“เด็กแว๊น” ดั้งเดิม กลุ่มคุณป้าผู้ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันที่ขอนแก่น
ย้อนความกลับไปตอนที่แล้ว ที่ผู้เขียนสรุปว่า การใช้จักรยานในชีวิตประจำวันไม่ใช่เรื่องยาก หากเรียนรู้และเตรียมการให้พร้อม และเมื่อพิจารณาว่า การใช้จักรยานมีองค์ประกอบใหญ่ 3 อย่างได้แก่ คนขี่คือตัวคุณเอง จักรยานที่คุณขี่ และสภาพแวดล้อมที่คุณขี่ ในตอนที่แล้ว (ตอนที่ 1) ผู้เขียนได้กล่าวถึงองค์ประกอบแรก คือการเตรียมตัวของผู้ใช้จักรยาน ในตอนนี้เราจะดูกันถึงการเตรียมจักรยานให้พร้อมใช้เป็นพาหนะในการเดินทางในชีวิตประจำวัน
เบื้องแรก เรามาเลือกจักรยานที่จะใช้กันก่อน
คงทราบกันดีแล้วว่าจักรยานมีหลายชนิดและได้รับการออกแบบมาให้เหมาะสมกับการใช้งานที่ต่างกัน เมื่อจะใช้จักรยานเป็นพาหนะในการเดินทางไปไหนมาไหนเพื่อไปประกอบกิจต่างๆ โดยเฉพาะในเมือง เป็นประจำแทบทุกวัน จักรยานนี้ก็ควรใช้งานได้ง่าย ใครๆก็ใช้ได้ สามารถใส่ชุดใดๆ รวมทั้งกระโปรงหรือผ้าถุง ไม่ต้องมีชุดพิเศษรัดรูป ก็สามารถก้าวขึ้นลงอานและขี่ได้คล่อง จึงควรไม่มีท่อกลาง แต่มีชิ้นส่วนเพิ่มขึ้นมาคือ นอกเหนือจากบังโคลน (mud guard) ที่ป้องกันไม่ให้น้ำและสิ่งสกปรกจากล้อกระเซ็นขึ้นมาเปรอะเปื้อนผู้ใช้จักรยานแล้ว ยังมีบังโซ่ (chain guard) ที่คลุมจานหน้าและโซ่เอาไว้ไม่ให้ชายกางเกงขายาวหรือกระโปรงเข้าไปติดโซ่ และบังกระโปรง (skirt guard) คลุมล้อหลังในส่วนที่ชายกระโปรงอาจปลิวเข้าไปติดกงล้อได้
สาวสมัยใหม่ใส่กระโปรง-ส้นสูงก็ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันได้ สังเกตบังโคลน บังโซ่ และบังกระโปรง
ในเมืองที่สภาพทั่วไปเป็นพื้นที่ราบเรียบ ไม่มีอุปสรรคท้าทายให้ต้องเอาชนะเป็นพิเศษ และไม่ต้องการทำความเร็ว แต่ใช้ขี่เป็นประจำแทบทุกวัน จักรยานที่ใช้งานและดูแลง่ายนี้จึงไม่ต้องการ “สมรรถนะ” อันสูงส่งดั่งจักรยานเสือหมอบ จักรยานเสือภูเขา จักรยานทั่วริ่ง ฯลฯ ใด ไม่ต้องมีระบบดูดซับความสะเทือน (shock absorbers) และระบบเกียร์สำหรับทดรอบ หรือถ้าจะมีเกียร์ไว้ช่วยให้ขี่ได้สบายขึ้น เช่น ในกรณีที่ต้องขี่จักรยานข้ามสะพานที่สูงสักหน่อย ก็มักเป็นระบบเกียร์ง่ายๆ มีแต่เกียร์หลังให้ปรับได้เพียง ๓ ถึง ๖ ระดับเท่านั้น ก็เพียงพอแล้ว และให้ดียิ่งขึ้น ควรเป็นเกียร์ที่อยู่ในดุมล้อหลัง ทำให้ทนทาน แทบจะไม่ต้องการดูแลใดๆ และเพื่อให้ได้ความแข็งแรงทนทาน ไม่ต้องดูแลอย่างละเอียด ในขณะที่มีราคาย่อมเยาโดยที่ไม่คำนึงถึงน้ำหนัก วัสดุที่ใช้ทำตัวจักรยานจึงมักเป็นเหล็ก ทำให้จักรยานประเภทนี้ค่อนข้างหนัก (เกิน 15 กิโลกรัมขึ้นไป) ยางที่ใช้ต้องมีหน้าไม่แคบนัก ควรกว้าง ๑.๕ นิ้วขึ้นไปโดยมีดอกเพียงเล็กน้อย เพื่อให้ขี่ได้คล่องแคล่ว แต่ก็ไม่ตกหรือลื่นล้มง่ายเมื่อเจอร่องหรือบริเวณที่เปียกมีโคลนบนถนน
