จักรยานจากบุคคลภายนอกเพื่อตีพิมพ์ในเอกสารประกอบการประชุมเพื่อให้ผู้เข้าร่วมการประชุมได้ศึกษาองค์ความรู้ด้านการเดินและการใช้จักรยานในบริบทต่างๆ และเป็นหนึ่งแนวทางในการเผยแพร่ข้อมูลวิจัยสำหรับบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจประเด็นด้านการเดินและการใช้จักรยาน

(ผู้ร่วมนำเสนอผลงานวิจัย: ผศ.ดร.อมร บุญต่อ) (ผู้ร่วมนำเสนอผลงานวิจัย: อ.สุวิมล เจียรธราวานิช)

ในช่วงเช้าของการประชุมส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ครั้งที่ 7 ได้รับเกียรติจาก นายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ ประธานมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย (TWCI) กล่าวต้อนรับและเปิดการประชุมฯ โดยหลักจากนั้นได้มีการเสวนาพิเศษเรื่อง การเพิ่มกิจกรรมทางกาย (Physical Activity) ด้วยการเดินและการใช้จักรยาน โดย ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. และ รศ.ดร.ประพัทธ์พงษ์ อุปลา กรรมการมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย นำเสนอประเด็นสำคัญของการประชุม : สถานการณ์ PA โลก แนวโน้ม PA ไทย เมื่อเดิน-จักรยาน คือคำตอบ ซึ่งในปัจจุบันสังคมไทยยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเรื่องกิจกรรมทางกาย โดยส่วนใหญ่มักเข้าใจว่ากิจกรรมทางกาย หมายถึง กิจกรรมนันทนาการ และการออกกำลังกายที่หนักหน่วง ทั้งที่จริงแล้วกิจกรรมทางกายนั้นรวมไปถึงการเคลื่อนไหวร่างกายในกิจวัตรประจำวัน ยิ่งมีการเคลื่อนไหวร่างกายมากเท่าไหร่ ย่อมส่งผลดีต่อร่างกาย และเป็นปัจจัยหนึ่งในการลดภาวะเนือยนิ่ง(Sedentary Behavior)

(ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม และ รศ.ดร.ประพัทธ์พงษ์ อุปลา) (นายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ)

ภาวะเนือยนิ่ง หรือ Sedentary Behavior เป็นหนึ่งประเด็นที่องค์การอนามัยโลก(WHO) ให้ความสำคัญและต้องการลดปริมาณภาวะเนือยนิ่งในประชากรทั่วโลก โดยองค์การอนามัยโลกแนะนำว่าในแต่ละบุคคลควรมีกิจกรรมทางกายไม่น้อยกว่า 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือการออกกำลังกายอย่างหนักเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า75นาทีต่อสัปดาห์ ซึ่งการออกกำลังกายนี้สามารถนับรวมจากการทำงาน การเดินทางในชีวิตประจำวันได้ ดังนั้นหากประชาชนเลือกวิธีการเดินทางด้วยการเดินหรือปั่นจักรยานสำหรับการเดินทางระยะใกล้รัศมี 1-3 กิโลเมตร แทนการใช้มอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือ รถยนต์ส่วนตัว ก็สามารถเป็นหนึ่งวิธีที่มีส่วนช่วยในการลดภาวะเนือยนิ่ง และสร้างเสริมสุขภาวะที่ดี
รูปแบบการประชุมช่วงเช้าได้มีกิจกรรมเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างวิทยากรพิเศษและผู้เข้าร่วมการประชุม โดยในการประชุมได้มีการให้ผู้เข้าร่วมประชุมตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับ PA ผ่านการสแกน QR Code และสามารถรับรู้ผลลัพธ์เปอร์เซ็นต์ของคำตอบในแต่ละหัวข้อแบบ Real – Time ซึ่งผลลัพธ์เปอร์เซ็นต์ในแต่ละหัวข้อนั้นมีดังต่อไปนี้

• คำถามข้อที่ 1 : คุณรู้จักกิจกรรมทางกาย (Physical Activity ; PA) หรือไม่?

