ภาพจาก : http://www.teenidols4you.com/
ออสเตรเลียจะตั้งหน่วยงานระดับชาติขับเคลื่อนการเดินและการใช้จักรยาน
องค์กรที่ทำงานส่งเสริมการใช้จักรยานและการเดินอย่างจริงจังต่างตระหนักว่า หากจะให้การส่งเสริมการใช้จักรยานและการเดินในประเทศของตนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผลนั้น รัฐบาลของประเทศนั้นจะต้องดำเนินการอย่างจริงจัง ด้วยการมีหน่วยงานระดับประเทศมาดูแลรับผิดชอบการส่งเสริมการใช้จักรยานและการเดินอย่างเต็มที่โดยตรง
ขณะนี้ออสเตรเลียก็กำลังมีพัฒนาการไปในทิศทางนี้ ที่ผ่านมาการส่งเสริมการใช้จักรยานจากภาครัฐในประเทศนี้กระทำโดยหน่วยงานของรัฐบาลรัฐต่างๆ เช่น รัฐบาลของรัฐออสเตรเลียตะวันตก (Western Australia) หน่วยงานที่ทำหน้าที่นี้คือ กรมการขนส่ง (Department of Transport) ของรัฐ ซึ่งเมื่อเราเข้าไปดูเว็บไซต์ของกรมนี้ก็จะพบว่ามีข้อมูลมากมายที่แสดงให้เห็นว่า แค่รัฐบาลในระดับรัฐก็ทำหน้าที่ได้ดีไม่น้อยแล้วทีเดียว
อย่างไรก็ตาม เมื่อกลางเดือนมีนาคม 2561 ที่ผ่านมานี่เอง หน่วยงานคมนาคมขนส่งของทุกรัฐและอาณาเขตของออสเตรเลียได้ร่วมกันประกาศว่า จะมาสร้างหน่วยงานใหม่เป็นหน่วยงานระดับชาติชื่อว่า Cycling and Walking Australia and New Zealand มาผลักดันให้รัฐบาลแห่งชาติของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ลงทุนกับการใช้จักรยานและการเดินมากขึ้น
นายเคร้ก วูลดริด (Craig Wooldridge) รักษาการผู้อำนวยการการวางแผนขนส่งอย่างบูรณาการ กรมการขนส่ง รัฐบาลรัฐออสเตรเลียตะวันตก ได้กล่าวในการแถลงข่าวในนามของคณะทำงานเรื่องนี้ว่า ใครๆก็รู้ถึง ประโยชน์ของการใช้จักรยานและการเดินต่อชุมชน แต่หากจะให้การส่งเสริมการใช้จักรยานและการเดินได้ผลจริงจัง การทำงานระดับรัฐอย่างที่ผ่านมาไม่เพียงพอ ต้องมีโครงสร้างใหม่ในระดับชาติ โครงสร้างนี้จะต้องมีวัตถุประสงค์เชิงยุทธศาสตร์มาทำงานเชิงรุกระดับประเทศ มียุทธศาสตร์ มีความกล้าหาญที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มีการสร้างนวัตกรรมใหม่ มีการเรียนรู้และแบ่งปันความรู้กัน และที่สำคัญต้องมีตัวแทนผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ มากขึ้น การส่งเสริมการใช้จักรยานและการเดินจึงจะสำเร็จเหมือนประเทศที่ก้าวหน้าไปแล้วในเรื่องนี้ และทำให้การใช้จักรยานและการเดินเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งที่แยกไม่ออกของการสร้างชุมชนและสังคมที่น่าอยู่ มีสุขภาพดี มีผลิตภาพ และยั่งยืน
ใน Cycling and Walking Australia and New Zealand จะมีตัวแทนห้าคนจากกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียในระดับชาติและตัวแทนรัฐบาลท้องถิ่นอีกสามคน เพื่อให้ได้รับทราบความเห็นและมุมมองอย่างกว้างขวางและหลากหลาย เขาเปิดเผยว่า ขณะนี้มีชาวออสเตรเลียเกือบสี่ล้านคนอยู่แล้วที่ขี่จักรยานอยู่เป็นประจำ และกล่าวยืนยันด้วยความเชื่อมั่นว่า หากมีเส้นทางสำหรับการขี่จักรยานและการเดินที่สะดวก ปลอดภัย และแยกออกจากถนนที่ยานยนตร์ใช้ คนในออสเตรเลียอีกมากมายก็จะมาเดินทางด้วยวิธีทั้งสองนี้
เอ่ยถึงออสเตรเลียแล้วก็อดจะกล่าวถึงประเทศไทยของเราไม่ได้ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยได้เล็งเห็นมานานแล้วตั้งแต่ครั้งยังมิได้จดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทยมาเป็นองค์กรขับเคลื่อนว่า หากจะให้บรรลุวิสัยทัศน์ที่ “สังคมไทยนิยมการเดินและใช้จักรยาน” สิ่งหนึ่งที่จำเป็นคือ รัฐบาลไทยมีหน่วยงานมาดูแลรับผิดชอบการส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานทั้งประเทศเต็มที่โดยตรง ในโครงสร้างของระบบราชการไทย หน่วยงานนั้นควรเป็นหน่วยงานระดับกรม และน่าจะอยู่ในกระทรวงคมนาคม อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาสภาพสังคมไทยในปัจจุบัน ชมรมฯ ตระหนักว่า นี่เป็นเป้าหมายระยะยาวที่ต้องผ่านขั้นตอนพัฒนาการอีกระยะหนึ่ง
ดังนั้นเมื่อชมรมฯ ได้เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนให้เกิดพัฒนาการไปสู่วิสัยทัศน์ดังกล่าวผ่านทางสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ หลังจากผลักดันให้สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 พ.ศ. 2555 ผ่านมติ 5.1 “การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน” ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2558 ชมรมฯ จึงได้ดำเนินการต่อให้มีการจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นการจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน และผลักดันให้ผ่านมติรับรอง “แผนยุทธศาสตร์การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน (พ.ศ. 2559 – พ.ศ. 2564)” ซึ่งประกอบด้วย 5 ประเด็นยุทธศาสตร์ โดยยุทธศาสตร์ที่ 1 คือ ยุทธศาสตร์ด้านนโยบายและการบริหารจัดการ มีสาระสำคัญส่วนหนึ่งให้มีการจัดตั้งกลไกและองค์กรที่ดูแลรับผิดชอบแผนยุทธศาสตร์การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน และมีการจัดตั้งกองทุนและจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐมาสนับสนุนองค์กรนี้ ซึ่งในมตินั้นคือ การตั้งคณะกรรมการมาขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นี้ โดยมีสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ของกระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานหลัก
รายงานโดย กวิน ชุติมา
กรรมการมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย และชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย
เมษายน 2561