และเมื่อใช้งานในชีวิตประจำวันก็ควรจะมีตะกร้าสำหรับใส่ของไว้ด้านหน้าและตะแกรงไว้มัดของติดไปได้ด้านหลัง หรือจะมีตะกร้าทั้งหน้าหลังก็เป็นไปได้แล้วแต่การใช้งาน การมีตะกร้าทำให้ผู้ใช้ไม่ต้องแบกสัมภาระไว้บนหลัง ร้อนน้อยลงและขี่สบายขึ้น ทั้งขนของได้มากด้วย อานรองนั่งเป็นอานกว้างและนิ่มให้นั่งได้สบาย ส่วนแฮนด์เป็นแฮนด์ตรงราบ ทำให้นั่งขี่ได้หลังตรง ซึ่งมีการศึกษาออกมาแล้วว่าเป็นท่าที่สบายที่สุดในการขี่จักรยาน ผู้ที่มีประสบการณ์ขี่จักรยานทั้งในท่าหมอบลงและท่าหลังตรงยังบอกด้วยว่า การนั่งหลังตรงช่วยให้มองเห็นและสังเกตสิ่งที่อยู่เบื้องหน้าและซ้าย-ขวาได้ดีกว่าในท่าหมอบตัวลงด้วย
นี่สาวสมัยเก่า คุณยายศรีสวัสดิ์วัย 80 ปีในชุดผ้าถุงกับจักรยานคู่ใจคันที่ 2 คันแรกใช้มาเกือบหกสิบปีตั้งแต่ 2499
จักรยานที่มีลักษณะตามข้างต้นนี้เป็นจักรยานที่ทั่วไปเรามักเรียกว่า “จักรยานแม่บ้าน” ฝรั่งเรียกว่าจักรยานเมือง(city bike) หรือจักรยานใช้งาน(utility bike) จักรยานประเภทนี้มีทั้งที่ผลิตขึ้นในไทย และที่นำเข้ามา ทั้งจักรยานใหม่และจักรยานมือสอง-จักรยานใช้แล้ว โดยเฉพาะจักรยานใช้แล้วจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้รับความนิยม เนื่องจากราคาใกล้เคียงกับจักรยานใหม่ของไทย แต่ออกแบบดีและทนทาน แม้จะผ่านการใช้งานและทิ้งมาแล้ว จักรยานเหล่านี้ในคุณภาพที่ดีพอใช้สามารถหาซื้อได้ในราคาขั้นต่ำราวสองสามพันบาทเท่านั้น
สำหรับผู้ที่มีจักรยานอยู่แล้ว โดยเฉพาะจักรยานเสือภูเขา ก็สามารถนำมาใช้ขี่ในชีวิตประจำวันได้ ไม่ต้องซื้อจักรยานมาเพิ่ม ทำให้ได้ใช้จักรยานคันที่มีอยู่แล้วคุ้มค่ามากยิ่งขึ้นไปอีก ถ้าล้อที่ติดอยู่ใช้ยางหน้าแคบ ก็ควรเปลี่ยนล้อสำหรับยางหน้ากว้างขึ้น และติดตั้งอุปกรณ์เสริมบางชิ้นเพื่อความสะดวกดังที่กล่าวข้างต้น นอกจากนั้น ยังมีอุปกรณ์อีกชิ้นหนึ่งที่ขอแนะนำ หากยังไม่มี นั่นคือขาตั้ง(stand) ซึ่งทำให้สะดวกในการจอดจักรยานที่อาจทำหลายครั้งในแต่ละวัน อุปกรณ์เสริมเหล่านี้สามารถถอดออกได้เมื่อนำกลับไปขี่ตามวัตถุประสงค์เบื้องแรกของจักรยานคันนั้น
ส่วนอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย นอกจากที่พระราชบัญญัติจราจรทางบก พุทธศักราช ๒๕๒๒ กำหนดให้จักรยานต้องมี ๔ อย่างได้แก่ เครื่องห้ามล้อ(brake) กระดิ่ง และไฟหน้าสีขาวกับไฟหลังสีแดงสำหรับการขี่บนถนนยามค่ำคืนแล้ว จากประสบการณ์ของผู้เขียน การติดกระจกส่องหลังกับแฮนด์ให้สามารถเหลือบลงไปมองเห็นการจราจรด้านหลังได้ โดยไม่ต้องเอี้ยวคอเหลียวหลังไปดู ก็ช่วยได้ไม่น้อยในการเพิ่มความปลอดภัย จึงเป็นอุปกรณ์ความปลอดภัยเสริมที่แม้กฎหมายไม่กำหนด แต่ผู้เขียนแนะนำ
ผู้เขียนกลับจากขี่จักรยานไปจ่ายตลาด
กวิน ชุติมา กรรมการ-เหรัญญิก สถาบันการเดินและการจักรยานไทย