คำตอบจากผู้เข้าร่วมประชุมคือ 61.3% รู้จัก PA และ 38.7% ไม่รู้จัก PA

• คำถามข้อที่ 2 : ในแต่คุณคิดว่าคุณมี PA เพียงพอแล้วหรือยัง?

คำตอบจากผู้เข้าร่วมประชุมคือ 58.2% คิดว่าตนเองมี PA เพียงพอ และ 41.8% คิดว่าตนเองไม่มี PA เพียงพอ

• คำถามข้อที่ 3 : เดิน กับ จักรยาน คุณเลือกอะไรเพื่อเพิ่มกิจกรรมทางกาย?

คำตอบจากผู้เข้าร่วมประชุมคือ 56.9% เลือกเพิ่ม PA ด้วยเดินและจักรยาน 30.6% เลือกเพิ่ม PA ด้วยการเดิน และ 12.5 เลือกเพิ่ม PA ด้วยการปั่นจักรยาน

ต่อจากนั้นได้มีการสรุปผลการนำเสนอผลงานวิจัยจากกลุ่มกิจกรรมย่อยทั้ง 4 กลุ่ม โดยผลสรุปในแต่ละห้องย่อยนั้น ได้มาจากแนวคิดของนักวิจัยเรื่องเดิน-จักรยาน และข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมประชุม เพื่อหาแนวทางร่วมในการผลักดันเรื่องการเดินและการใช้จักรยานในสังคมไทย โดยเนื้อหาข้อสรุปในแต่ละห้องย่อยมีดังต่อไปนี้

1. Active Societies

ประเด็นหลัก : การมุ่งสร้างบรรทัดฐานและทัศนคติเชิงบวกต่อการมีกิจกรรมทางกายด้วยการเดินและการใช้จักรยานในสังคมด้วยความรู้และความเข้าใจ

ผลงานวิจัยนำเสนอ/นักวิจัย
• การวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาเมือง-ชุมชนให้เป็นมิตรต่อการเดินและการใช้จักรยาน กรณีศึกษาเทศบาลนครหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา (ผศ.ดร.ปุณยนุช รุธิรโก)
• การศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาเมือง-ชุมชนให้เป็นมิตรต่อการเดินและการใช้จักรยาน กรณีศึกษา ซอยงามดูพลี สำนักงานเขตสาทร กรุงเทพมหานคร (อ.สุวิมล เจียรธราวานิช)
• การออกแบบชุมชนจักรยาน นวัตกรรมอย่างง่ายส่งเสริมการเดินทางเพื่อความยั่งยืน (นาย อารดินทร์ รัตนภู) และผู้แทนจากชุมชนจักรยานตัวอย่าง

บทสรุปกลุ่มกิจกรรมย่อย Active Societies
1. การสร้างเครือข่ายและชุมชนจักรยานในช่วงเริ่มต้นต้องอาศัยระดับบุคคล ซึ่งได้แก่ แกนนำชุมชน เยาวชนต้นแบบ และผู้นำท้องถิ่น โดยในช่วงแรกอาจเป็นการเล่าสู่กันฟังเรื่องประโยชน์
ของการเดินและการใช้จักรยาน เพื่อพัฒนาเป็นการรวมกลุ่มในชุมชนในลำดับถัดไป
2. การสร้างแรงบันดาลใจในเรื่องเดิน-จักรยาน ต้องมีการสร้างกิจกรรมร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่สนับสนุนเรื่องเดิน-จักรยาน และ ผู้ที่อาศัยในชุมชน โดยการสร้างกิจกรรมภายในชุมชน ผู้ที่อาศัยในชุมชนต้องสามารถมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในการสร้างรูปแบบกิจกรรมร่วมกันได้

3. เมื่อมีกิจกรรมส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานภายในชุมชนแล้ว ควรต่อยอดให้มีกิจกรรมส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในรูปแบบต่างๆเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ยกตัวอย่าง เช่น การปั่นจักรยานเพื่อการท่องเที่ยว การปั่นจักรยานเพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดี การปั่นจักรยานเพื่อส่งเสริมกิจกรรมเยาวชนให้ห่างไกลจากยาเสพติด เป็นต้น

2. Active Environments

ประเด็นหลัก : การจัดการทางกายภาพและโครงสร้างพื้นฐานทางสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการเดินและการใช้จักรยาน เพิ่ม PA ด้วยความเท่าเทียมต่อทุกคน และทุกเพศทุกวัยในสังคม

ผลงานวิจัยนำเสนอ/นักวิจัย
• การปรับปรุงทางเดินเท้าในชุมชน (กรณีศึกษา ซอยพุทธบูชา 44) (รศ.ดร.วิโรจน์ ศรีสุรภา-นนท์)
• การศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการรูปแบบที่เหมาะสมต่อการสนับสนุนการใช้จักรยานปันกันใช้ กรณีศึกษาอาคารสำนักงานให้เช่า (นางสาว สรัสวดี โรจนกุศล)
• การส่งเสริมการใช้จักรยานเพิ่มกิจกรรมทางกาย เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีม่วง (ผศ.ดร.อมร บุญต่อ)
• การส่งเสริมการสร้างเมืองชุมชนที่เป็นมิตรต่อการเดินและใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน พื้นที่ศึกษา: ชุมชนสุขสบายใจ เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ (ผศ.ดร.พลเดช เชาวรัตน์)

บทสรุปกลุ่มกิจกรรมย่อย Active Environments
1. การจัดการทางกายภาพและโครงสร้างพื้นฐานเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนให้คนเลือกการเดินทางด้วยเดิน-จักรยาน

2. การปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเดินและการใช้จักรยานต้องมีการวิเคราะห์ความเหมาะสมกับบริบทสังคม และสร้าง Role Model ที่สามารถทำได้ง่ายไม่ซับซ้อน

3. การปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานในแต่ละครั้งมีระยะเวลาในการดำเนินการ และเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากเพราะมีความเกี่ยวข้องกับหน่วยงานหลายภาคส่วน จึงต้องมีข้อตกลง หรือ ฉันทามติ (Consensus) ร่วมกัน ระหว่างหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องด้านการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน

3. Active People

ประเด็นหลัก : การสนับสนุนให้มีกิจกรรมทางกายในทุกช่วงวัยของชีวิต ตั้งแต่ครอบครัว โรงเรียน สถานที่ทำงาน ชุมชน สถานทีท่องเที่ยว

ผลงานวิจัยนำเสนอ/นักวิจัย
• การศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาเมือง-ชุมชนให้เป็นมิตรต่อการเดินและการใช้จักรยาน กรณีศึกษาเทศบาลตำบลนาทวี อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา (ดร.สิริลักษณ์ ทองพูน)
• การศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน (บินไป ปั่นไป) : กรณีศึกษาการออกแบบการเดินทางเชื่อมต่อท่าอากาศยานน่านนคร และชุมชน (นายพงศ์วิสิฐ คำยันต์)
• การเสริมสร้างการเดินและการใช้จักรยานเพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา (ผศ.ดร.สหัทยา วิเศษ)

บทสรุปกลุ่มกิจกรรมย่อย Active People
1. การเดิน-จักรยาน อย่างยั่งยืนเป็นเรื่องระดับปัจเจกบุคคล โดยเมื่อเริ่มจากระดับปัจเจกบุคคลได้แล้วนั้น สามารถปรับเปลี่ยนหรือพัฒนาเป็นการรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่นในพื้นที่อำเภอนาทวี จ.สงขลา

2. การสร้างองค์ความรู้เพื่อเปลี่ยน Mindset ในแต่ละบุคคลได้นั้นต้องมีแรงจูงใจมากพอ และความรู้ด้านการเดินและการใช้จักรยานนั้นต้องมีความเหมาะสมในแต่ละบริบทของพื้นที่นั้นๆ

3. การจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในปัจเจกบุคคลได้นั้นต้องมีองค์ประกอบ 3 อย่างซึ่งประกอบด้วย นโยบาย วิชาการ และภาคประชาสังคม

4. Active Systems

ประเด็นหลัก : นโยบาย งบประมาณ มาตรการของภาครัฐส่วนกลาง และท้องถิ่น ที่สนับสนุนให้เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย ด้วยการเดิน และจักรยาน

ผลงานวิจัยนำเสนอ/นักวิจัย
• การศึกษาปัจจัยความสำเร็จเชิงระบบ เพื่อส่งเสริมเมือง-ชุมชน ที่เป็นมิตรต่อการเดินทาง : กรณีศึกษาเทศบาลเมืองระนอง (นายพรเทพ ดิษยบุตร)
• การศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาเมือง–ชุมชนให้เป็นมิตรต่อการเดินและการใช้จักรยาน กรณีศึกษาชุมชนในเขตเทศบาลนครพิษณุโลก (ผศ.ดร.ภคพร วัฒนดำรงค์)
• การตรวจสอบปัจจัยที่เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันและกระบวนการเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหา: กรณีศึกษาตำบลบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา) (ผศ.ดร.สุรเมศวร์ พิริยะวัฒน์)
• แนวทางการพัฒนาเส้นทางจักรยานรูปแบบใหม่ในเทศบาลนครตรัง (อาจารย์สรศักดิ์ ชิตชลธาร)

บทสรุปกลุ่มกิจกรรมย่อย Active Systems
1. บทบาทและวิสัยทัศน์ของผู้บริหารท้องถิ่นมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันโครงการเรื่องเดิน – จักรยานให้เป็นรูปธรรม

2. เมื่อผู้นำเกิดวิสัยทัศน์เรื่องส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันให้กับประชาชนแล้ว จะเริ่มเกิดการขับเคลื่อนนโยบายภายในองค์กร ตามคำกล่าวที่ว่า “ผู้นำขยับ หน่วยงานขยับ” ยกตัวอย่าง เช่น กรณีจังหวัดพิจิตร ที่มีกิจกรรมผู้ว่าพาปั่น เป็นต้น

3. ต้องมีการปรับโยบายและแผนให้เหมาะสมตามบริบทของแต่ละพื้นที่เพื่อให้เกิดผมสัมฤทธิ์เรื่องการเดินและการใช้จักรยานที่ดีและยั่งยืน

และในช่วงบ่ายของการประชุมได้มีการนำเสนอผลงานวิจัยในหัวข้อ “กางแผน PA โลก วิเคราะห์แผน PA ไทย : เดินและจักรยาน โอกาสและปัจจัยจำกัด” โดย พญ.ฐิติภรณ์ ตวงรัตนานนท์ ตำแหน่งนายแพทย์ชำนาญการ ศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี กรมอนามัย โดยเป็นการเสนอผลงานวิจัยเรื่องเดิน – จักรยาน เปรียบเทียบนโยบายส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในต่างประเทศ อุปสรรคและข้อจำกัดด้านการเดินและการใช้จักรยานในสังคมไทย และปัจจัยที่มีส่วนช่วยส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานให้เป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน

( พญ. ฐิติภรณ์ ตวงรัตนานนท์ )

ในการนำเสนอผลงานวิจัยประเด็น การส่งเสริมกิจกรรมทางกายระดับสิ่งแวดล้อมและนโยบาย
ในประเทศไทย ซึ่งผลวิจัยของ พญ.ฐิติภรณ์ ตวงรัตนานนท์ ในครั้งนี้ ชี้ให้เห็นปัญหาและแนวทางการแก้ปัญหาใน 2 ระดับ ดังต่อไปนี้

(1) ระดับสิ่งแวดล้อม
1.1 ในระดับงานวิจัย
• โครงสร้างพื้นฐานเป็นสิ่งที่น่าจะมีส่วนช่วยส่งเสริมกิจกรรมทางกายได้(แต่หลักฐานยังไม่ชัดเจน)
• ผู้สูงอายุเห็นว่าการมีสิ่งอำนวยความสะดวกเชิงนันทนาการสำคัญกว่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
• ทัศนคติของประชาชนโดยรวมส่งผลต่อการเลือกวิธีการเดินทางในระดับปัจเจกบุคคล

1.2 ในระดับแผนยุทธศาสตร์ชาติ
• Active environments นั้นยังมีการกล่าวถึงอย่างจำกัดในแผนยุทธศาสตร์ชาติของประเทศไทย

1.3 ในระดับองค์การบริหารส่วนจังหวัด
• ในส่วนขององค์การบริหารส่วนจังหวัด มีการเน้นย้ำ Active environments มากกว่า Active Systems แต่โดยส่วนใหญ่ยังเน้นไปทางการพัฒนากีฬา มากกว่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

(2) ระดับนโยบาย

2.1 ในระดับงานวิจัย
• ยังมีงานวิจัยเชิงนโยบายที่มีข้อจำกัดอยู่

2.2 ในระดับแผนยุทธศาสตร์ชาติ
• มีการสนับสนุน Active systems อย่างชัดเจน เช่นการมีแนวทางปฏิบัติ ข้อมูล การจัดการ งานวิจัยและกระบวนการทางการเงิน

2.3 ในระดับองค์การบริหารส่วนจังหวัด
• ไม่มีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการส่งเสริมกิจกรรมทางกายเชิงสิ่งแวดล้อมและนโยบาย
และผลวิจัยเพิ่มเติมพบว่า ในประเด็นการเพิ่มกิจกรรมทางกายในบุคคล ต้องอาศัยการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน โดยในผลวิจัยพบว่างานวิจัยส่วนใหญ่เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมมากกว่าการจัดการเชิงนโยบาย และขณะเดียวกันการปรับปรุงทางกายภาพโครงสร้างพื้นฐานต้องมาควบคู่กับการบังคับใช้กฏหมาย(Law Enforcement) ที่เด็ดขาด เพราะหากมิเช่นนั้นแม้จะมีการเพิ่มจำนวนจักรยานหรือมอบจักรยานให้กับประชาชนทั่วไป ก็มิได้ทำให้ประชาชนตัดสินใจปั่นจักรยานเพิ่มขึ้น

ในขณะเดียวกัน ผลลัพธ์ในงานวิจัยชี้ให้เห็นถึงปัญหาด้านความปลอดภัยของผู้เดินและผู้ใช้จักรยานในสังคมไทย โดยอัตราการเกิดอุบัติเหตุของผู้ใช้จักรยานคือ 72 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่อัตราการเดินอุบัติเหตุของคนเดินเท้าเกิดขึ้นสูงถึง 4 ครั้งต่อปี
การแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าวอย่างยั่งยืน นโยบายสาธารณะและการบังคับใช้กฏหมายต้องมีความเข้มแข็ง ผู้บริหารในระดับต่างๆควรมีการประสานงานหลายฝ่ายเพื่อพัฒนานโยบายเรื่องดังกล่าวให้เป็นรูปธรรม ถ่ายทอดนโยบายจากส่วนกลางไปยังส่วนภูมิภาค เน้นย้ำเรื่องการเฝ้าระวังความปลอดภัยและมีการประเมินผลเรื่องกิจกรรมทางกาย

ต่อจากนั้นได้มีการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ (1) นางนงพะงา ศิวานุวัฒน์ ผู้แทนจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (2) นายอดิศักดิ์ อนันตริยทรัพย์ ผู้แทนจากเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ (3) นายชัยชนะ มีศิริ ผู้แทนจากเทศบาลนครพิษณุโลก และ (4) นายจำลักษ์ กันเพ็ชร์ ผู้แทนจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย โดยการเสวนาได้มุ่งเน้นในเรื่องการเดินและการใช้จักรยานในมิติต่างๆ อาทิ เช่น มิติด้านสุขภาพ มิติด้านสิ่งแวดล้อม มิติด้านเศรษฐกิจ และมิติอื่นๆ รวมถึงแนวทางการผลักดันเรื่องการเดินและการใช้จักรยานในระดับนโนบายของทางหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้การเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน สามารถเกิดขึ้นได้จริงและยั่งยืนในสังคมไทย

(นางนงพะงา ศิวานุวัฒน์, นายอดิศักดิ์ อนันตริยทรัพย, นายชัยชนะ มีศิริ และ นายจำลักษ์ กันเพ็ชร์)

ในการประชุมส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ครั้งที่ 7 ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 146 คน โดยแบ่งเป็นผู้ลงทะเบียนออนไลน์จากหน่วยงานภาครัฐ อาทิ เช่น กรมขนส่งทางบก, กรมควบคุมมลพิษ, สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ รวมถึงหน่วยงานภาคประชาสังคม อาทิ เช่น ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน(ศวปถ.), ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก(CSIP), และสมาคมวิจัยวิทยาการขนส่งแห่งเอเชีย (ATRANS) เป็นต้น และประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจเข้าร่วมการประชุมมีจำนวนทั้งสิ้น 106 คน ในส่วนของผู้เข้าร่วมการประชุมแบบลงทะเบียนหน้างานมีจำนวนทั้งสิ้น 32 คน และ สื่อมวลชนมีจำนวนทั้งสิ้น 8 คน


นอกจากนี้มูลนิธิสถาบันฯ ได้มีการจัดกิจกรรม Bike and Walk Trip ณ วิสาหกิจชุมชนบ้านริมคลองโฮมสเตย์ จ.สมุทรสงคราม ในวันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน 2562 โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากหน่วยงานภาครัฐ อาทิ เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.), กรมควบคุมมลพิษ และกรมควบคุมโรค เป็นต้น และผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากภาคประชาสังคมหรือ อาทิ เช่น บริษัท กล่องดินสอ จำกัด และ โครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ เป็นต้น รวมถึงผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากองค์การระหว่างประเทศ โดยเป็นผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากองค์การสหประชาชาติ (United Nations) นอกจากนี้ยังมีผู้เข้าร่วมโดยเป็นประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจในเรื่องการเดินและใช้จักรยาน

โดยในกิจกรรมครั้งนี้มีจำนวนผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 35 คน เพื่อร่วมทำกิจกรรมส่งเสริมการปั่นจักรยานพร้อมกับเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนที่เป็นเอกลักษณ์และมีความน่าสนใจ อาทิ เช่น การทำน้ำตาลมะพร้าวและผลิตภัณฑ์อื่นๆที่ได้จากมะพร้าว การทดลองทำขนมไทยโบราณ การทำผัดไทกุ้งสดด้วยตนเอง การเยี่ยมชมเกษตรอินทรีย์ของคนในชุมชน เช่น แปลงผักปลอดสารพิษ และโรงเพาะเห็ด ซึ่งสร้างรายได้ให้กับผู้คนในชุมชน รวมไปถึงการทำสปาเท้าด้วยดอกเกลือซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ภายในชุมชนและได้รับการพัฒนาเป็นหนึ่งในธุรกิจบริการนักท่องเที่ยวภายในวิสาหกิจชุมชน

ความสำเร็จของการประชุม

ในการประชุมส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันได้มีการจัดประชุมอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่7 และได้รับความสนใจจากหน่วยงาน ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน โดยการประชุมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นสังคมไทยเพื่อให้รับรู้ความสำคัญของกิจกรรมทางกายและผลกระทบของภาวะเนือยนิ่ง เกิดความร่วมมือในหลายภาคส่วนเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ประชาชนทั่วไปเข้าใจความหมายของกิจกรรมทางกายอย่างแท้จริงและมองประโยชน์ของการเดินและการใช้จักรยานในมิติต่างๆ ทั้งในมิติด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม มากกว่าการมองเรื่องเดินและจักรยานเป็นเพียงกิจกรรมนันทนาการเพียงเท่านั้น

Print Friendly, PDF & Email